ประวัติ
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สังกัดสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดิมชื่อ “สถานีทดลองพืชสวนศรีสะเกษ” เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2517 โดยขอที่ดินจำนวน 610 ไร่ บริเวณทุ่งสาธารณะประโยชน์ “โนนป่าใหญ่” จากจังหวัดศรีสะเกษ บุกเบิกและก่อสร้างสถานีทดลองพืชสวนศรีสะเกษ ในปี พ.ศ. 2518 ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 กรมวิชาการเกษตรได้ยกระดับจากสถานีฯ ขึ้นเป็น “ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ” สังกัดสถาบันวิจัยพืชสวน ตามการแบ่งส่วนราชการใหม่ของกรมวิชาการเกษตร ภายใต้โครงการวิจัยเกษตรแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IFAD)และประเทศออสเตรเลีย เพื่อปรับปรุงระบบงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ให้มีการศึกษาวิจัยแบบสหสาขาวิชา ให้ได้ผลงานที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ปัญหาการเกษตรด้านพืชสวนของเกษตรกรทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษ ตามนโยบายของรัฐบาล ในปี พ.ศ. 2527 ศูนย์ฯ ได้รับที่ดินเพิ่มจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 487 ไร่เศษ รวมพื้นที่ทั้งหมดในปัจจุบัน 1,097 ไร่
สถานที่ตั้ง
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษตามเส้นทางสายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย ประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ ประมาณ 570 กิโลเมตร ในทางภูมิศาสตร์ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษตั้งอยู่ระหว่าง เส้นรุ้งที่ 15 องศา 04 ลิปดา และ 15 องศา 06 ลิปดาเหนือ และระหว่างเส้นแวง 104 องศา 15 ลิปดา และ 104 องศา 17 ลิปดาตะวันออก
สภาพพื้นที่ ลักษณะดิน และแหล่งน้ำ
สภาพพื้นที่ พื้นที่ประมาณ 95 % เป็นที่ราบเรียบ มีความลาดชัน 2-3 % จุดสูงสุดอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 126 เมตร พื้นที่ลาดต่ำไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกบริเวณอ่างเก็บน้ำหนองชีซึ่งเป็นจุดต่ำสุด มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 122 เมตร
ลักษณะของดิน ส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื้อดินบนเป็นดินร่วนปนทราย ถึงดินทรายปนดินร่วน มีสีน้ำตาลปนเทา ดินล่างเป็นดินร่วนปนทรายถึงดินร่วนเหนียวปนทราย มีสีน้ำตาลปนเหลืองหรือเทา สภาพหน้าดินถูกชะล้างมากเนื่องจากมีอัตราการซึมซาบน้ำที่ผิวดินต่ำ การระบายน้ำค่อนข้างเลวถึงปานกลาง ปฏิกิริยาดินเป็นกรดเล็กน้อยถึงกรดค่อนข้างจัด สามารถจำแนกออกเป็น 7 ชุด ได้แก่ ชุดดินสตึก ชุดดินโคราช ชุดดินสันป่าตอง ชุดดินเชียงใหม่ ชุดดินนครพนม ชุดโคกเคีย และชุดแกลง โดยส่วนใหญ่ประมาณ 90-95 % เป็นชุดดินสตึก และ ชุดดินโคราช ในปริมาณพื้นที่ใกล้เคียงกัน และมีชุดดินอื่น ๆ ปะปนอยู่เล็กน้อย
แหล่งน้ำ สำหรับการวิจัย และเพื่อการอุปโภคภายในศูนย์ฯ คือ อ่างเก็บน้ำหนองชี จุน้ำได้ 400,000 ลูกบาศก์เมตร และมีถังสูงเก็บน้ำ ขนาด 50 ลูกบาศก์เมตร จ่ายน้ำให้กับข้าราชการ พนักงาน ที่พักอาศัยอยู่ภายในศูนย์ฯ
สภาพภูมิอากาศ
จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม ซึ่งเป็นลมพัดประจำฤดูกาล 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นช่วงฤดูหนาวจะมีลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้จังหวัดศรีสะเกษมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝน พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านทะเลและมหาสมุทร นำพาความชื้นมาตกเป็นฝนในเขตนี้ ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคม ถึง กลางเดือนตุลาคมของทุกปี ฤดูกาลของจังหวัดศรีสะเกษ พิจารณาตามสภาพลมฟ้าอากาศของประเทศไทย แบ่งออกได้ 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือน จะมีลมทิศใต้และทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดคือเดือนเมษายน
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทย อากาศจะชุ่มชื้นมีฝนตกทั่วไป และมีฝนตกมากที่สุดในเดือนกันยายน
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงทั่วไป และมีอากาศหนาวเย็น เดือนที่มีอากาศหนาวจัดคือ เดือนธันวาคม และมกราคม
สถิติภูมิอากาศเฉลี่ย 10 ปี พ.ศ. 2543 - 2552 จากสถานีอากาศเกษตรศรีสะเกษ
- อุณหภูมิสูงสุด เฉลี่ย 33.0 °C เมื่อปี 2548
- อุณหภูมิต่ำสุด เฉลี่ย 19.9 °C เมื่อปี 2547
- ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุด เฉลี่ย 95% เมื่อปี 2544
- ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุด เฉลี่ย 40% เมื่อปี 2550
- ความยาวนานของแสงแดด เฉลี่ย 7.7 ชั่วโมง/วัน
- ปริมาณน้ำระเหย เฉลี่ย 4.4 มิลลิเมตรต่อวัน
- ปริมาณฝนที่ตกมากที่สุดใน 1 ปี 2,415.4 มิลลิเมตร เมื่อปี พ.ศ. 2543
- ปริมาณฝนเฉลี่ย 10 ปี 1,594.89 มิลลิเมตรต่อปี
- จำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ย 10 ปี 105 วัน
หน้าที่ความรับผิดชอบ
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ มีหน้าที่ดังนี้
- ศึกษา วิจัยและพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาการผลิตพืชสวนเศรษฐกิจ ได้แก่ พริก มะเขือเทศ มะละกอ มะม่วง เงาะ ทุเรียน สับปะรด องุ่น มะขามเปรี้ยว มะม่วงหิมพานต์ กล้วยไม้ดิน บัว เบญจมาศ มะลิ และสมุนไพร
- ร่วมปฏิบัติงานในโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันและสำนักภายในกรมวิชาการเกษตร โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถาบันต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
- ถ่ายทอดวิชาการ/ฝึกอบรมแก่เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- การบริการโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่