ดาหลา (Torch ginger) เป็นพืชล้มลุกสกุลหนึ่งอยู่ในวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) เป็นพืชไม้ดอกเมืองร้อน ซึ่งมีลักษณะเหง้าทอดเลื้อย ลำต้นเทียมตั้งตรง ลิ้นกาบเรียบหรือจัก 2 พู ใบเรียงสลับระนาบเดียวกัน ก้านช่อดอกโผล่พ้นพื้นดิน ตั้งตรงหรืออยู่ใต้ดิน ผลสดมีสันตามยาว พืชสกุลนี้มีประมาณ 110 ชนิด พบในเอเชียโดยเฉพาะคาบสมุทรมลายู และทางตอนบนของประเทศออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยมีประมาณ 15 ชนิด ชนิดที่น่าสนใจ และใช้เป็นแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ในการพัฒนาพันธุ์ดาหลา กรมวิชาการเกษตร มี 5 ชนิด คือ 1) Etlingera elatior (Jack) R.M.Sm. ดาหลา กาหลา กะลา 2) Etlingera fulgens (Ridl.) C.K.Lim ดาหลาดำ ดาหลาไฟ (แดงป่า) หรือดาหลาหอม 3) Etlingera corneri Mood &lbrahim ดาหลากุหลาบสยาม หรือกาหลาถ้วย 4) Etlingera venusta (Ridl.) R.M.Sm. ดาหลาถ้วย หรือ กาหลอ 5) Etlingera maingayi (Baker) R.M.Sm. ดาหลาขี้แมว หรือกะลาขี้แมว
การพัฒนาพันธุ์ดาหลา กรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2539-ปัจจุบัน ดำเนินการรวบรวมพันธุ์ดาหลาสายต้นต่างๆ จากแหล่งปลูกธรรมชาติในเขตภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง ยะลา และนราธิวาส และแหล่งปลูกเพื่อการค้าในภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี นนทบุรี และกรุงเทพฯ อนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมที่แปลงอนุรักษ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง และศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา สถาบันวิจัยพืชสวน ในเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ มีความหลากหลายไม่ต่ำกว่า 100 สายพันธุ์ มีดาหลาไม่ต่ำกว่า 3,000 ต้น
ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ปี 2539-2550 คัดเลือกพันธุ์ดาหลา Etlingera elatior (Jack) R.M.Sm.จากแปลงอนุรักษ์ ที่มีลักษณะเด่นทางการเกษตร และเสนอเป็นพันธุ์แนะนำของของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 5 พันธุ์ คือ
กลุ่มที่ 1 สีแปลกใหม่จากเดิมที่มีช่อดอกสีแดงที่มีขายทั่วไป จำนวน 2 พันธุ์ คือ
ดาหลาพันธุ์ตรัง 1 ช่อดอกสีขาว และ
ดาหลาพันธุ์ตรัง 2 ช่อดอกสีบานเย็น
กลุ่มที่ 2 การให้ผลผลิตมากกว่า 80 ดอกต่อกอต่อปี จำนวน 2 พันธุ์ คือ
ดาหลาพันธุ์ตรัง 3 ช่อดอกสีแดง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 106 ดอกต่อกอต่อปี และ
ดาหลาพันธุ์ตรัง 4 ช่อดอกสีชมพู ให้ผลผลิตเฉลี่ย 136 ดอกต่อกอต่อปี
กลุ่มที่ 3 อายุการปักแจกันนานกว่า 10 วัน จำนวน 1 พันธุ์ คือ
ดาหลาพันธุ์ตรัง 5 ช่อดอกสีแดงเข้ม มีอายุการปักแจกัน 11-14 วัน
ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ปี 2549-2561 ปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างดาหลา ช่อดอกทรงกระถิน (Etlingera elatior) เป็นแม่พันธุ์ และดาหลาดำ ช่อดอกทรงถ้วย (Etlingera fulgens) เป็นพ่อพันธุ์ โดยคัดเลือกต้นที่มีลักษณะดี คือ พันธุ์ที่มีทรงช่อดอกทรงถ้วย และขนาดช่อดอกเล็กถึงกลาง สีแปลกใหม่ ได้ 2 กลุ่ม และเสนอเป็นพันธุ์แนะนำ ปี 2562 จำนวน 4 พันธุ์ คือ
กลุ่มที่ 1 ดาหลาลูกผสมพันธุ์ใหม่ ที่มีช่อดอกทรงถ้วยและขนาดเล็ก เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ดาหลาพันธุ์บัวชมพู Etlingera elatior กับ ดาหลาดำ Etlingera fulgens คือ
ดาหลาพันธุ์ยะลา 1 ช่อดอกสีแดงเข้ม กว้าง 7.6 เซนติเมตร ยาว 7.7 เซนติเมตร และ
ดาหลาพันธุ์ยะลา 2 ช่อดอกสีแดงเข้ม กว้าง 7.0 เซนติเมตร ยาว 7.4 เซนติเมตร
กลุ่มที่ 2 ดาหลาลูกผสมพันธุ์ใหม่ ที่มีช่อดอกทรงถ้วยและขนาดกลาง เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ดาหลาพันธุ์บานเย็น Etlingera elatior กับ ดาหลาพันธุ์แดงป่า หรือดาหลาไฟ Etlingera fulgens คือ
ดาหลาพันธุ์ยะลา 3 ช่อดอกสีแดงสด กว้าง 8.3 เซนติเมตร ยาว 8.7 เซนติเมตร และ
ดาหลาพันธุ์ยะลา 4 ช่อดอกสีชมพูอมแดง กว้าง 8.1 เซนติเมตร ยาว 8.0 เซนติเมตร