เตือนภัยการเกษตร ช่วงวันที่ 26 ธันวาคม 2561 – 1 มกราคม 2562

เตือนภัยการเกษตร

ช่วงวันที่  26 ธันวาคม 2561 – 1 มกราคม 2562

ภาคเหนือ ตอนบน

1.ส้มโอและพืชตระกูลส้ม ระยะเตรียมต้นก่อนการออกดอกและระยะหลังตัดแต่งกิ่ง (ศวส.เชียงราย)

      -เพลี้ยไฟพริก Scirtothrips dosalis Hood การทำลายของเพลี้ยไฟพริก ดูดกิน  น้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน  ใบอ่อน  ตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก ช่อดอก  โดยเฉพาะฐานรองดอกและขั้วผลอ่อน ทำให้ใบที่แตกใหม่แคระแกรน ขอบใบและปลายใบไหม้ ยอดแห้งไม่แทงช่อใบหรือช่อดอก และทำให้ช่อดอกหงิกงอ  ดอกร่วงไม่ติดผล หรือติดผลน้อย สังเกตพบผลอ่อนที่ถูกทำลายจะร่วง ปรากฏแผลชัดเจนเป็นวงที่ขั้วผลส้มโอ

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งใบ ยอด ที่ถูกทำลายออกเผา
  2. พ่นสารป้องกันและกำจัด อิมิดาโคลพริด 10%อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

      -โรคราสีชมพู เกิดจากเชื้อรา Corticium Salmonicolor. กิ่งที่บริเวณโคนหรือง่ามกิ่งมีเส้นใย สีขาวละเอียดของเชื้อราเจริญขึ้นปกคลุม ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพูติดรอบบริเวณเปลือกกิ่งส้มโอ ทำให้เนื้อไม้แตกและภายในเป็นแผลแห้ง สีน้ำตาล ปลายกิ่งที่เป็นโรคจะแสดงอาการยอดเหี่ยวใบเหลืองร่วงและกิ่งแห้งตาย

การป้องกันกำจัด

  1. จัดการตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคออกทำลายนอกแปลง
  2. กำจัดวัชพืชในแปลงเพื่อลดความชื้น และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นให้แข็งแรง
  3. สำรวจพบการระบาดของโรคให้ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง

1. มังคุด ออกดอก (ศวส.จันทบุรี)

      -เพลี้ยไฟ บางครั้งมองดูตาเปล่าไม่เห็น สีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนเคลื่อนไหวได้รวดเร็วมักพบระบาดในช่วงที่อากาศแห้งแล้ง ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่จะใช้ส่วนของปากเขี่ยผิวของใบและดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ใบอ่อนทำให้ยอดและใบแห้ง หงิกงอ แคระแกรน

การป้องกันกำจัด

       สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเฉลี่ย 0.25 ตัวต่อผลอ่อน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้

      – ไรแดง ผลอ่อนจะมีเจริญเติบโตช้าหรือจะมีลักษณะผิวผลกร้าน เป็นขี้ขุย

การป้องกันกำจัด

  1. หมั่นตรวจดูใบมังคุด โดยใช้แว่นขยาย กำลังขยาย 10 เท่า ส่องดูด้านหน้าใบ ในช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีลมพัดแรง และฝนทิ้งช่วง
  2. เมื่อพบการระบาดให้ใช้สารฆ่าไรพ่น การป้องกันกำจัดไร ได้แก่ สารโพรพาร์ไกต์ 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 ** การใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิดกัน เพื่อป้องกันไรสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าไร และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

2.ทุเรียน ออกดอก (ศวส.จันทบุรี)

    – หนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่โดยฝังไว้ใต้เปลือกตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ หนอนกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านในไม่มีทิศทาง หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น การทำลายที่เกิดจากหนอนขนาดเล็กไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอนตามแนวรอยทำลาย หรือตรงบริเวณที่หนอนทำลายกัดกินเนื้อไม้อยู่ภายในจะเห็นมีของเหลวสีน้ำตาลแดงไหลเยิ้มอยู่ ในระยะต่อมาจึงจะพบมูลหนอนออกมากองเป็นกระจุกอยู่ข้างนอกเปลือก เมื่อใช้มีดปลายแหลมแกะเปลือกไม้ จะพบหนอนอยู่ภายใน เกษตรกรจะสังเกตพบรอยทำลายต่อเมื่อหนอนตัวโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบต้นทุเรียนแล้วซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ทุเรียนเริ่มทรุดโทรม ใบเหลืองและร่วง และยืนต้นตายได้

การป้องกันกำจัด

  1.หมั่นตรวจดูผลทุเรียน เมื่อพบรอยทำลายของหนอน ให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลาย

  2.ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กิ่งไม้หรือกาบมะพร้าวคั่นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย

  3.การห่อผลด้วยถุงมุ้งไนล่อน ถุงรีเมย์ หรือถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อให้หยดน้ำระบายออก โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป จะช่วยลดความเสียหายได้

  4.สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเมื่อจำเป็นต้องใช้ คือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะส่วนผลทุเรียนที่พบการทำลายของหนอนเจาะผล

-เพลี้ยไฟ ทำลายใบอ่อน ยอด โดยใช้ปากดูดน้ำเลี้ยง ทำให้ยอดอ่อนแคระแกร็น ใบหงิกและไหม้ ดอกแห้งและร่วง

การป้องกันกำจัด

   สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 70 % ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5 % เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเฉลี่ย 0.25 ตัวต่อผลอ่อน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้

  -ราทำลายดอกภายในดอกทุเรียน จะมีสีดำเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายทำให้เกสรทุเรียนได้รับความเสียหาย 

การป้องกันกำจัด

  1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม
  2. ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนให้เหมาะสม
  3. หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชทีเป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชวาลิดามัยซิน 3 % เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน
  4. เมื่อพบการระบาดของโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย       

3.เงาะ เตรียมความพร้อมในการออกดอก แตกใบอ่อน(ศวส.จันทบุรี)

    -หนอนคืบกินใบอ่อนและช่อดอก หนอนจะกัดกินใบอ่อน และช่อดอก ให้ได้รับความเสียหาย

การป้องกันกำจัด

   1.สำรวจแมลงและหมั่นกำจัดวัชพืชออกจากแปลงปลูกสม่ำเสมอ

   2.ควรพ่นสารแลมป์ดาไซฮาโลทริน 2.5%อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน20%อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตร หรือสารไซเปอร์เมทริน / โฟซาโลน 6.25% / 22.5%อีซี 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

     – แมลงค่อมทอง ตัวเต็มวัยกัดกินใบ ยอดอ่อน และดอก ใบที่ถูกทำลายจะเว้าๆ แหว่งๆ ถ้าระบาดรุนแรงจะเหลือแต่ก้านใบ และมีมูลที่ถ่ายออกมาปรากฏให้เห็นตามบริเวณยอด ตัวเต็มวัยเป็นระยะที่สำคัญที่สุด เพราะกัดกินส่วนต่างๆ ของพืช สีของตัวเต็มวัยจะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม จึงพบมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีเทา สีดำ และสีเขียวปนเหลืองเป็นมัน ตัวเต็มวัยที่พบบนต้นพืชมักพบเป็นคู่ๆ หรือรวมกันเป็นกลุ่มอยู่บนลำต้น เมื่อต้นพืชถูกกระทบ กระเทือน จะทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน

การป้องกันกำจัด

   1. ตัวเต็มวัยมีอุปนิสัยชอบทิ้งตัวเมื่อถูกกระทบ กระเทือน ใช้ผ้าพลาสติกรองใต้ต้นแล้วเขย่าให้ ตัวเต็มวัยหล่น รวบรวมนำไปทำลาย

   2. บริเวณที่พบระบาดควรพ่นด้วย สารฆ่าแมลง คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วในระยะที่เงาะแตกใบอ่อน 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 10-14 วัน