ดาหลาพันธุ์ตรัง 5
ชื่อวิทยาศาสตร์: Etlingera elatior (Jack) R.W.Smith
ชื่อสามัญ: Torch ginger, ดาหลา
ประวัติ
ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ได้รวบรวมดาหลาสายต้นต่างๆอจากแหล่งปลูกธรรมชาติในเขตภาคใต้และแหล่งปลูกเพื่อการค้าในภาคกลาง มาปลูกรวบรวมไว้สายต้นละ 5 กอ ตั้งแต่ปี 2539-2542 ได้ทั้งหมด 68 สายต้น และได้คัดเลือกดาหลาให้ได้ลักษณะดีเด่นเฉพาะคือ สีแปลกไปจากเดิมซึ่งมีช่อดอกสีแดงที่เป็นพันธุ์ที่มีขายทั่วไป ให้ผลผลิตสูงกว่า 80 ดอกต่อกอต่อปี และมีอายุปักแจกันเมื่อตัดขณะดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ มากกว่า 10 วัน ได้จำนวน 5 สายต้น ดาหลาพันธุ์ตรัง 5 หรือ ดาหลาสายต้น 0501 รวบรวมจากจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีลักษณะเด่นเฉพาะคือ ลำต้นสีเขียวปนม่วงแดง ใบสีเขียวปนม่วงแดง ช่อดอกสีแดงเข้ม สรุปการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2550 รวมระยะเวลาการวิจัย 12 ปี
ลักษณะประจำพันธุ์
กอตั้งตรง ลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน ใบแก่สีเขียวปนม่วงแดง ใบยาวรี ขนาดใบกว้าง 18.48 เซนติเมตร ยาว 76.67 เซนติเมตร ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลม ขนาดช่อดอกกว้าง 15.2 เซนติเมตร สูง 8.5 เซนติเมตร ช่อดอกสีแดงเข้ม สีของดอกย่อยสีแดงขอบเหลือง ความยาวช่อดอก 78 เซนติเมตร ก้านช่อดอกสีม่วงแดง ผลค่อนข้างกลมรี ตั้งแต่ปลูกโดยใช้เหง้าถึงออกดอก ประมาณ 12 เดือน มีหน่อแตกใหม่ 36 หน่อต่อกอต่อปี เมื่ออายุ 3 ปีหลังปลูก มีอายุการเก็บเกี่ยวหลังจากแทงช่อดอกจนถึงเก็บเกี่ยว เมื่อบาน 30 เปอร์เซ็นต์ 41 วัน บาน 50 เปอร์เซ็นต์ 47 วัน และบาน 80 เปอร์เซ็นต์ 52 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 47 ดอกต่อกอต่อปี
ลักษณะเด่น
- ช่อดอกสีแดงเข้ม หรือ Red Group 46 A โดยใช้แผ่นเทียบสีของ The Royal Horticulture Society (RHS)
- ให้ผลผลิตเฉลี่ย 47 ดอกต่อกอต่อปี (เมื่ออายุ 3 ปีหลังปลูก)
- เมื่อตัดขณะดอกบาน 30 เปอร์เซ็นต์ มีอายุปักแจกันนาน 14 วัน และเมื่อตัดขณะดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ มีอายุปักแจกันนาน 11 วัน
พื้นที่แนะนำ
ปลูกได้ในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ การปลูกในที่รำไรที่มีปริมาณความเข้มแสง 60 เปอร์เซ็นต์ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 27-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 81 เปอร์เซ็นต์ และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,144 มิลลิเมตรต่อปี
ข้อจำกัด
ไม่ควรปลูกกลางแจ้ง เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของดอก หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง
วันที่รับรองพันธุ์
กรมวิชาการเกษตร แนะนำพันธุ์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551 และเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนเลขที่ 027/2552 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552