วันที่ 30-31 สิงหาคม 2566 นางสาวทิพยา ไกรทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และคณะฯ เข้าร่วมการประชุมวิชาการประจำปี 2566 สถาบันวิจัยพืชสวน ณ ห้องประชุม โรงแรมแกรนด์จอมเทียนพาเลซ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 

          โอกาสนี้ได้รับเกียรติจากรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (ดร.วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ) เป็นประธานกล่าวเปิดงานและมอบนโยบาย ให้ ผู้บริหาร นักวิชาการ นักวิจัย ว่า ให้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งสร้างบุคลากรที่มีความรู้  มีศักยภาพ และส่งเสริมการเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำงานวิจัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามภารกิจ ซึ่งสถาบันวิจัยพืชสวนเป็นหน่วยงานหลักด้านการวิจัยพืชสวนเศรษฐกิจของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนและขับเคลื่อนภารกิจสำคัญตามนโยบายของกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          การประชุมวิชาการประจำปี เป็นโอกาสให้นักวิชาการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ  รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสร้างเครือข่าย ความร่วมมือทางวิชาการ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กร  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการส่งเสริม ผลักดัน สนับสนุน ให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาในด้านงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร  จึงถือเป็นโอกาสดีที่ทุกท่านทั้งผู้บริหาร นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการประจำปี  และขอให้นำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้ไปปรับใช้ในการทำงาน ให้เกิดการพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในการที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยพืชสวนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

         ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัยที่ดำเนินงานวิจัยด้านพืชสวน ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่ดำเนินการสิ้นสุด และผลงานวิจัยที่มีความก้าวหน้า รวมทั้งผลงานวิจัยที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัย และความรู้ด้านวิชาการ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างนักวิชาการ ผู้บริหาร ของสถาบันวิจัยพืชสวน ศูนย์วิจัยพืชสวนเครือข่าย และหน่วยงานต่างๆ ภายในกรมวิชาการเกษตร นอกจากนี้นักวิชาการรุ่นใหม่ๆ  จะได้ใช้โอกาสและเวทีการประชุมวิชาการนี้  ในการเสริมสร้างประสบการณ์ในด้านการทำงานวิจัย เพื่อการพัฒนาทั้งบุคคลากรด้านวิชาการพืชสวนและผลงานวิจัยให้เกิดการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นไปและนำไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง สอดคล้องและก้าวทันกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป
         การประชุมฯ ได้กำหนดรูปแบบการประชุม ได้แก่
        1. การนำเสนอผลงานวิจัยเด่น โดย นักวิชาการสถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชสวนเครือข่าย รวมจำนวน 11 เรื่อง
        2. การเสวนา จำนวน 2 เรื่อง
           “มุมมองของนักวิจัยกับแนวทางการทำงานวิจัยพืชสวน”   โดย ตัวแทนนักวิจัยของสถาบันวิจัยพืชสวนและศูนย์วิจัยพืชสวนเครือข่าย
           “การขับเคลื่อนงานวิจัยของสถาบันวิจัยพืชสวน ในมุมมองผู้บริหาร”  โดย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน และผู้เชี่ยวชาญ