อ้อยเคี้ยวพันธุ์สุพรรณบุรี 72

ประวัติ เป็นพันธุ์ที่คัดได้จากการผสมเปิดของอ้อยพันธุ์เมอริชาด ซึ่งได้ผ่านการคัดเลือกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และประเมินผลที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ สถานีทดลองพืชไร่ ตลอดจนในไร่เกษตรกร จังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึง พ.ศ. 2546 รวมระยะเวลา 8 ปี

ลักษณะเด่น ให้ผลผลิตเนื้ออ้อยควั่นสุทธิ 6.3 ตันต่อไร่ ให้ค่าความหวานสูง 19.3 บริกซ์ แตกกอดี ให้จำนวนลำต่อไร่สูงประมาณ 13,000 ลำต่อไร่ สามารถไว้ตอได้ดี ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปี อ้อยควั่นมีรสชาติหวานหอม กรอบ น้ำอ้อยมีสีเหลือง อมเขียว รสชาติหวานหอม คุณภาพใกล้เคียงกับอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50

ลักษณะประจำพันธุ์ ใบมีขนาดปานกลาง ปลายใบโค้ง ลำต้นมีสีเขียวอมเหลือง ปล้องมีรูปร่างทรงกระบอกค่อนข้างยาว มีร่องเหนือตา ตามีรูปร่างกลม มีวงเจริญสีเหลืองนูน ข้อคอดเล็กน้อย อายุเก็บเกี่ยวเหมาะสม คือ 9 เดือน ซึ่งจะให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยควั่นดีที่สุด

ฤดูปลูก สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ต้องมีการให้น้ำ

ความต้านทานโรคแมลง มีความต้านทานต่อโรคแส้ดำและโรคลำต้นเน่าแดง พบการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยน้อยประมาณ 5 %

ประโยชน์ของอ้อยเคี้ยว การกินอ้อยที่มาจากธรรมชาติแท้ ๆ ป้องกันฟันผุได้ เพราะในอ้อยมีสารเคมีแคลเซียมฟอสเฟต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของฟันในปริมาณมาก นอกจากนี้ยังมีสารพวกฟอสฟอรัส โพแทสเซียมและแมกนีเซียม ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย