Search for:
ประชุมโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการนำเข้าและแก้ไขปัญหา PM 2.5 บนพื้นที่ภาคเหนือ

    วันที่ 30 เมษายน 2567 นายธงชัย คำโคตร  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมประชุมโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการนำเข้าและแก้ไขปัญหา PM 2.5 บนพื้นที่ภาคเหนือ โดยมี นายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน ณ ห้องประชุม 321 ชั้น 3 สถาบันวิจัยพืชสวน และผ่านระบบออนไลน์

สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร จัดเสวนาหัวข้อ “ไขความลับกาแฟไทย ทำอย่างไรไปกาแฟโลก” และ “ทิศทางอุตสาหกรรมชา โกโก้ ต่อการพัฒนาให้ยั่งยืน”

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร จัดเวทีเสวนา 2 หัวข้อ “ไขความลับกาแฟไทย ทำอย่างไรไปกาแฟโลก”

ผู้ดำเนินการเสวนา : คุณโกเมศ สัตยาวุธ นักวิทยาศาตร์ชำนาญการพิเศษ กวป.
1. คุณจงรัก อิ่มใจ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 : ติดตามกลไกการตลาดอย่างไรให้ทันสถานการณ์โลก
2. คุณเอก สุวรรณโณ : นวัตกรรมทำกาแฟไทย ให้ติดใจคอกาแฟสากล
3. คุณสุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ : ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ก้อง คอฟฟี่ และประธานสหกรณ์กาแฟ  จ.ระนอง : ผลิตกาแฟไทย แบบทำน้อย ได้มาก ดีจริงหรือ
4. คุณนัฐนัท สุดฤทธิ์ : เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอะราบิกา

และหัวข้อ ทิศทางอุตสาหกรรมชา โกโก้ ต่อการพัฒนาให้ยั่งยืน
ผู้ดำเนินการเสวนา : นายธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต นายกสมาคมกาแฟและชาไทย
1. คุณสุวลี เกียรติ์กรัญย์ จาก (บริษัท ที แกลเลอรี่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) : จากประวัติศาสตร์การปลูกสู่การพัฒนาแปรรูปชา ในระดับอุตสาหกรรม

2. คุณเคนเนธ ริมดาห์ล บริษัท มอนซูน ที จำกัด: โอกาส ของชาไทย เป็นอาหารที่คนทั่วโลก ต้องจำ
3. คุณชนินทร์ ชินวงศ์ บริษัท ชอคโกทอช จำกัด : ทางเลือก-ทางรอด ของผู้ผลิตโกโก้ระดับ SME ของไทย

ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

พิธีรับถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 โครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2566

     วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายประยูร อินทร์สกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  โครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2566 โดยมี นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

      กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริม สหกรณ์ ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พร้อมด้วยองค์กร สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมกาแฟและชาไทย ภาคเอกชน และเกษตรกร จัดกิจกรรมการประกวดสุดยอดกาแฟไทยเป็นปีที่ 3 เพื่อสร้างการรับรู้การเป็นสุดยอดกาแฟไทย ที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ของรสชาติให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ผ่านโครงการการ ประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2566 (Thai Coffee Excellence 2023) โดยมีระยะเวลาในการจัดงาน ตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2565 – เดือนพฤศจิกายน 2566

วัตถุประสงค์ของการจัดปีนี้
1) เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้และสานต่อแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงนำกาแฟซึ่งเป็น พืชเศรษฐกิจ ไปปลูกในป่า สร้างรายได้จากกาแฟและช่วยดูแลป่า

2) เพื่อสร้างการรับรู้อัตลักษณ์กาแฟไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับประเทศและระดับสากล

3) เพื่อเพิ่มการบริโภคและสร้างมูลค่ากาแฟที่ปลูกในประเทศไทย และ
4) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตกาแฟที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และการจัดประกวดยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มทักษะให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ อีกทั้งเกษตรกรได้พัฒนาคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าของกาแฟของตน และที่สำคัญยังเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะตลาดที่ซบเซาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 

     การจัดการประกวดครั้งนี้ เป็นการคัดสรรสุดยอดเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อะราบิกาและโรบัสตา  จากแหล่งปลูกทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยวิธีแห้ง (dry / natural process) 2) กาแฟอะราบิกากระบวนการแปรรูปโดยวิธีเปียก (wet process) 3) กาแฟอะราบิกา  กระบวนการแปรรูปโดยวิธีกึ่งแห้ง (semi-dry / honey process) 4) กาแฟอะราบิกากระบวนการแปรรูปโดยนวัตกรรม (Innovation process) และ 5) กาแฟโรบัสตา  ซึ่งรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในแต่ละประเภทจะได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปีนี้มีเกษตรกรส่งกาแฟเข้าร่วมประกวด จำนวนตัวอย่างกาแฟที่ส่งประกวด 128 ตัวอย่าง เป็นกาแฟอะราบิกา 106 ตัวอย่าง และกาแฟโรบัสตา 22 ตัวอย่าง สำหรับเมล็ดกาแฟที่ได้รับคะแนนสูงสุด ลำดับ 1 – 10 ของทั้ง 5 ประเภท ได้ถูกนำออกประมูล เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟและผู้บริโภคกาแฟที่สนใจได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ พร้อมชิมรสชาติของสุดยอดกาแฟไทย ปี 2566 ที่ผ่านการตัดสินจากผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟผู้ที่มีประสบการณ์สูง

#โครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทยปี2566 #TCE2023 #สถาบันวิจัยพืชสวน

ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการประมูลสุดยอดกาแฟไทย ปี 2566

ทั้ง 5 ประเภท 

  • ประเภท 5 อันดับสุดยอด กาแฟโรบัสต้า (Robusta)

  • ประเภทกาแฟอะราบิก้านแบบแห้ง Dry / Natural Process

  • ประเภทกาแฟอะราบิก้าแบบกึ่งแห้ง Semi-Dry / Honey Process

  • ประเภทกาแฟอะราบิก้าแบบเปียก Wet/Fully Wash Process

  • ประเภท 6 อันดับสุดยอดกาแฟอะราบิก้า Innovative Process

#งานประมูลกาแฟออนไลน์ 10 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ

กรมวิชาการเกษตร โดย สถาบันวิจัยพืชสวน จัดประมูลสุดยอดกาแฟไทยประจำปี 2566

    นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ในปี 2566 เป็นภารกิจที่กรมวิชาการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายต่างๆ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลสุดยอดกาแฟไทยมา 2 ปี ติดกันและในปีนี้เป็นปีที่ 3 เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สุดในวงการกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ชนะรางวัลประกวด รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จัดรางวัลสุดยอดกาแฟไทยจนทำให้เกษตรกรมีราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น โดยผลการประกวดในปี 2566 ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท มีดังนี้

ประเภทที่ 1 กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยวิธีแห้ง (Dry Process) นายวิชัย กำเนิดมงคล จ.น่าน​​

ประเภทที่ 2 กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยวิธีเปียก (Wet Process) นางสาวนภาพร กำเนิดมงคล จ.น่าน​

ประเภทที่ 3 กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยวิธีกึ่งแห้ง (Honey Process) นายวิชัย กำเนิดมงคล จ.น่าน

ประเภทที่ 4 กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยใช้นวัตกรรม (Innovative Process) นายพันธมิตร ดวงตะวันจันทรา​จ.เชียงราย

ประเภทที่ 5 กาแฟโรบัสตา (ไม่แยกกระบวนการแปรรูป) นายนพรัตน์ ไชยมงคล จ.เชียงราย​

    ทั้งนี้ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประกวดจะมีการนำกาแฟที่ได้คะแนนสูงสุด ลำดับ 1 -10 มาจัดประมูล โดยในช่วงก่อนการจัดการประมูลคณะทำงานได้นำกาแฟที่ชนะการประกวดลำดับที่ 1 – 3 จำนวน 15 ตัวอย่าง ไปจัดกิจกรรมชิมที่จังหวัดน่าน เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา และส่งกาแฟที่ได้คะแนนลำดับ 1-10 ทั้ง 5 ประเภทไปให้ร้านและบริษัทต่าง ๆ เพื่อจัดกิจกรรมชิมกาแฟ และเชิญชวนเข้าร่วมประมูลกาแฟ โดยมีการถ่ายทอดสดกิจกรรมชิมกาแฟ ลงในเพจ “สุดยอดกาแฟไทย – Thai Coffee Excellence โดยในปี 2566 ราคาประมูลประเภทกาแฟอะราบิกากระบวนการแปรรูปโดยวิธีแห้ง.(Dry/Natural Process) ราคาประมูลสูงสุด 1,850 บาท ประเภทกาแฟอะราบิกากระบวนการแปรรูปโดยวิธีเปียก ( Wet/Fully Wash Process) ราคาประมูลสูงสุด 3,000 บาท กาแฟอะราบิกากระบวนการแปรรูปโดยวิธีกึ่งแห้ง (Semi – Dry/Honey Process) ราคาประมูลสูงสุด 4,000 บาท กาแฟอะราบิกากระบวนการแปรรูปโดยวิธีนวัตกรรม (Innovative process) ราคาประมูลสูงสุด 730 บาท กาแฟโรบัสตาไม่แยกกระบวนการ ราคาประมูลสูงสุด 580 บาท”

“สำหรับกิจกรรมสุดท้ายของการประกวดในปีนี้ คือ การจัดพิธีมอบรางวัลถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แก่ผู้ชนะเลิศการประกวด ซึ่งจะจัดในงานประชุมวิชาการและจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ และกรมวิชาการเกษตรร่วมจัดนิทรรศการ เช่น นิทรรศการเทิดพระเกียรติ และนิทรรศการพืชเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ ชา และโกโก้ เป็นต้น และการเสวนา เรื่อง ประกวดสุดยอดกาแฟไทย การสร้างมูลค่ายกระดับกาแฟไทย สู่มาตรฐานสากล” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

#TCE #โครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย2566 #สถาบันวิจัยพืชสวน #กรมวิชาการเกษตร