Search for:
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมเปิดงานแสดงสินค้าอาหาร 2566 THAIFEX – Anuga Asia 2023

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566  ดร.ชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมเปิดงานแสดงสินค้าอาหาร 2566 THAIFEX – Anuga Asia 2023  โดยมีนายจุรินทร์  ลักษณศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีและกล่าวเปิดงานแสดงสินค้าอาหาร (THAIFEX – Anuga Asia 2023) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2566 ณ บริเวณโถงด้านหน้าอาคารชาเลนเจอร์ 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
       ในส่วนของสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้จัดนิทรรศการ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
1 GAP Monkey free plus
     เนื้อหาเกี่ยวข้องกับผลสรุปที่มีการดำเนินงาน ที่ผ่านมาของกรมวิชาการเกษตร โดยเน้นข้อกำหนดเพิ่มเติมจาก GAP ที่มีอยู่ มีการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมไม่ใช้ลิงในระบบการผลิตมะพร้าว รวมถึงโลโก้ MFP ที่จะใช้ในการติดในผลิตภัณฑ์
      ผลลัพธ์ที่ได้ คือ บริษัทผู้ส่งออกผลผลิตและผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทย ได้รับการยืนยันว่าใช้ผลผลิตมะพร้าวจากกระบวนการที่ไม่มีการใช้ลิง จากกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP Monkey Free Plus ของกรมวิชาการเกษตร ในรูปแบบของ โลโก้ MFP
      ผลกระทบ คือ ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับผลผลิตมะพร้าวจากประเทศไทย ที่ไม่มีการทารุณกรรมสัตว์จากการใช้ลิงในระบบการผลิต ภายใต้มาตรฐานผลผลิตที่มีคุณภาพตามหลัก GAP

2. GAP carbon credit plus  
       เนื้อหาจะเป็นภาพรวมที่เชื่อมโยงการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตพืช กับ มาตรฐาน GAP ที่มีอยู่ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการเพื่อลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และพืชคลุมดิน รวมถึงการลดน้ำมันเชื้อเพลิงในกิจกรรมผลิตในแปลง ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นส่วนต่างที่ลดการปลดปล่อยเปรียบเทียบกับการดำเนินงานปกติ ได้เป็นคาร์บอนเครดิต

       ผลลัพธ์ จะเกิดกับผู้ประกอบการที่มีการส่งออกผลิตผลไปต่างประเทศที่มีข้อกำหนดหรือแนวทางกีดกันต่างๆ เช่น CBAM หรือ carbon tax เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการจะมีส่วนผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรเครือข่าย ให้มีการดำเนินการจนได้รับคาร์บอนเครดิต โดยผู้ประกอบการจะมีส่วนในการรับซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อมาลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 
       ผลกระทบ คือ คุณภาพผลผลิตของไทยมีคุณภาพภายใต้กรอบของการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม

สัมมนาวิชาการ เรื่อง “มะพร้าว สมุนไพร ช่วยได้ ให้สุขภาพดี และไม่แก่” และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565

   วันจันทร์ ที่ 22 พฤษภาคม 2566 ดร.ชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “มะพร้าว สมุนไพร ช่วยได้ ให้สุขภาพดี และไม่แก่” และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 จัดโดย ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าว ร่วมกับสถาบันวิจัยพืชสวน ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

     กรมวิชาการเกษตรในฐานะองค์กรที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนามะพร้าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่ในการผลิตมะพร้าวพันธุ์ดีให้ผลผลิตสูงและตกผลเร็ว ซึ่งกรมฯได้เร่งขยายการผลิตพันธุ์ดี โดยสร้างแปลงแม่พันธุ์เพิ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้นกล้าให้มากขึ้น ตามความต้องการเกษตรกร และความต้องการปริมาณผลผลิตมะพร้าวของภาคอุตสาหกรรม โดยปีนี้สนับสนุนต้นกล้าส่งเสริมการปลูกมะพร้าวให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง GAP Monkey Free Plus จำนวน 10,000 ต้น

ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กล่าวว่า การรณรงค์ให้เกิดการรับรู้ถึงประโยชน์และคุณค่าของน้ำมันมะพร้าว และผลิตภัณฑ์มะพร้าวอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ดี และในปีนี้ได้เพิ่มสาระน่ารู้ในการผลิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการนำไปใช้ประโยชน์เของ สมุนไพร กัญชา และกัญชงอีกด้วย  จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจการนำไปใช้ประโยชน์ของมะพร้าว และ สมุนไพร มากยิ่งขึ้น การบริโภคน้ำมันมะพร้าว จะได้รับกรดลอริก ซึ่งกระผมเคยได้รับทราบจากการบรรยายของท่านประธานชมรมฯว่า กรดนี้จะเปลี่ยนเป็นสารโมโนลอรินที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ซึ่งจากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร จากการสกัดน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จากเนื้อมะพร้าวของทุกสายพันธุ์ พบว่ามีปริมาณกรดลอริกเฉลี่ยร้อยละ 48 ของปริมาณกรดไขมันทั้งหมด

จากการรายงานในการประชุมมะพร้าวโลกที่มาเลเซียเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2565 ว่า น้ำมันมะพร้าวช่วยรักษาโรคเหงือกและฟันอีกด้วย และประเทศฟิลิปปินส์ก็ได้ส่งเสริมให้ประชาชนของเขาบริโภคน้ำมันมะพร้าวเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการเข้าถึงวัคซีนยังมีจำกัด การรณรงค์ให้ประชาชนได้รับทราบและรับรู้ในเรื่องการป้องกันและรักษา จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง สามารถปรับตัวให้ปลอดภัยและสุขภาพดีในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด 19

และจากปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมมะพร้าวได้ประสบกับการกีดกันทางการค้าในเรื่องการเก็บเกี่ยวโดยใช้ลิง ซึ่งกรมฯได้มีการรณรงค์ ผลักดันช่วยเหลืออุตสาหกรรมมะพร้าวเป็นอย่างมาก ในการโครงการ GAP-MFP ซึ่งชมรมฯ ได้ช่วยประสานกับผู้ประกอบการมะพร้าวและเกษตรกร ในการดำเนินการโครงการ ซึ่งขณะนี้ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง และจะต้องเร่งดำเนินการต่อไป

โอกาสนี้ ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยพืชสวน ได้เชิญชวนภาคเอกชนช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสมัครตรวจรับรองแปลง GAP –MFP เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่ผลิตมะพร้าวปลอดภัยไม่ใช้ลิง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มายังพลับพลาที่ประทับเพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2566

วันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มายังพลับพลาที่ประทับเพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2566 โดยมี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดร.ภ้สชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีฯ ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีฯ เฝ้ารับเสด็จฯ และในโอกาสนี้นายชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน และนายวินัย สมประสงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ทำหน้าที่ คู่เคียงพญาแรกนา ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
              พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง  ในวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2566 เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐาน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน)  อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
              พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสม    ต้องตามประเพณี ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย

การจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ระหว่างช่วงเวลา 08.09 – 08.39 น. ผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนา คือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวดวงพร งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย และคู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย ส่วนพระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง
             สำหรับผลการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย และพระโคกินเลี้ยง ในปี พ.ศ.2566 นี้ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่ง 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา จะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี  ผลการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค พระโคกินหญ้าและเหล้า ซึ่งผลเสี่ยงทายกล่าวว่า ถ้าพระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
             ในโอกาสเดียวกันนี้ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 3 ราย และเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2566 จำนวน 33 ราย รวม 35 ราย ได้รับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือเกษตรกรดีเด่น ดังนี้
             1. สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายสายชล จันทร์วิไร จังหวัดสุโขทัย
             2.สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายธนิต สมแก้ว จังหวัดพัทลุง

ขอเชิญเข้าร่วมประกวดกาแฟอะราบิกาและกาแฟโรบัสตา ในโครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย 2566

ขยายเวลารับสมัครประกวดสุดยอดกาแฟไทย 2566   1 ม.ค. – 10 มิ.ย. 66
เปิดรับตัวอย่าง กาแฟผลแห้ง 30-80 กก. กาแฟกะลา 25-60 กก.

ส่งใบสมัครพร้อมสิ่งประกวดได้ที่ :
ภาคเหนือ
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ เบอร์โทร 053-114 133 ถึง 36
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย เบอร์โทร 053-170 102
ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย เบอร์โทร 055-679 085
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.แพร่ เบอร์โทร 054-556 526
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.น่าน เบอร์โทร 054-682 045

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เบอร์โทร 045-814 581
ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย เบอร์โทร 042-039 891
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.เลย เบอร์โทร 042-804 409
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.อุดรธานี เบอร์โทร 086-450 7503
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.หนองคาย เบอร์โทร 042-490 936
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.นครราชสีมา (สีคิ้ว) เบอร์โทร 044-009 967

ภาคกลาง
ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ เบอร์โทร 056-810 024
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.ตาก เบอร์โทร 055-508 987
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.พิษณุโลก เบอร์โทร 055-313 131
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.ราชบุรี เบอร์โทร 032-240 959
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.กาญจนบุรี เบอร์โทร 034-552 035

ภาคตะวันออก
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เบอร์โทร 039-397030, 039-397146

ภาคใต้
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เบอร์โทร 077-556 073
ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง เบอร์โทร 063-2276250
ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา เบอร์โทร 073-297 072