โครงการเกษตรอทิตยาทรในพระดำริพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ร่วมกับ โครงการอนุรักษ์เชื้อพันธุ์พืชในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชกรมวิชาการเกษตรของ พืชไร่ และพืชสวนบางชนิดในสภาพ ex situ กลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร
โครงการเกษตรอทิตยาทรในพระดำริพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย ทั้งการเก็บเชื้อพันธุกรรมพืชสำหรับใช้ในงานต่างๆ ของโครงการ และสำหรับการแจกให้กับเกษตรกรในเครือข่าย ทั้งนี้ธนาคารเชื้อพันธุ์พืชกรมวิชาการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ของโครงการในพระดำริฯ ดังกล่าว จึงประสานขอความร่วมมือนำตัวอย่างเชื้อพันธุกรรมพืชมาอนุรักษ์เป็นตัวอย่างสำรองเก็บไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ตามขบวนการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมของธนาคารเชื้อพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเน้นการเก็บรวบรวมอนุรักษ์พืชไร่และพืชสวนบางชนิด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพืชไร่และพืชสวนที่เกษตรกรในโครงการเกษตรอทิตยาทรในพระดำริพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณเพาะปลูก เพื่อประโยชน์ด้านการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชของธนาคารเชื้อพันธุ์พืชให้สามารถเก็บรักษาและคงความมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์โครงการ
1.เพื่อเป็นแหล่งเก็บเชื้อพันธุกรรมพืชสำรองสำหรับการเก็บอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชไร่และพืชสวนบางชนิดในโครงการเกษตรอทิตยาทรในพระดำริพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
2.เพื่อเพิ่มความหลากหลายของเชื้อพันธุกรรมพืชไร่ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร
3.เพื่อที่จะเป็นหลักประกันในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรพันธุกรรมพืชอย่างยั่งยืน
4.เพื่อส่งเสริมการวิจัย และการนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งการตระหนักรู้คุณค่าจากฐานทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืช
การดำเนินงานโครงการ
เมื่อวันที่ 7-9 มิถุนายน 2562 นางกัญญาภรณ์ พิพิธแสงจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ได้เดินทางไปติดต่อประสานงานที่โครงการเกษตรอทิตยาทรในพระดำริพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ “ซแรย์ อาทิตยา” และสำรวจรวบรวมเชื้อพันธุกรรมพืช โดยมีคณะผู้รับผิดชอบโครงการฯ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดสุรินทร์ให้การต้อนรับ
ดำเนินการสำรวจรวบรวมเชื้อพันธุกรรมพืช โดยคณะเจ้าหน้าที่ของกลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการเก็บสำรวจรวบรวมเชื้อพันธุกรรมพืชในพื้นที่โครงการซแรย์ อาทิตยา ได้ตัวอย่างเชื้อพันธุกรรมพืช จำนวน 12 ตัวอย่าง ดังนี้
1.กระเพรา
2.พริกขี้หนู
3.โหระพา
4.พริกขี้หนูสวน
5.มะเขือพวงไร้หนาม
6.มะเขือเปราะ
7.ขี้กา
8.เมล็ดข้าวหอมมะลิ 105
9.เมล็ด Green Oak
10.เมล็ด Red Oak
11.ผักพายเล็ก
12.ผักชีลาว
การจัดการเชื้อพันธุกรรมพืชในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ โดยนำเมล็ดเชื้อพันธุกรรมพืชมาเข้ากระบวนการต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ เช่น การทำความสะอาด การลดความชื้น การทดสอบความความชื้น การทดสอบความงอก การจัดเก็บ การบรรจุเมล็ดพันธุ์เพื่อเก็บไว้ในห้องอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชทั้งระยะปานกลาง (5°C) และระยะยาว (-10°C) เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และการดำเนินการจัดการข้อมูลพืชที่อนุรักษ์อย่างเป็นระบบ
ภาพแสดงการสำรวจรวบรวมเชื้อพันธุกรรมพืช
ภาพแสดงตัวอย่างเชื้อพันธุกรรมพืช จำนวน 12 ตัวอย่างพันธุ์ ที่ได้จากการสำรวจ
ภาพแสดงการจัดการเชื้อพันธุกรรมพืชในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช
ความร่วมมือของโครงการ โดยมีการหารือและวางแผนบูรณาการร่วมกันในเรื่องของการปลูกฟื้นฟูและประเมินลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเชื้อพันธุกรรมพืช ทั้งนี้ได้พิจารณาตามความเหมาะสมจึงดำเนินการปลูกประเมินลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเชื้อพันธุกรรมพืช จำนวน 10 ตัวอย่าง โดยทำการปลูกประเมินในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 9 ตัวอย่างพันธุ์ และทำการปลูกประเมินที่กลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร จำนวน 1 ตัวอย่างพันธุ์ รวมทั้งสิ้น 10 ตัวอย่างพันธุ์ รายละเอียดดังนี้
1.กะเพราแดง
2.กะเพราขาว/เขียว
3.โหระพา
4.ผักปลังเขียว
5.ผักปลังแดง
6.ผักชีลาว
7.พริกชี้ฟ้า
8.มะเขือส้ม
9.มะเขือเปราะ
10.ข้าวหอมมะลิ (ประเมินที่กลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร)