ประวัติ

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เดิมชื่อ สถานีกสิกรรมตาคลี ตั้งขึ้นในปี 2506 ณ หลักกิโลเมตรที่ 234 ถ.พหลโยธิน ต. ตากฟ้า  อ. ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ มีพื้นที่  518 ไร่ ขึ้นกับกองการค้นคว้าและทดลอง กรมกสิกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของสาขาฝ้าย โดยมีหน้าที่ ค้นคว้าทดลองด้านการปลูกฝ้าย

พื้นที่เดิม เป็นนิคมสร้างตนเองตากฟ้า ต.ตากฟ้า อ.ตาคลี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกฝ้ายมาก กรมกสิกรรมจึงได้ขอพื้นที่ทำการวิจัยโดยจัดตั้งสถานีกสิกรรมตาคลี

ผู้ทำหน้าที่ หัวหน้าสถานีกสิกรรมตาคลี ดังนี้

นายชูเกียรติ  อิถรัชต์ ระหว่าง  1 ม.ค. 2506 -31 ธ.ค. 2506
นายศรีพักตร์  เวสอุรัย  ระหว่าง 1 ม.ค. 2507 – เม.ย. 2509
นายชูเกียรติ อิถรัชต์ ระหว่าง  เม.ย. 2509 – 31 ต.ค. 2510
นายเกษม สุขาพันธ์   ระหว่าง 1 พ.ย. 2510 – 2 ม.ค. 2511
นายวิจิตร เบญจศีล ระหว่าง 1 ก.พ. 2511 – 20 พ.ย. 2512

ปี 2507 ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอังกฤษภายใต้แผนความร่วมมือตามโครงการโคลัมโบ ได้งบประมาณช่วยเหลือสร้างโรงหีบฝ้ายตากฟ้า ภายในสถานีกสิกรรมตาคลี ในปี 2512  โดย เปลี่ยนชื่อ เป็น ศูนย์พัฒนาฝ้ายตากฟ้า และประเทศอังกฤษได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาอยู่ประจำประเทศไทย  7 คน เพื่อช่วยเหลือในสาขาปรับปรุงพันธุ์ เขตกรรม เศรษฐศาสตร์ การผลิต เครื่องจักรกลการเกษตร โรงหีบฝ้าย และสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยอยู่ประจำที่ ศูนย์พัฒนาฝ้ายตากฟ้า 3 คน ด้านการผลิต เศรษฐศาสตร์  และเครื่องจักรกลการเกษตร

ผู้ที่ทำหน้าที่ หัวหน้าศูนย์พัฒนาฝ้ายตากฟ้า ดังนี้

นายสมชาย  ธรรมนูญรักษ ระหว่าง 21 พ.ย. 2512 – …… 2515

ในปี 2515 กรมกสิกรรมยุบรวมกับกรมการข้าว เป็นกรมวิชาการเกษตร กองค้นคว้าทดลอง เปลี่ยนเป็น กองพืชไร่ และเปลี่ยนชื่อ ศูนย์พัฒนาฝ้ายตากฟ้า เป็น สถานีทดลองพืชไร่ตาคลี

ผู้ทำหน้าที่ หัวหน้าสถานีทดลองพืชไร่ตาคลี ดังนี้

นายสมชาย  ธรรมนูญรักษ ์ ระหว่าง ………. 2515 – 1 มิ.ย. 2518
นายธงชัย  วงศ์เสรี ระหว่าง 2 มิ.ย. 251831 ก.ค. 2525

ในปี   2515 สาขาข้าวโพดข้าวฟ่าง กองพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร   ได้งบประมาณซื้อที่ดิน เพื่อใช้ในการทำการวิจัย ที่ ต. สุขสำราญ อ. ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของสถานีทดลองพืชไร่ตาคลี ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างจากพื้นที่ สถานีทดลองพืชไร่ตาคลี ประมาณ 5 กิโลเมตร จนปัจจุบันมีพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 595 ไร่

ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแปลงวิจัยของข้าวโพดข้าวฟ่างและพืชไร่ต่างๆในเขตที่ดอนภาคกลาง   โดยเฉพาะเป็นตัวแทนของดินประเภทดินดำตาคลี หรือลพบุรี ซึ่งเป็นดินที่ใช้ปลูกข้าวโพดและพืชไร่ต่างๆ มากที่สุดประเภทหนึ่ง และ ในปี 2520 ได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดประมาณ 30 x 40 x 3 = 3600 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเก็บกักน้ำจากบ่อบาดาลเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคและการชลประทาน เป็นครั้งแรก

ในปี 2525  เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร 2525 และปรับปรุงหน่วยงาน ตามโครงการวิจัยเกษตรแห่งชาติ  เปลี่ยน กองพืชไร่ เป็น สถาบันวิจัยพืชไร่ และ สถานีทดลองพืชไร่ตาคลี เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สังกัด สถาบันวิจัยพืชไร่ มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการค้นคว้าวิจัย ฝ้ายและข้าวโพด  และเริ่มสร้างอาคารอำนวยการ อาคารปฏิบัติการต่างๆ และบ้านพัก ที่แปลงวิจัยข้าวโพด ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า โดย นายอำนวย ทองดี เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์

มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการค้นคว้าวิจัย ฝ้ายและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แบบครบทุกสาขาวิชา โดยมีสถานีทดลองพืชไร่บ้านใหม่สำโรง สถานีทดลองพืชไร่ลพบุรี และสถานีทดลองพืชไร่เพชรบูรณ์ เป็นสถานีทดลองเครือข่าย

ในปี 2527  พิธีวางศิลาฤกษ์ ที่ทำการแห่งใหม่ โดย อธก. นายยุกติ สาริกภูติ วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2527
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ได้ย้ายกลุ่มงานวิเคราะห์เส้นใยพร้อมเครื่องมือ จากสถาบันวิจัยพืชไร่ มาปฏิบัติงานอยู่ภายใต้ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์

 

ปี 2529 พิธีเปิดอาคารที่ทำการ โดย นายยุกติ สาริกภูติ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 24  กุมภาพันธ์  2529

ปี 2545 แบ่งส่วนราชการ กรมวิชาการเกษตร โดยตั้งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1-8 และปรับปรุงหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ไปสังกัด สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร และ สถานีทดลองเครือข่าย ไปสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดที่ตั้ง

ปี 2552  ปรับปรุงหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กลับไปสังกัด สถาบันวิจัยพืชไร่

ปี 2557 สถาบันวิจัยพืชไร่ ได้รวม ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี และ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่  เข้าอยู่ภายใต้ สถาบันวิจัยพืชไร่ และเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ดังนั้น ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ จึงสังกัดสถาบันพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน

รายชื่อผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ จนถึงปัจจุบัน

นายอำนวย  ทองดี ระหว่าง  2 ส.ค. 2525 – 12 พ.ย. 2535
นายอำนาจ ชินเชษฐ์   ระหว่าง 14 มิ.ย. 2536 – 20 ต.ค. 2542
นายมนูญ พุ่มกล่อม ระหว่าง  1 พ.ย. 2542 – 7 ก.พ. 2548
นายบุญเกื้อ ภูศรี    ระหว่าง 1 มี.ค. 2548 – 30 ก.ย. 2551
นายพิเชษฐ์ กรุดลอยมา ระหว่าง 3 ต.ค. 2551 – 9 ธ.ค. 2557
นางสาวอมรา ไตรศิริ ระหว่าง 29 ม.ค. 2558 – 30 ก.ย. 2559
นายสมพงษ์ ทองช่วย ระหว่าง 13 ธ.ค. 2559 – 30 ก.ย. 2562
นางสาวปริญญา สีบุญเรือง ระหว่าง 11 ก.พ. 2563 – 31 ส.ค. 2564
นางสาวศิวิไล ลาภบรรจบ ระหว่าง 29 พ.ย. 2564 – ปัจจุบัน

เรียบเรียง : ผอ. อมรา ไตรศิริ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ข้าราชการเกษียณอายุราชการ และ ผู้ที่เคยปฏิบัติงาน ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์