ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช

               ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร จัดตั้งขึ้นในปี 2545 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยนามอาคารว่า “อาคารทรัพยากรพันธุกรรมพืชสิรินธร” และให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “สธ” ประดิษฐานเหนือชื่ออาคารทรัพยากรพันธุกรรมพืชสิรินธร โดยวันที่ 9 กันยายน 2545 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อาคารทรัพยากรพันธุกรรมพืชสิรินธร” ปัจจุบันธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ดำเนินการโดยกลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชฯ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ มีหน้าที่ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชทั้งพืชพื้นเมือง พืชป่าที่เป็นพืชต้นตระกูลของพืชเศรษฐกิจ และพืชพันธุ์ใหม่ที่สามารถ นำไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยด้านต่างๆ และนำไปสู่ผลผลิตที่ดียิ่งขึ้น เป็นแหล่งข้อมูลด้านพันธุกรรมพืชโดยจัดเก็บข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์และพัฒนาเป็นศูนย์กลางของระบบข้อมูลกลาง ในการเชื่อมโยงข้อมูลจัดเก็บ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลแก่หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการรับฝากและให้บริการเชื้อพันธุ์พืชที่เก็บรักษาในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชแก่หน่วยงานและบุคคลทั่วไปที่สนใจ ทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้เงื่อนไข พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช ปัจจุบันธนาคารเชื้อพันธุ์พืชเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชด้วยระบบจัดเก็บอัตโนมัติ (Automatic bullet crane) และมีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาและเตรียมพร้อมของธนาคารฯในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในโอกาสต่อไป

                    การอนุรักษ์ความหลากหลายทาง พันธุกรรมพืชเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางด้านเกษตรกรรมและเชื่อว่าจะเป็นแหล่งผลิตพืชอาหารและการเกษตรแหล่งใหญ่ของโลกการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชต่างๆ โดยเฉพาะพืชอาหารไว้พร้อมนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันทีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นับจากนี้เหลือเวลาอีกไม่นาน ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการและเป็นรูปธรรมร่วมกับประเทศอื่นอีก 9 ประเทศ ในระยะแรกคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ กัมพูชาเมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม

วิสัยทัศน์

เป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทย และมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พันธกิจ

  • เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมอนุรักษ์ พันธุกรรมพืช ทั้งพืชพื้นเมือง พืชป่าที่เป็นพืชต้นตระกูลของพืชเศรษฐกิจ และพืชพันธุ์ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยด้านต่างๆ และนำไปสู่การผลิตที่ดีขึ้น
  • เป็นแหล่งข้อมูลพันธุกรรมพืชโดยจัดเก็บข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ และคุณค่าของเชื้อพันธุ์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลแก่หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
  • การรับฝากและให้บริการเชื้อพันธุ์พืชที่เก็บในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชแก่บุคคลและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542
  • การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของธนาคารเชื้อพันธุ์พืช
  • ประสานความร่วมมือ/ งานวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่นๆ ในด้านการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืช เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักวิจัย นักปรับปรุงพันธุ์ สถาบันการศึกษา เกษตรกร และประเทศชาติ
  • เตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมของภูมิภาคอาเซียนต่อไป

วัตถุประสงค์

  • เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมอนุรักษ์พันธุกรรมพืชทั้งพืชพื้นเมือง พืชป่าที่เป็นพืชต้นตระกูลของพืชเศรษฐกิจและพืชพันธุ์ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยและพัฒนาการผลิตที่ดีขึ้น ตลอดจนรับฝากและให้บริการเชื้อพันธุ์พืชที่เก็บรักษาในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชแก่บุคคล และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
  • เป็นแหล่งข้อมูลด้านพันธุกรรมพืชโดยจัดเก็บข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์และคุณค่าของเชื้อพันธุ์ในฐานข้อมูล
  • การเข้าถึงการใช้ประโยชน์โดยเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและสนับสนุน ทั้งข้อมูลและเชื้อพันธุ์แก่หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

ศักยภาพในการอนุรักษ์เชื้อพันธุ์พืช

ห้องอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ระยะปานกลาง (5 องศเซลเซียส, ความชื้นสัมพัทธ์ 60 เปอร์เซ็นต์) เป็นห้องควบคุมอุณหภูมิ และความชื้น สำหรับการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชขนาดพื้นที่ของห้อง 86 ตารางเมตร สูง 24 เมตร มีศักยภาพในการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชประมาณ 150,000 ตัวอย่าง ห้องนี้มีระบบจัดเก็บเมล็ดพันธุ์อัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบที่ประกอบด้วยส่วนสำคัญหลัก 2 ส่วน คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อ WinCC และเครนสำหรับแยกเก็บตัวอย่าง กำหนดในการปลูกฟื้นฟูต่ออายุเชื้อพันธุกรรมพืชทุกๆ 5 – 10 ปี

ห้องอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ระยะยาว (-10 องศาเซลเซียส) จัดสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำหรับควบคุมอุณหภูมิเพื่อการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชในระยะยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 20-50 ปี ขนาดพื้นที่ของห้อง 76 ตารางเมตร มีศักยภาพในการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืช ประมาณ
40,000 ตัวอย่าง

ห้องลดความชื้น (25 องศาเซลเซียส,ความชื้นสัมพัทธ์ 15 เปอร์เซ็นต์) จัดสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำหรับลดความชื้นภายในเมล็ดโดยไม่ใช้ความร้อน มีขนาดพื้นที่ 32 ตารางเมตร

ห้องปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 96 ตารางเมตร เป็นห้องสำหรับปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ การ
ทำควมสะอาด ตรวจสอบควมบริสุทธิ์พันธุ์ ทดสอบและลดความชื้น ทดสอบความงอก ทดสอบความมีชีวิตทดสอบ
ความแข็งแรง และการทำลายการพักตัวของเมล็ด

ห้องปฏิบัติการงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในสภาพปลอดเชื้อ เป็นห้องสำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่ออนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชที่ไม่สามารถเก็บรักษาในสภาพเมล็ดพันธุ์ และเชื้อพันธุกรรมพืชหายาก ใกล้สูญพันธุ์ โดยใช้เทคนิคการเพิ่มปริมาณ การชะลอการเจริญเติบโต และการอนุรักษ์ในสภาพเยือกแข็งห้องปฏิบัติการงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในสภาพปลอดเชื้อ ประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่ ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ห้องย้ายเนื้อเยื่อ และห้องเตรียมอาหาร

ห้องปฏิบัติการอณูชีวโมเลกุล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 พื้นที่ห้องขนาด 41.25 ตารางเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพืชที่จัดเก็บอยู่ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชด้วยลายพิมพ์ดีเอ็นเอ

Skip to content