ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

จัดตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ใช้ชื่อว่าสถานีทดลองพืชไร่พัทลุง สังกัดสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้เริ่มหาพื้นที่ใหม่เนื่องจากสถานที่ตั้งเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ได้หาวิธีป้องกันแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการทดลองวิจัยปลูกพืชไร่ให้ได้ผลดี ประกอบกับสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร มีความประสงค์จัดหาที่ดินสำหรับทดลองข้าวทนดินเค็มและต้องการใช้สถานที่แห่งนี้ จากการสำรวจพบว่าที่ดินสาธารณประโยชน์ “ทุ่งพลายแก้ว” และป่าสงวนควนแค-ควนสูง หมู่ที่ ๑ ตำบลฝาละมี อำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่ารวมจำนวน ๘๗๒ ไร่ ๒ งาน  ๗๐ ตารางวา เหมาะที่จะเป็นที่จัดตั้งสถานีทดลองใหม่ได้เป็นอย่างดี และสภาตำบลฝาละมีได้ประชุมพิจารณามีมติอนุมัติให้กรมวิชาการเกษตรจัดตั้งสถานีทดลองพืชไร่ได้แล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่นี้มีราษฎรจำนวนมากได้เข้าทำการจับจองทำกินมาเป็นเวลานานแล้ว และได้มีการร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงต้องหาที่ดินจากแหล่งอื่นต่อไป ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงได้ขอใช้พื้นที่ปัจจุบันและย้ายมาอยู่ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ใช้ชื่อว่าสถานีทดลองพืชไร่สงขลา

ที่ตั้งของสถานีทดลองพืชไร่สงขลา กรมวิชาการเกษตร ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าควนเขาวัง ป่าคลองต่อและป่าเทือกเขาแก้ว ท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามประกาศกรมป่าไม้ ฉบับที่ ๖/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ เรื่อง กำหนดบริเวณพื้นที่ในส่วนราชการหรือองค์การของรัฐเข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสถานีทดลองพืชไร่สงขลา พื้นที่ ๖๒๒ ไร่ ๒ งาน ตั้งแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ จนถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ และในเดือนธันวาคม ๒๕๒๙ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ แปลงหมายเลขทะเบียน สข. ๙๐๐ มีพื้นที่ ๕๒ ไร่ ๑ งาน ๖๔.๘๐ ตารางวา รวมพื้นที่ทั้งหมด ๖๗๔ ไร่ ๓ งาน ๖๔.๘๐ ตารางวา

ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กรมวิชาการเกษตร ได้อนุมัติให้บริษัทสยามกรกิจ จำกัด ทำการก่อสร้างโรงงานยางแท่ง ขนาดกำลังผลิต ๓๐,๐๐๐ ตัน/ปี พร้อมอาคารโรงเรือนต่างๆ ในพื้นที่ ๑๐๓ ไร่ ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ และคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๒ อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมวิชาการเกษตร) ดำเนินการให้ภาคเอกชนเช่าโรงงานผลิตยางแท่ง ดังกล่าว โดยไม่ต้องร่วมลงทุนกับภาคเอกชน

ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ กรมป่าไม้ ได้ตรวจสอบพื้นที่ใหม่ตามแนวหลักเขตพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จริงของศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา โดยใช้ค่าพิกัด G.P.S และคำนวณเนื้อที่ได้ จำนวน ๖๓๓ ไร่ ๒ งาน ๕๕ ตารางวา มากกว่าพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเดิมจำนวน ๑๑ ไร่ ๕๕ ตารางวา และได้ออกประกาศกรมป่าไม้ ฉบับที่ ๔/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เรื่อง กำหนดบริเวณพื้นที่ให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐเข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมทั้งเพิ่มวัตถุประสงค์ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอขอ เป็น จัดตั้งศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา และจัดตั้งโรงงานผลิตยางแท่งของศูนย์วิจัยยางสงขลา และเพิ่มเนื้อที่เป็น ๖๓๓ ไร่  ๒ งาน  ๕๕ ตารางวา

ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุมัติให้ยกเลิกการอนุญาตให้กรมวิชาการเกษตร เข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าควนเขาวัง ป่าคลองต่อและป่าเทือกเขาแก้ว ท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อดำเนินการโครงการจัดสร้างศูนย์บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๙ เนื้อที่ ๑๖๓ ไร่ ๓ งาน ๒๔ ตารางวา

ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ จังหวัดสงขลา แจ้งกรมป่าไม้ เรื่อง กรมวิชาการเกษตรขอส่งคืนพื้นที่โรงงานยางแท่งตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๑๐๓ ไร่ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และแจ้งให้การยางแห่งประเทศไทยดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง