ประวัติความเป็นมา

ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี


ประวัติโดยย่อ

     ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี  (ศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฎร์ธานีเดิม)  เป็นหน่วยงานสังกัด สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นตามเงื่อนไขพิเศษในสัญญาเงินกู้ของกรมวิชาการเกษตร ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับธนาคารโลก  ตามหนังสือที่  กค.0302/38301  เดือนตุลาคม  2523  ที่ป่าสงวนแห่งชาติไชยครามวัดประดู่ หมู่ที่ 3-4 ตำบลท่าอุแท  อำเภอกาญจนดิษฐ์  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  มีพื้นที่ 3,154 ไร่ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี 34 กิโลเมตร  ห่างจากอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  ประมาณ 100 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ 720 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่เริ่มมาปฏิบัติงานพัฒนาศูนย์ฯ ในเดือน เมษายน 2526

สภาพพื้นที่

สภาพพื้น เป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 11-12 เมตร แบ่งเป็น 2 ลักษณะ

– พื้นที่ราบค่อนข้างสม่ำเสมอ มีประมาณ  1,000  ไร่

– พื้นที่ราบเนินต่ำ ระดับพื้นที่แตกต่างกัน 1-3 เมตร มีประมาณ  2,000  ไร่

ลักษณะดิน  แบ่งออกเป็น

– ดินชุดคอหงส์ มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาด  มีความลาดชัน 2-5 เปอร์เซ็นต์ มีการระบายน้ำได้ดี
ดินบนลึกไม่เกิน 15 เซนติเมตร เป็นดินร่วนปนทราย  มีสีน้ำตาลเข้ม  ความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 4.5-5.9

– ดินชุดสงขลา  มีลักษณะค่อนข้างเรียบ  มีความลาดชันไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์  มีการระบายน้ำค่อนข้างเลว  ดินบนลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร  เป็นดินร่วนปนทราย  สีดำ  ความเป็นกรดเป็นด่าง 4.5 – 5.5

– ดินชุดพัทลุง  สภาพพื้นที่ราบเรียบเป็๋นดินลึกมาก  มีการระบายน้ำค่อนข้างเลว  ใต้ผิวดินมีการแช่ขังของน้ำตลอดฤดูฝน

– ดินนาทอน  สภาพพื้นที่เป็นลอนชัน  ดินลึก  มีการระบายน้ำดี

แผนผังแสดงที่ตั้งศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี