อ้อยพันธุ์อู่ทอง 3

ประวัติ อ้อยพันธุ์อู่ทอง 3 (89-2-366) เป็นอ้อยที่คัดได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแม่พันธุ์อู่ทอง 1 กับพ่อพันธุ์ 81-1-026 (อู่ทอง 2) ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ในปี 2532 – 2541 รวมระยะเวลา 9 ปี

ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตน้ำหนักลำอ้อยและน้ำตาลสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปลูกในดินร่วนปนทรายในพื้นที่ให้น้ำได้
2. ให้ผลผลิตน้ำหนักลำอ้อยและน้ำตาลในอ้อยตอสูง
3. ไม่พบโรคกอตะไคร้ในสภาพธรรมชาติ ทั้งในอ้อยปลูกและอ้อยตอ แต่ในพันธุ์อู่ทอง 1 อ้อยตอ 1 พบโรคกอตะไคร้ 19.66 %

ลักษณะประจำพันธุ์ ทรงกอตั้งตรง ลำใหญ่ สีเหลืองอมเขียว ข้อเรียบ มีจุดกำเนิดราก 2 แถว ไม่เป็นระเบียบ ปล้องทรงกระบอก ตารูปไข่ป้าน กาบใบสีม่วงปนเขียว มีไขที่ลำมาก ไม่มีร่องเหนือตา วงเจริญสีเหลืองอยู่ระดับยอดตา ความสูงประมาณ 3 ซม. จำนวนลำต่อกอประมาณ 6 ลำ ผลผลิตอ้อยปลูกเฉลี่ย 17 ตัน/ไร่ อ้อยตอ 14-15 ตัน/ไร่ ค่า CCS เท่ากับ 13-14

พื้นที่แนะนำ ควรปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง 3 ในสภาพไร่ ซึ่งมีดินร่วนปนทราย ที่สามารถให้น้ำได้ในภาคตะวันตกและภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และกำแพงเพชร

ฤดูปลูกที่เหมาะสม ต้นฤดูฝน

ข้อควรระวัง อ้อยพันธุ์อู่ทอง 3 อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง ไม่แนะนำให้ปลูกในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาดได้แก่ ในพื้นที่ดินนาสภาพน้ำขัง เช่นที่ จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี บางพื้นที่ และพบโรคใบขีดแดงและยอดเน่าในสภาพธรรมชาติ