เส้นใยฝ้าย  สายใยบุญ   จุลกฐิน

เรียบเรียงโดย : ปริญญา สีบุญเรือง

การทอดกฐิน

ประเพณีการทอดกฐิน หรือกฐินทานมีมานานตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลแล้ว ก็คือครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดายังทรงมีพระชนมายุอยู่ คือประมาณ2550 ปีกว่ามาแล้ว ครั้งหนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี สร้างถวายที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ครั้งนั้นได้มีพระภิกษุ 30 รูปชาวเมืองปาวา(บางตำราว่าเมืองปาไถยรัฐ บางตำราว่าเมืองปาฐา, และบางตำราว่าเมืองปาไฐยยะ) ซึ่งอยู่ในทิศตะวันตกของแคว้นโกศล ได้เดินทางมาโดยหวังที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่การเดินทางในสมัยนั้นยากลำบากมาก การกะเวลาเดินทางจึงเป็นไปได้ยาก พอออกเดินทางมาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นทราบในภายหลังว่าคงไปไม่ทันเข้าพรรษาที่สาวัตถีเป็นแน่ เพราะจวนเจียนใกล้เวลาเข้าพรรษามาทุกที   เพื่อไม่ให้ผิดพระวินัยพระภิกษุเหล่านั้นจึงได้ตัดสินใจ พักจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีเพียง 6 โยชน์ (ประมาณ 96 กิโลเมตร) ระหว่างพักจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือนอยู่ที่เมืองสาเกตนั้น เหล่าพระภิกษุจำนวน30 รูปไม่ได้มีความสุขเลย เพราะว่าต้องอยู่ในฐานะอาคันตุกะ และมีความรู้สึกผิดหวังที่พวกตนได้เดินทางรอนแรมมานานแล้วแต่ยังไม่ได้เฝ้าพระบรมศาสดาถึงที่ประทับเสียที พระภิกษุเหล่านั้นมีใจร้อนรุ่มด้วยปรารถนาที่จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พอครบกำหนดออกพรรษาภิกษุเหล่านั้นจึงรีบออกเดินทางจากเมืองสาเกตโดยทันที เพื่อหวังที่จะเฝ้าพระพุทธเจ้าให้เร็วที่สุดในขณะนั้นเป็นระยะเพิ่งออกพรรษา ฝนยังไม่หยุดตกเสียทีเดียวถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อ เต็มไปด้วยโคลนตมที่สร้างความยากลำบากให้กับภิกษุเหล่านั้นในการเดินทางเป็นอย่างยิ่ง เมื่อภิกษุเหล่านั้นเดินทางถึงพระเชตวันก็มีสภาพที่โทรมมาก จีวรเปียกชุ่มไปด้วยน้ำฝนและเปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน บ้างก็ขาดวิ่นและเปื่อย องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเห็นถึงความยากลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น จึงทรงยกเป็นเหตุผลและทรงดำริที่จะให้พระภิกษุมีจีวรเพิ่มได้ และต่อมาก็ได้ทรงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุรับผ้าและกรานกฐินได้เมื่อออกพรรษาแล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตมาก่อนแล้ว “กฐินตฺถาโร จ นาเมส สพฺพพุทฺเธหิ อนุญญาโต” จึงได้ทรงเรียกประชุมสงฆ์ และประกาศอนุญาตให้พระภิกษุกรานกฐินได้ นางวิสาขมหาอุบาสิกาได้ทราบถึงพุทธานุญาต จึงได้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรกในพระพุทธศาสนาที่เมืองสาวัตถี ภายหลังภิกษุชาวเมืองปาวาเหล่านั้นได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

กรานกฐิน
เมื่อเกิดกรณีของพระภิกษุชาวเมืองปาวา 30 รูป ที่ได้รับความยากลำบากเรื่องเครื่องนุ่งห่มในการเดินทางหลังออกพรรษาเพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถีพระพุทธองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ และทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับผ้ากฐินได้หลังออกพรรษาแล้ว และมีจีวรเพิ่มได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเมื่อก่อนพระภิกษุจะมีจีวรได้เพียงผืนเดียวเท่านั้น ต่อมาเมื่อพระภิกษุเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น มีเหตุการณ์ยุ่งยากเกิดขึ้นอีกเช่นผ้าที่ถวายนั้นไม่เพียงพอแก่สงฆ์หลายรูปที่จำพรรษาอยู่ และหาที่ยุติไม่ได้ว่าใครควรจะเป็นผู้รับผ้ากฐินนั้น จึงทรงมีพุทธบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า ให้พระภิกษุที่อยู่ครบพรรษาตลอด 3 เดือนที่มีจีวรเก่ากว่าหมู่คณะ และภิกษุสงฆ์รูปนั้นเป็นผู้ฉลาดในพระธรรมวินัยเป็นผู้ได้รับผ้ากฐิน ส่วนพระภิกษุสงฆ์รูปอื่น ๆ ก็อนุโมทนา เมื่อได้รับผ้ากฐินแล้ว ภิกษุรูปนั้นก็ต้อง “กรานกฐิน” คือตัดเย็บตามแบบอย่างในพระวินัย แล้วย้อมให้เป็นจีวรทำให้แล้วเสร็จภายในวันนั้น โดยมีพระสงฆ์รูปอื่น ๆร่วมทำด้วย ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า
พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้สงฆ์นั้นสามัคคีกัน มีจิตใจที่ไม่ละโมบ รู้จักเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กิจกรรมที่ต้องร่วมกันทำในการกรานจีวรนี้ ถือว่าเป็นสังฆกรรมที่ประกอบไปด้วยกุศโลบายที่แยบคายในการใช้ชีวิตอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

จุลกฐิน

ยังมีกฐินอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้สำเร็จได้ยากกว่ากฐินทานทั่วไป กฐินชนิดนี้เรียกว่า“จุลกฐิน” ซึ่งแปลว่ากฐินน้อย หมายถึง กฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน คนไทยสมัยก่อนเรียกว่ากฐินแล่น แม้ในภาคอีสานปัจจุบันก็ยังมีเรียกชื่อนี้อยู่ วิธีจัดการจุลกฐินนี้ต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียวจึงต้องใช้กำลังคนมาก มีความสามัคคีมากด้วยจึงจะบรรลุ ุจุดหมายแห่งศรัทธาอันแรงกล้านี้ได้ในสมัยอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระไชยราชาเป็นต้นมา อยุธยาได้ทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่า มีอยู่หลายครั้งด้วยกันที่พม่ายกทัพข้ามเขตแดนเข้ามาประชิดกรุงศรีอยุธยาและล้อมกรุงไว้นาน บางครั้งกินเวลาข้ามปี ยามภาวะสงครามดังกล่าว บ้านเมืองย่อมไม่สงบ ประชาชนต้องอยู่อย่างระแวดระวัง บางพื้นที่ต้องอพยพหนีพวกข้าศึกเข้าป่า หรือไปหาทำเลที่ตั้งชุมชนใหม่ที่พอจะ
รับข้าศึกได้ สันนิษฐานว่างานบุญกฐินทานแบบจุลกฐินนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ด้วยสาเหตุที่ว่าชาวบ้านไม่มีเวลาตระเตรียมงานบุญกฐินได้ตามปกติ ก็เลยต้องรีบทำกันอย่างลวก ๆ คือไม่สามารถกำหนดการล่วงหน้าได้นานหลาย ๆ เดือน ว่าจะทำบุญกฐินวันใดเพราะอยู่ในช่วงศึกสงคราม เอาแน่นอนไม่ได้ งานกฐินจึงเป็นงานที่พวกชาวบ้านตัดสินใจอย่าง
ปัจจุบันทันด่วน ดูลาดเลาแล้วว่าพวกข้าศึกคงไม่มารบภายในสองสามวันนี้แน่ ก็กำหนดทอดกฐินกันเลย ซึ่งพวกชาวบ้านต้องช่วยกัน รีบทอผ้าให้เสร็จโดยเร็วและรีบถวายแด่พระสงฆ์ เพราะต่างคนต่างมีภาระหน้าที่ ต้องคอยระแวดระวังภัยสงคราม ผ้ากฐินคงจะหาซื้อไม่ได้ในยามศึกสงคราม จึงต้องช่วยกันทอ ฝ้ายก็คงจะหามาจากชาวบ้านเองจาก
ที่เก็บสะสมไว้บ้านละเล็กละน้อย ที่กำหนดให้เสร็จภายใน 1 วัน 1 คืนนั้น อาจจะเป็นไปได้ว่าถ้าไม่มีการกำหนดระยะเวลาการทำงาน งานอาจจะไม่เสร็จ จึงต้องมีการตั้งเป้ากำหนดเวลาที่ตายตัวในการทำงาน หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า ต้องรีบทอผ้ากฐินให้เสร็จภายในคืนนี้เพราะว่าวันรุ่งขึ้นจะต้องทำบุญกฐินทาน หลังจากนั้นจะต้องรีบอพยพย้ายครัวเรือนหนีพวกพม่ากันก็เป็นได้นี่คือการสันนิษฐานที่มาของจุลกฐิน หรือกฐินแล่น หรือกฐินโจรที่น่าจะเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาช่วงเกิดศึกสงคราม ที่มีข้าศึกมาประชิดเมือง ชาวบ้านไม่มีเวลาเตรียมการล่วงหน้าต้องทำกันอย่างปัจจุบันทันด่วน และหลังจากนั้นพอบ้านเมืองสงบเป็นปกติสุข พวกชาวบ้านคงเห็นประโยชน์ของการจัดกฐินทำนองนี้ว่านอกเหนือจากบุญกุศลที่ได้จากการทำบุญบำรุงพุทธศาสนาแล้ว ส่วนหนึ่งก็ได้ช่วยประสานความสามัคคีในหมู่เหล่าด้วย จึงยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา แล้วหากุศโลบายอธิบายว่าการตั้งใจทำงานทอผ้ากฐินให้เสร็จภายในกำหนด 1 วันนั้นจะได้อานิสงส์มากมาย ซึ่งคำอธิบายนี้สมเหตุสมผลอยู่มาก เพราะตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา เชื่อว่าบุญกุศลจะบังเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้กระทำ ผู้คนจึงนิยมทำกฐินทานแบบจุลกฐินนี้กันมากตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยามาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ขั้นตอนและพิธีกรรมจุลกฐิน

เดิมทีเดียวนั้นการทำบุญกฐินทานแบบจุลกฐินไม่ได้มีขั้นตอนมากมาย เพียงแต่ชาวบ้านรวมตัวกันทอผ้าให้เสร็จชั่ว 1 วัน 1 คืน รุ่งเช้านำไปถวายพระสงฆ์ในวัด พระสงฆ์รับผ้านั้นแล้วกรานกฐินอันเป็นเสร็จพิธี ไม่ได้มีการกำหนดเสียด้วยซ้ำว่าต้องทำวันนั้นวันนี้จู่ ๆ ก็ทอดเลยด้วยเหตุนี้จึงเรียกจุลกฐิน อีกชื่อหนึ่งว่า“กฐินโจร” แต่สมัยนี้ไม่ได้ยินกันแล้วต่อมาในภายหลังจึงเพิ่มขั้นตอนและกิจกรรมเข้าไปเพื่อให้ดูยิ่งใหญ่ และเพิ่มความสำคัญให้กับงานบุญกฐินมากขึ้น พิธีกรรมของจุลกฐินจึงสลับซับซ้อนและละเอียดในแต่ละขั้นตอนเพราะว่าเป็นกุศโลบายของคนในสมัยโบราณที่ต้องการเชื่อมความสามัคคีในชุมชน ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในงานบุญกฐิน จึงมีการเพิ่มกิจกรรมต่าง ๆ เข้าไปมากมาย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของงานจุลกฐินเลยทีเดียว

การปลูกฝ้าย

การปลูกฝ้ายเป็นกิจกรรมอันดับแรกของงานจุลกฐิน เนื่องจากว่าต้องใช้ฝ้ายเพื่อนำไปทอเป็นผ้ากฐิน ส่วนมากมักจะเริ่มปลูกกันต้นฤดูฝนหรือก่อนหน้านั้น กะระยะเวลาประมาณ 4 เดือนให้ฝ้ายโตเต็มที่ออกดอกติดสมอ เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนถึงช่วงออกพรรษา ดอกฝ้ายก็จะแตกออกจากสมอเป็นปุยขาวเต็มท้องทุ่ง พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว เพื่อนำมาทอให้เป็นผืนผ้า สำหรับทำผ้ากฐินได้เดิมทีเดียวนั้นในสมัยโบราณ กิจกรรมการปลูกฝ้ายไม่ได้รวมอยู่ในพิธีกฐินด้วย เนื่องจากว่า
งานจุลกฐิน หรือที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กฐินโจร” นั้นเป็นงานกฐินที่จัดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน ชาวบ้านคงจะไม่มีเวลาเตรียมการปลูกฝ้ายเป็นแน่ ในสมัยนั้นซึ่งเป็นยามศึกสงครามคงใช้ฝ้ายเก่าที่เก็บเกี่ยวไว้แล้วและเก็บไว้ตามบ้าน นำมาช่วยกันปั่นเป็นเส้นด้ายแล้วช่วยกันทอผ้าอย่างเร่งรีบ เพื่อจะได้ทอดกฐินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ต่อมาเมื่อบ้านเมืองสงบสุขพวกชาวบ้านเห็นว่าการเริ่มต้นงานกฐินจากการปลูกฝ้ายจะดูเป็นการตั้งใจทำบุญอย่างประณีตมากกว่า จึงได้กำหนดให้มีการปลูกฝ้ายลงไปด้วย ดังนั้นกิจกรรมแรกของงานจุลกฐินคือการปลูกฝ้าย เมื่อเวลาผ่านไปได้ผนวกพิธีกรรม
ทางศาสนาเข้าไปด้วยเพื่อความศักดิ์สิทธิ์

โดยก่อนที่จะมีการปลูกฝ้ายนั้น จะต้องจัดหาและเตรียมพื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูกเสียก่อนทำเลที่จะทำการเพาะปลูกนั้นจะต้องเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับพิธีกรรมปลูกฝ้าย ประการแรกคือมีขนาดประมาณ 1-2 งาน ซึ่งจะได้ผลผลิตฝ้ายที่เพียงพอ ประการที่สอง คือเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำการเพาะปลูกได้ดี น้ำไม่ท่วมขังหรือแห้งแล้งจนเกินไปอยู่ใกล้แหล่งน้ำพอสมควรที่จะใช้น้ำไปรดแปลงฝ้ายได้ ประการที่สามคืออยู่ไม่ไกลจากวัดที่จะทอดกฐิน สามารถเดินถึงกันได้
ภายในเวลาที่ไม่นานนัก เพราะเมื่อเก็บดอกฝ้ายแล้ว จะต้องแห่มาไว้ในอุโบสถเพื่อทำพิธีด้วยการเลือกพื้นที่สำหรับปลูกฝ้ายจึงยึดหลักเกณฑ์สามประการนี้

เมื่อได้พื้นที่แล้วก็ถึงขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ คือต้องทำการไถดินให้ร่วนซุยและเก็บเอาวัชพืชต่าง ๆ ออกจากแปลงให้หมด บำรุงดินด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักและรดน้ำให้ความชุ่มชื่นแก่ดินทำการล้อมรั้วหรือกั้นขอบเขตของแปลงฝ้ายเพื่อกันไม่ให้สัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ ไก่ เข้าไปกินต้นฝ้ายได้ การเตรียมพื้นที่อาจจะเตรียมการล่วงหน้าสัก 1-2 สัปดาห์ก่อนที่จะลงมือปลูกฝ้าย แต่ในบางพื้นที่แถวภาคอีสานที่แห้งแล้งไม่สมบูรณ์ มีการเตรียมพื้นที่ล่วงหน้านานเป็นเดือน ชาวบ้านจะปลูกพืชจำพวกถั่วเสียก่อน แล้วทำการไถต้นถั่วที่โตแล้วไปพร้อมกับดินซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ดินนั้นอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารจากต้นถั่วเมื่อเตรียมพื้นที่เสร็จแล้ว ก็กำหนดวันที่จะปลูกฝ้าย โดยวันดังกล่าวจะต้องเป็นวันมงคลของ
ปีนั้น ๆห้ามทำการปลูกฝ้ายในวันที่ไม่เป็นมงคล เช่น วันอุบาทว์หรือวันโลกาวินาศ วันที่เหมาะสมน่าจะเป็นวันธงชัย หรือวันอธิบดี หรือวันพืชมงคล ซึ่งตรงกับวันที่มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญก็ได้ ถือว่าเป็นวันมงคลอย่างยิ่งสำหรับการปลูกพืชแล้ว ในวันดังกล่าวก่อนที่จะมีการปลูกฝ้าย จะต้องนิมนต์พระสงฆ์ไปทำพิธีสวดถอนสิ่งชั่วร้ายออกจากแปลงพื้นที่เสียก่อน การสวดถอนนี้เพื่อประกาศพื้นที่ที่จะทำการปลูกฝ้ายให้เป็นพื้นที่สะอาดบริสุทธิ์เสียก่อน โดยพระสงฆ์จะยืนอยู่สี่มุมของแปลงฝ้าย มือจับด้ายสายสิญจน์ที่โยงรอบพื้นที่นั้นแล้วสวดคาถาถอนขึ้นพร้อมกัน เสร็จแล้วพระสงฆ์กลับมาอยู่ในปรัมพิธีข้างๆ แปลงฝ้าย

จากนั้นก็ถึงขั้นตอนการปลูกฝ้าย ซึ่งจะต้องใช้สาวพรหมจารีย์ 9 คน แต่งชุดขาวทั้งหมดเป็นผู้ไปหว่านเมล็ดฝ้าย
ลงในแปลง บางตำราอธิบายว่าที่ให้หญิงพรหมจรรย์แต่งชุดขาวเป็นผู้หว่านเมล็ดฝ้ายนั้น เปรียบเหมือนกับนางฟ้าบนสวรรค์ลงมาช่วยปลูกฝ้าย ระหว่างที่หว่านเมล็ดฝ้ายลงในแปลงนั้น พระสงฆ์สวดชยันโตไปด้วย นัยว่าแปลงฝ้ายนี้เป็นแหล่งฝ้ายที่บริสุทธิ์ ผลผลิตที่จะได้มาจะเป็นฝ้ายที่บริสุทธิ์ บางงานจัดให้มีการเสกเมล็ดฝ้ายก่อนทำการเพาะปลูกด้วย กล่าวคือนำเมล็ดฝ้ายไปไว้ในพระอุโบสถ 1 คืน ล่วงหน้าที่จะทำการหว่านเมล็ดฝ้ายลงในแปลง เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์ทำวัตรเย็น เมล็ดฝ้ายก็จะถูกเสกไปด้วย

นอกจากนั้นบางงานหญิงสาวพรหมจรรย์ทั้ง 9 คน จะต้องทำพิธีรับศีล 5 เสียก่อน เพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์ในศีลด้วย นัยว่าแปลงฝ้ายก็บริสุทธิ์ เมล็ดฝ้ายก็บริสุทธิ์ ผู้ปลูกก็บริสุทธิ์และสมบูรณ์ด้วยศีล ผลผลิตที่จะได้มาก็บริสุทธิ์ด้วย เมื่อหว่านเมล็ดฝ้ายแล้วก็ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีของการปลูกฝ้าย จากนั้นเป็นช่วงของการดูแลรักษา หมั่นรดน้ำใส่ปุ๋ย ระวังไม่ให้สัตว์หรือคนที่ไม่บริสุทธิ์เข้าไปข้องเกี่ยวกับแปลงฝ้าย เพราะจะทำให้แปลงฝ้ายเป็นมลทิน บางกรณีถึงกับล้อมรั้ว
อย่างแน่นหนาและอนุญาตให้แต่เฉพาะหญิงพรหมจรรย์หรือผู้ที่ถือศีล 5 ศีล 8 เข้าไปทำการรดน้ำถอนหญ้าใส่ปุ๋ยเท่านั้น ชาวบ้านบางท้องที่เชื่อกันว่า ถ้าไม่ดูแลแปลงฝ้ายให้บริสุทธิ์ฝ้ายจะไม่เจริญงอกงามออกดอกติดสมอ จะแคระแกรนและจะไม่ได้ผลผลิต ที่เพียงพอกับการทอผ้าผืนหนึ่ง ซึ่งจะยังผลให้ขาดอานิสงส์ในการทำบุญกฐินทานไปด้วย
ทั้งหมดคือที่มาของเหตุผลที่จะต้องรักษาแปลงฝ้ายไว้ให้บริสุทธิ์ไม่ให้เป็นมลทิน

เกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับฝ้าย

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 
ฝ้ายเป็นพืชที่ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด ที่ระบายน้ำได้ดี เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ดินร่วนทราย และดินร่วนเหนียว มีหน้าดินลึก มีอินทรียวัตถุสูง ต้องการปริมาณน้ำฝนตลอดฤดูปลูกประมาณ 800-1,000 มม. โดยเฉพาะช่วงงอก ออกดอก และดอกบาน จนถึงระยะสมอเริ่มแตกถ้าขาดน้ำจะทำให้ได้ผลผลิตและคุณภาพของเส้นใยลดลง

พันธุ์ฝ้าย

พันธุ์ฝ้ายที่แนะนำให้ปลูกในขณะนี้คือ ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 มีทรงต้นโปร่ง สมอค่อนข้างโต ผลผลิตสูง ผลผลิตปุยทั้งเมล็ดเฉลี่ย 300-350 กก./ไร่ ต้านทานต่อโรคใบหงิก ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้กว้างขวาง อายุเก็บเกี่ยว 120-160 วัน มีเปอร์เซ็นต์หีบและคุณภาพเส้นใยตรงตามความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรมสิ่งทอ สามารถติดต่อเมล็ดพันธุ์ฝ้ายได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท โดยใช้อัตราปลูกเพียง 2 กิโลกรัมต่อไร่

การเตรียมดิน

เตรียมดินก่อนปลูก 1 เดือน โดยไถดะ 1 ครั้ง ลึก 20-30 ซม. เพื่อพลิกดินและตากดิน 2-3 สัปดาห์ ให้หญ้าแห้งตาย แล้วไถแปรหรือพรวนอีก 1 ครั้ง ปรับพื้นที่ไม่ให้เป็นหลุมเป็นบ่อหรือแอ่งน้ำขัง แล้วคราดเก็บเศษซาก รากเหง้า หัวและไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง

การปลูก
– ควรปลูกระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โดยใช้ระยะระหว่างแถว 125-150 ซม ระยะระหว่าง
หลุม 50 ซม.
– ใช้ไม้ปลายแหลมทำหลุมลึกประมาณ 3-5 ซม. แล้วหยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด กลบดินหนา
ประมาณ 3 ซม. ถ้าดินมีความชื้นสูง และหนาประมาณ 5 ซม.ถ้าดินมีความชื้นต่ำ
– ฝ้ายอายุประมาณ 3 สัปดาห์ ถอนแยกให้เหลือ 2 ต้นต่อหลุม และเมื่ออายุประมาณ 4 สัปดาห์
ถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม

การใส่ปุ๋ย
ใส่ปุ๋ยเมื่อฝ้ายอายุ 3-4 สัปดาห์หลังงอก พรวนดินกลบโคนพร้อมกำจัดวัชพืช ปุ๋ยที่แนะนำให้ใส่มีดังนี้

เนื้อดิน

ใช้ปุ๋ยสูตร

อัตราที่ใช้
(กก./ไร่)

  ดินเหนียวสีดำ

 

  ดินเหนียวสีแดง

21-0-0
หรือ
46-0-0
12-24-12
หรือ
16-16-8

30

13
50

70

เนื้อดิน

ใช้ปุ๋ยสูตร

อัตราที่ใช้
(กก./ไร่)

  ดินทราย
ดินร่วนทราย
ดินร่วนเหนียวสีน้ำตาล

15-15-15
20-10-10
20-10-0
หรือ
15-15-15

70
60
30

40

 

การกำจัดวัชพืช

วัชพืชในแปลงฝ้ายจะเป็นที่สะสมของโรคแมลง ให้กำจัดโดยใช้แรงงานคน หรือ เครื่องจักรกล
หรือพ่นด้วยสารเคมีก่อนและหลังวัชพืชงอก
– ใช้สารเคมีก่อนวัชพืชงอก พ่นทันที่หลังปลูก เช่น อาลาคลอร์ เมโทลาคอร์ และไดยูรอน
– สารเคมีที่ใช้พ่นหลังวัชพืชงอก พ่นระหว่างแถวฝ้าย โดยไม่ให้โดนต้นฝ้ายเช่น พาราควอท

                                              ตารางการใช้สารกำจัดวัชพืชในแปลงฝ้าย

วัชพืช

สารกำจัดวัชพืช1/

อัตราการใช้/น้ำ 20 ลิตร2/

วิธีการใช้/ข้อควรระวัง

 วัชพืชฤดูเดียว

 

 

 

เมโทลาคลอร์ (40% อีซี)

150-500 มิลลิลิตร

 พ่นคลุมดินหลังปลูก ก่อนฝ้ายและ
วัชพืชงอก ขณะพ่นดินต้อง
มีความชื้น

 

 

อะลาคลอร์
(48% อีซี)

125-150มิลลิลิตร

ไดยูรอน
(80% ดับบลิวพี)

35-70
กรัม

พาราควอท
(27.6% เอสแอล)

75-100
มิลลิลิตร

 พ่นก่อนเตรียมดิน 3-7 วัน  หรือพ่นระหว่างแถวฝ้ายเมื่อวัชพืชมี
3-4 ใบ  หรือก่อนวัชพืชออกดอก
 ระวังละอองสารสัมผัสต้นฝ้าย

 วัชพืชข้ามปี

 

ไกลโฟเสท
(48% เอสแอล)

125-200
มิลลิลิตร

 พ่นกำจัดวัชพืชก่อนปลูก หรือก่อน
เตรียมดิน 7-15 วัน

กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม
(15% เอสแอล)

400-600
มิลลิลิตร

 1/ ในวงเล็บ คือ เปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์และสูตรของสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
2/ ใช้น้ำอัตรา 40-60 ลิตรต่อไร่

โรคฝ้ายที่สำคัญ   ได้แก่     โรคใบหงิก โรคใบไหม้ และโรคเหี่ยว

การป้องกันกำจัดโรคฝ้าย

  1. ใช้พันธุ์ฝ้ายที่ค่อนข้างต้านทานโรคดังกล่าว
  2. ทำลายพืชอาศัย เช่น สาบแร้งสาบกา
  3. คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีแคปแทน (50% ดับบลิวพี) อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดฝ้าย  1 กิโลกรัม
    ก่อนที่จะปลูก เพื่อป้องกันโรคใบไหม้ ในกรณีที่พื้นที่นั้นมีโรคนี้ระบาด
  4. ทำลายต้นฝ้ายที่เป็นโรค โดยถอนแล้วนำไปเผา
  5. ปลูกพืชหมุนเวียนในแหล่งที่มีโรคระบาดรุนแรง

แมลงศัตรูฝ้ายที่สำคัญ  ได้แก่     เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว ไรแดง ไรขาว หนอนเจาะสมอฝ้าย และหนอนกระทู้กินใบ

การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย
ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด โดยคลุกเมล็ดก่อนปลูก หรือฉีดพ่นแมลงโดยตรงหลังปลูก มีข้อควรคำนึงคือ

  1. ควรมีการตรวจนับแมลงก่อนใช้สารเคมี
  2. การใช้สารเคมีไม่ควรใช้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งติดต่อกันตลอดฤดูปลูก เพราะจะทำให้แมลงดื้อยาได้
  3. ควรอ่านข้อควรระวังและวิธีใช้ในฉลากข้างขวดสารเคมี และปฏิบัติตามด้วยความระมัดระวัง

การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย

แมลงศัตรูพืช

สารป้องกันกำจัด
แมลงศัตรูพืช1/

อัตราการใช้/น้ำ 20 ลิตร2/

วิธีการใช้/ข้อควรระวัง3/

หยุดการใช้สาร
ก่อนเก็บเกี่ยว

เพลี้ยจักจั่นฝ้าย
เพลี้ยอ่อนฝ้าย
เพลี้ยไฟฝ้าย
แมลงหวี่ขาวยาสูบ

อิมิดาโคลพริด
(70% ดับบลิวพี)

5 กรัม/เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ขณะปลูกดินต้องมีความชื้น

อิมิดาโคลพริด
(5% อีซี)

20
มิลลิลิตร

พ่นให้ทั่วต้นฝ้าย เมื่อพบแมลงระบาด

21

 

 

 

แมลงศัตรูพืช

สารป้องกันกำจัด
แมลงศัตรูพืช1/

อัตราการใช้/น้ำ
20 ลิตร2/

วิธีการใช้
/ข้อควรระวัง3/

หยุดการใช้สาร
ก่อนเก็บเกี่ยว

หนอนเจาะสมอ ฝ้าย

 

 

 

 

เบตาไซฟลูทริน
(2.5% อีซี)

30
มิลลิลิตร

พ่นให้ทั่วต้นฝ้าย เมื่อพบหนอนเจาะสมอฝ้าย
6 ตัวต่อ 30 ต้น จากการสุ่มนับในพื้นที่ 5 ไร่

14

คลอร์ฟลูอาซูรอน
(5% อีซี)

20-30
มิลลิลิตร

7

ไซฟลูทริน
(10% อีซี)

20
มิลลิลิตร

แลมบ์ดาไซฮาโลทริน
(5% อีซี)

20-25
มิลลิลิตร

8

ไทโอดิคาร์บ
(37.5% เอฟ)

60
มิลลิลิตร

28

1/ ในวงเล็บ คือ เปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์และสูตรของสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
2/ ใช้น้ำอัตรา 40-60 ลิตรต่อไร่
3/ ควรหยุดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเมื่อฝ้ายเริ่มแตกปุย
หมายเหตุ
โดยปกติแล้วปัญหาสำคัญของฝ้ายคือ แมลงและโรคที่สามารถเข้าทำลายฝ้ายได้ตลอดฤดูปลูก
ของฝ้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งที่ปลูกฝ้ายแปลงใหญ่ และปลูกติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน
จะเป็นแหล่งสะสมโรคและแมลงที่ดี เนื่องจากบ้านเรามีอากาศร้อนชื้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโต
และแพร่กระจายของโรคและแมลงดังกล่าว แต่สำหรับแปลงปลูกฝ้ายจุลกฐิน โดยส่วนใหญ่
มักปลูกในพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยปลูกฝ้ายมาก่อน และเป็นแปลงขนาดเล็กไม่เกิน 1 ไร่ โอกาสที่
โรค-แมลงเข้าทำลายจึงมีน้อยกว่า ดังนั้นหากไม่พบโรคและแมลงศัตรูเข้าทำลาย ก็ไม่มีความ
จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด

การเก็บเกี่ยว

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

  1. เก็บปุยครั้งแรกเมื่อฝ้ายอายุ 120 วัน หรือสมอฝ้ายชุดแรกแตกปุยเต็มที่ ต่อมาเก็บทุก
    7-10 วัน
  2. ควรเก็บในช่วงที่แดดออก หรือไม่มีน้ำค้างเกาะบนปุยฝ้าย เพื่อป้องกันปุยฝ้ายปนเปื้อน
    จากสิ่งสกปรก

วิธีการเก็บเกี่ยว

  1. เลือกเก็บเฉพาะสมอที่แตกปุยเต็มที่ และแห้งสนิท
  2. ใช้มือเก็บปุยฝ้ายที่ขาวสะอาด ไม่ให้มีสิ่งเจือปน เช่น เศษใบ ริ้วประดับดอก หรือวัชพืช ติดมา
    กับปุยฝ้าย
  3. เก็บปุยฝ้าย แยกระหว่างปุยจากส่วนโคนต้น กลางต้น และยอด โดยทั่วไปปุยฝ้ายจากส่วน
    กลางของลำต้นจะมีคุณภาพดีกว่าจากส่วนอื่น ๆ
  4. ปุยฝ้ายที่เก็บได้จากสมอที่แตกไม่สมบูรณ์ควรแยกบรรจุถุงไว้ต่างหาก และไม่ควรนำมาใช้
  5. ให้ใช้ถุงผ้าดิบเก็บปุยฝ้าย

วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว

          การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
1. ปุยฝ้ายที่แห้งไม่สนิทควรผึ่งลม บนแคร่ไม้ในโรงเรือน

          การเก็บรักษาผลผลิตและการบรรจุ

  1. บรรจุปุยฝ้ายในถุงผ้าหรือกระสอบป่าน ห้ามใช้ถุงปุ๋ยหรือถุงพลาสติก เพราะเส้นใยพลาสติก
    อาจปะปนไปกับปุยฝ้าย เมื่อนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้ย้อมสีไม่ติด
  2. ใช้มือและเท้าที่สะอาดกดปุยฝ้ายในถุงให้แน่น ห้ามใช้ไม้กระทุ้ง เพราะจะทำให้เมล็ดฝ้ายแตก
    ปุยฝ้ายเกิดการปนเปื้อน และเมล็ดฝ้ายเสื่อมคุณภาพ
  3. ใช้เชือกปอเย็บปากถุงผ้า หรือกระสอบป่านที่บรรจุปุยฝ้าย ห้ามใช้เชือกพลาสติก
  4. กระสอบที่บรรจุปุยฝ้ายควรเก็บไว้ในโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และห่างไกลจากสัตว์
    โดยเฉพาะสุนัข แมว และไก่ เพราะขนของสัตว์เหล่านี้จะติดไปกับปุย ทำให้ย้อมสีไม่ติด
  5. ไม่ควรเก็บปุยฝ้ายไว้บนบ้านหรือใกล้กับไฟ เพราะปุยฝ้ายเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดี
  6. ไม่ควรเก็บปุยฝ้ายไว้ในโรงเรือนเกิน 6 เดือน เพราะปุยฝ้ายจะชื้น และสีของปุยจะ
    เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

หลังจากหีบฝ้ายเพื่อแยกเส้นใยออกจากเมล็ดแล้ว เมล็ดฝ้ายที่ได้สามารถนำมาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ โดยบรรจุในกระสอบพลาสติกหรือกระสอบป่าน และเก็บไว้ในโรงเก็บที่ไม่มีแมลงศัตรูรบกวน จะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ได้ 10-12 เดือน และไม่ควรนำเมล็ดฝ้ายมาปลูกทันทีหลังการเก็บเกี่ยวเพราะเมล็ดจะไม่งอก เนื่องจากมีระยะพักตัว ควรเก็บเมล็ดไว้ประมาณ 35 วัน จึงจะนำมาปลูกได้

เตรียมการและกำหนดวัน

เมื่อผ่านขั้นตอนการปลูกและดูแลรักษาแปลงฝ้ายแล้วก็รอเวลาออกพรรษา ระหว่างที่อยู่ใน ช่วงหน้าฝนหรือฤดูเข้าพรรษา ชาวบ้านหรือเจ้าภาพจะปรึกษาหารือกันกับทางวัดเพื่อกำหนดวันทำพิธีทอดกฐิน ซึ่งต้องอยู่ภายในกำหนดเขตของการทอดกฐินด้วย คือไม่ให้เกินวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยมากแล้วทางวัดก็จะแล้วแต่ศรัทธาและความสะดวกของญาติโยมเพราะงานส่วนใหญ่เป็นงานทางฝ่ายฆราวาสเสียมากกว่า หมู่พระสงฆ์มีภาระหน้าที่แต่เพียงรับผ้ากฐินและกรานกฐินเท่านั้น  ในสมัยปัจจุบันนิยมจัดกันให้ตรงกับวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ เพราะผู้ที่อยู่ไกลๆในจังหวัดอื่น ๆ จะได้สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ด้วย โดยบางวัดที่จัดให้มีงานกฐินอย่างใหญ่โตถึงกับพิมพ์กำหนดการและรายชื่อกรรมการทั้งหลาย แจกจ่ายเพื่อบอกบุญกันไปอย่างถ้วนหน้า แต่ในบางวัดก็จัดอย่างสมถะพอเพียง บอกกันไปแต่ในหมู่ผู้มีจิตศรัทธาแบบปากต่อปากเท่านั้น

เก็บฝ้ายและปั่นเส้นด้าย

เมื่อกำหนดวันได้แล้ว จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า กำหนดหน้าที่ของผู้ร่วมงานกิจกรรมจริง ๆ ของงานจุลกฐินเริ่มก่อนวันที่จะมีพิธีทอดกฐิน 1 วัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่พอฟ้าเริ่มสางชาวบ้านจะไปรอกันที่แปลงฝ้ายที่ได้ปลูกไว้ ซึ่งติดสมอแตกปุยสีขาว สะพรั่งเต็มท้องทุ่ง หญิงพรหมจรรย์นุ่งขาวห่มขาวทั้ง 9 คน ที่ได้รับศีลรักษาศีลครบถ้วนแล้วก็ พากันเข้าไปเก็บฝ้ายในแปลง ขณะเดียวกันพระสงฆ์จะสวดชยันโตชัยมงคลคาถา เมื่อเก็บฝ้ายได้ปริมาณพอเพียงแล้วก็จะแห่ฝ้ายไปยังวัด คราวนี้พวกชาวบ้านที่รออยู่นอกแปลงฝ้ายจะร่วมขบวนแห่ด้วย มีการลั่นฆ้อง ตีกลอง เป่าแตร เป็นการป่าวประกาศให้ทราบทั่วกันทั้งมวลมนุษย์และเทวดา ว่าบัดนี้สืบไปงานบุญมหากุศลจะได้เริ่มต้นแล้วในสมัยโบราณใครได้ยินเสียงกลองเสียงฆ้องก็จะออกมาจากบ้านของตน และร่วมขบวนแห่ดอกฝ้ายไปยังวัดด้วย เมื่อถึงวัดแล้วก็จะนำฝ้ายไปไว้ในศาลาหรือโรงพิธี เพื่อแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้ายเรียกว่า “อิ้วฝ้าย” เมล็ดฝ้ายที่แยกออกมานั้นจะนำไปเก็บไว้ทำพันธุ์เพื่อเพาะปลูกในปีต่อไป พอแยกเอาเมล็ดฝ้ายออกแล้วก็ช่วยกัน “ดีดฝ้าย” ให้ขึ้นฟูเป็นปุย จากนั้นปั่นให้เป็นเส้นด้าย เปียเส้นด้ายออกเป็นไจ กรอออกเป็นเข็ด แล้วฆ่าด้วยน้ำข้าว นำไปตากให้แห้ง เสร็จแล้วใส่กงปั่นเส้นด้ายลงกระสวยพร้อมที่จะทอ ขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยุ่งยากและกินเวลามาก ระหว่างที่พวกหนึ่งทำงานตามขั้นตอน
เตรียมเส้นด้าย อีกพวกหนึ่งก็จะเตรียมกี่สำหรับทอผ้า โดยประกอบส่วนต่าง ๆ ของกี่เข้าด้วยกัน ส่วนมากจะเตรียมไว้มากกว่า 1 กี่ เพื่อความรวดเร็วในการทอผ้า การปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้ายนี้ต้องอาศัยความชำนาญมาก ถ้าไม่มีความชำนาญ พระอาทิตย์ตกดินแล้วอาจยังกรอด้ายใส่ลงในกระสวยไม่เสร็จ ดังนั้นในแต่ละขั้นตอนจะเสียเวลาไม่ได้ ชาวบ้านจะต้องแบ่งกลุ่มช่วยกันทำงานเพื่อแข่งกับเวลาอย่างเต็มที่ ส่วนคนที่ช่วยเรื่องการทอผ้าไม่ได้ ก็ทำอย่างอื่นเช่น    ตั้งโรงครัว เตรียมเรื่องอาหารการกิน คอยส่งส่วยให้กับผู้ที่ทำงาน ที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนกันออกมาพักเป็นระยะไป

การทอฝ้าย

การทอผ้าเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนมาก เพราะว่าคนหนึ่งนั้นจะนั่งทอผ้าไม่ได้นาน ดังนั้นจะต้องจัดคนทอคอยสลับหมุนเวียนกันไป ทอกันไปตั้งแต่หัวค่ำยันฟ้าสาง ทำให้เสร็จชั่วคืนเดียวคนอื่น ๆ ที่ไม่มีฝีมือในการทอผ้าก็มาร่วมกันช่วยกันจัดสถานที่ จัดเตรียมเครื่องบริวารกฐินหรือทำอย่างอื่นไป และเพื่อเป็นการคลายบรรยากาศที่ตึงเครียดของการรีบเร่งทำงาน ใครที่ร้องรำทำเพลงเป็นก็จะมาเล่นเพลง มาขับ มารำกันให้เป็นที่สนุกสนานตลอดคืน ในสมัยก่อนจะมีทั้งเพลงเรือ เพลงอีแซวกลองยาว การฟ้อนรำและการเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ ใครที่ทำอะไรไม่ได้เลยก็จะมาดูและให้กำลังใจไปตลอดทั้งคืนด้วย นับว่าเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแท้จริง แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของคนไทยที่มีมา
แต่สมัยโบราณ และคงเป็นกุศโลบายอันชอบธรรมของบรรพชนอีกประการหนึ่งด้วย ที่ต้องการเสริมสร้างความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะ จึงได้จัดกิจกรรมงานบุญเช่นจุลกฐินหรือกฐินแล่นนี้ขึ้นมาพอใกล้จะรุ่งสาง ผ้ากฐินก็ทอเสร็จพอดี ชาวบ้านจะช่วยกันพับและใส่พานตั้งไว้ พร้อมที่จะถวายพระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น งานจุลกฐินที่สนุกสนานและตื่นตาตื่นใจที่สุดเห็นจะเป็นในส่วนนี้ คือก่อนหน้าวันที่จะมีการทอดกฐินจริง 1 วัน เพราะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายมีผู้คนมาร่วมกิจกรรมหลาย ๆ อย่างตลอด 1 วันกับ 1 คืน เป็นการรวมญาติพี่น้องกันไปด้วย บางคนที่ย้ายไปต่างถิ่นก็ถือโอกาสกลับไปร่วมงาน เป็นที่พบปะกันของหนุ่มสาว    และยังเป็นที่อวดฝีมือทางศิลปะ วิทยาการต่าง ๆ อีกด้วย คือมีการแสดงพื้นบ้านแบบต่างๆ เช่น
เพลงเรือ เพลงอีแซว การฟ้อนรำที่หลากหลาย ซึ่งเป็นศิลปการแสดงทางวัฒนธรรมของคนไทย

บุญทานทอดกฐิน

ในวันพิธีทอดกฐินเป็นเรื่องของงานบุญ ทุกคนจะกลับไปบ้านเพื่ออาบน้ำแต่งตัวอย่างสวยงาม กลับมายังวัดด้วยจิตใจที่เบิกบาน พอพระฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ พวกชาวบ้านก็แห่ผ้ากฐินและเครื่องบริวารกฐินเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ แล้วนำไปตั้งไว้ภายในโบสถ์ มีพุ่มดอกไม้ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง มีกลองปี่ประโคมไปในขบวนแห่ด้วย เมื่อผู้มีจิตศรัทธาทุกคนพร้อมกันภายในโบสถ์ ประธานในพิธีฝ่ายฆราวาสจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล พระท่านจะให้ศีล เมื่อรับศีลแล้วเจ้าภาพจึงยกผ้ากฐินมาประคองไว้สองมือพร้อมกับพนมมือไปด้วย ตั้งนะโม 3 จบ แล้วกล่าวคำถวายผ้ากฐิน ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือแบบธรรมยุติกนิกาย และแบบมหานิกาย เมื่อกล่าวคำถวายผ้ากฐินเสร็จแล้ว ก็ทอดวางผ้า
กฐินลงต่อหน้าหมู่พระสงฆ์ หลังจากนั้นพระสงฆ์ทั้งหลายก็จะสาธุการโดยกล่าวคำว่า “สาธุ” ถ้ามีเครื่องบริวารกฐินก็ถวายด้วย เสร็จแล้วผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายนั่งฟังพระสงฆ์สวดอปโลกน์กฐินการสวดอปโลกน์กฐิน คือกิจกรรมของพระสงฆ์ที่จะเลือกและประกาศ ให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่อยู่ครบไตรมาสพรรษาภายในอาวาสเดียวกัน เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับผ้ากฐิน  เมื่อหมู่สงฆ์ได้เลือกและสวดให้ผ้ากฐินแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแล้ว ก็ถึงพิธีกรานกฐิน ซึ่งถือว่าเป็นสังฆกรรม ต้องทำตามกฐินนัตถารวินัยกรรม ให้ถูกต้องตามหลักพระวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพุทธานุญาตไว้ คือพระภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวร ผืนใดผืนหนึ่ง ตัด เย็บ ย้อม ตากแห้งเรียบร้อยดีแล้ว จึงเรียกประชุมสงฆ์พร้อมกันในอุโบสถ พระภิกษุผู้รับผ้ากฐินสวดถอนผ้าเก่า และอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าเป็นชุดไตรจีวร

ตัด เย็บ และย้อมผ้าไตรจีวร

ขั้นตอนต่อไปก็คือการตัด เย็บ และย้อมผ้าไตรจีวร ซึ่งในสมัยพุทธกาลเป็นกิจกรรมที่พระสงฆ์ต้องทำกันเอง ทายกเป็นเพียงแต่ผู้ถวายผ้ากฐินเท่านั้น ตามพระวินัยหลังจากที่พระสงฆ์ได้รับผ้ากฐินแล้วต้องกรานผ้ากฐินนั้น ตัด เย็บ และย้อมให้เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ในพระสูตรกล่าวว่า พระอรหันต์เจ้าหลายองค์เช่น พระมหากัสสัปปะ พระอานนท์ พระสารีบุตร หรือแม้แต่องค์พระบรมศาสดาเองก็ยังเสด็จลงมาช่วยทำผ้าจีวรนั้น หมายถึงผ้าที่ใช้ห่มคลุมร่างกายของพระภิกษุสงฆ์ ภาษาพระใช้คำว่า “อุตราสงค์” ส่วนผ้าที่พระใช้นุ่งนั้น ชาวบ้านเรียกว่าสบง ภาษาพระใช้คำว่า “อนฺตรวาสก” และผ้าที่พระท่านใช้พาดบ่าเรียกเหมือนกันคือ “สังฆาฏิ” ผ้าทั้ง 3 ผืนนี้ภาษาพระท่านเรียกรวมกันเป็น “ผ้าไตรจีวร” ซึ่งเป็นเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญมากสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ตามพระวินัยพระภิกษุสงฆ์จะต้องเก็บรักษาผ้าไตรจีวรไว้กับตัวตลอดเวลา จะขาดผืนใดผืนหนึ่งไปไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาเดินทางออกนอกอาวาสซึ่งตนเองพักอยู่ มีข้อกำหนดไว้ในพระวินัยมากมายเกี่ยวเนื่องด้วยผ้าไตรจีวร ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ในการกรานผ้ากฐิน พระสงฆ์ต้องใช้ผ้ากฐินนั้นตัดเย็บให้เป็นผ้าไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทั้งสามผืนโดยมากในสมัยปัจจุบันมักตัดเย็บเป็นผ้าสบง หรือผ้า “อนฺตรวาสก” เพราะว่าเป็นผ้าไตรจีวรที่เป็นผืนเล็กที่สุดและสามารถตัดเย็บให้เสร็จลงได้เร็วที่สุด

ขั้นตอนแรกคือต้องตัดผ้ากฐินตามพระวินัย ถ้าเป็นผ้าจีวรก็ต้องตัดให้เป็นขันธ์ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ทรงวางไว้ตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล คือโปรดให้พระอานนท์ออกแบบผ้าจีวรสำหรับพระภิกษุสงฆ์ พระอานนท์ก็ได้ทรงออกแบบถวายเป็นที่พอพระราชหฤทัย โดยใช้ผืนนาของชาวมคธเป็นแบบอย่าง ในปัจจุบันนี้ผ้าจีวรของพระภิกษุสงฆ์สามารถตัดเย็บได้เป็น 5 ขันธ์  7 ขันธ์ และ 9 ขันธ์ ถ้าตัดเป็นผ้าสบงหรือผ้าสังฆาฏิ เมื่อตัดเสร็จแล้วก็ช่วยกันเย็บ ในสมัยโบราณพระสงฆ์ช่วยกันเย็บเอง แต่ต่อมาพระภิกษุมีความชำนาญในการเย็บน้อย ถ้าเย็บกันเองเกรงจะไม่ทันกาล จึงมีญาติโยมอาสาเข้าไปช่วยในส่วนนี้ แต่บางวัดตามชนบท โดยเฉพาะวัดป่า พระสงฆ์จำนวนมากยังคงเย็บกันเอง เมื่อเย็บเสร็จแล้วก็ทำการย้อมให้เป็นสีตามพระวินัย คือสีจากไม้แก่นขนุน เสร็จแล้วซักตากให้แห้ง รีดให้เรียบแล้วจัดพับ เพื่อพระสงฆ์จะได้นำไปสวดญัตติตามพระวินัยต่อไป

อานิสงค์ของกฐินทานและจุลกฐิน

การทำบุญในพุทธศาสนาย่อมเกิดอานิสงส์แก่ผู้กระทำมากน้อยตามแรงศรัทธา และความตั้งใจ อานิสงส์ผลบุญนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสามประการคือ
1. ผู้ให้ทานจะต้องมีจิตศรัทธาและมีความตั้งใจดี
2. ผู้ที่รับจะต้องเป็นผู้ที่มีศีลธรรมอันดี สมควรแก่การได้รับทาน
3. ทานที่ให้นั้นจะต้องเป็นสิ่งของที่บริสุทธิ์ หามาได้ด้วยความสุจริต

อานิสงค์กฐินสำหรับผู้ให้ผ้ากฐินเป็นทาน

ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ว่า อานิสงส์ที่เกิดจากการให้กฐินทานนั้นมีมากอยู่ ถ้าวิเคราะห์ดูตามหลักความเชื่อเรื่องกรรม ซึ่งเป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้วจะเห็นว่าจริงหนึ่งในกุศลกรรมบทสิบอย่าง ที่ชาวพุทธแบบเถรวาทยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด ตั้งแต่โบราณมานั้นคือทาน ดังจะเห็นได้จากการที่คนไทยนิยมให้ทานในทุกสังคมทุกชนชั้น การถวายผ้ากฐินนั้นก็เป็นทานอย่างหนึ่ง บุญกุศลย่อมบังเกิดขึ้นกับผู้ให้ เนื่องจาก

  1. กฐินทานถือว่าเป็นสังฆทาน คือทานที่ให้กับพระสงฆ์ อานิสงส์ที่ได้ย่อมมีมากเพราะพระสงฆ์
    เป็นนักบวชผู้ถือศีล มีศีลมากกว่าคนธรรมดาดังนั้นการให้ผ้าเป็นทานแก่พระสงฆ์ย่อมมีมาก
    กว่าการให้กับบุคคลธรรมดา ที่มีศีลน้อยกว่าหรือไม่มีศีลเลย
  2. กฐินทานเป็นกาลทาน คือเป็นทานที่ทำได้เฉพาะช่วงเวลา ไม่สามารถทำได้ตลอดกาล จึงทำได้ยาก กล่าวคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบัญญัติไว้ว่า การรับผ้ากฐินสำหรับภิกษุสงฆ์นั้น กระทำได้เฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น จะทำนอกเหนือจากเวลานี้ไม่ได้ ถือว่าเป็นพระวินัยที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งตลอดทั้งปีจะถวายผ้ากฐินได้เพียง 29 วันเท่านั้น จึงเป็นทานที่ทำยากกว่าการถวายผ้าทั่วไป เช่น
    การถวายผ้าบังสุกุล ถวายผ้าป่า สามารถทำได้ทั้งปี เวลาใดเดือนใดก็ได้ไม่จำกัด ดังนั้นกฐินทานหรือการถวายผ้ากฐินจึงทำได้ยากกว่า เมื่อทำได้ยากกว่าอานิสงส์ย่อมยังเกิดมากกว่า
    เป็นลำดับด้วย
  3. การรับกฐินทานเป็นสังฆกรรม ซึ่งสำคัญมากทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือพระสงฆ์จะรับกฐินได้นั้น
    ต้องมีตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป และสงฆ์เหล่านั้นต้องอยู่ครบถ้วนไตรมาส ภายในอาวาสเดียวกัน ซึ่งต่างจาก
    การรับทานอื่น ๆ ที่อาจจะใช้พระสงฆ์น้อยกว่า เช่นสังฆทานทั่วไปใช้เพียงรูปเดียวก็ได้ ด้วยเหตุผลที่การรับกฐินทานเป็นสังฆกรรม จึงทำให้ความสำคัญของกฐินทานมีมากกว่า และแน่นอนอานิสส์ย่อมส่งผลเหนือกว่าทานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสังฆกรรม
  4. การที่กฐินทานเป็นสังฆกรรมที่จะสำเร็จได้ ด้วยการสวดทุติยกรรมวาจา ภายในเขตสีมาเท่านั้น กล่าวคือพระสงฆ์จะต้องรับทาน และสวดญัตติภายในพระอุโบสถหรือภายในขอบเขตสีมา
    ซึ่งประกาศเป็นที่บริสุทธิ์แล้ว ทานที่ให้ภายใต้สถานที่อันบริสุทธิ์ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นมงคล หาได้ยาก อานิสงส์ย่อมมีมากเหนือทานอื่นใด
  5. การถวายผ้ากฐินเป็นทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุลกฐิน ผ้ากฐินที่จะให้เป็นทานนั้นต้องทอกันขึ้นเอง ด้วยน้ำพักน้ำแรงที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผู้ให้ทานต้องมีความตั้งใจสูง มีวิริยะอุตสาหะ
    มีความสามัคคี และมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ผ้ากฐินถึงจะทอสำเร็จได้ภายในคืนเดียว ความเพียร
    พยายาม และความเชื่อศรัทธาในบุญกุศลที่จะบังเกิดขึ้น อานิสงส์ย่อมส่งผลอย่างหาที่สุดไม่ได้

            ยังมีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับอานิสงส์ของกฐินทาน ครั้งหนึ่ง ในช่วงปลายพุทธกาลก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพาน หลังจากที่ได้ทรงปลงพระชนมายุสังขารที่เมืองปาวาแล้ว พระอานนท์ได้ทูลทัดทานว่า ให้เสด็จไปยังเมืองที่ใหญ่และเจริญรุ่งเรืองกว่าเมืองกุสินาราเถิด เพราะเกรงว่าการที่เสด็จปรินิพพานที่เมืองเล็ก ๆ จะไม่สมพระเกียรติ ในครั้งนั้นพระบรมศาสดาก็ได้ทรงชี้แจงแก่พระอานนท์ว่า เมืองกุสินารานั้นหาได้เป็นอย่างที่พระอานนท์คิดไม่
ในอดีตกาลเมืองกุสินาราเคยเป็นราชธานีที่ใหญ่โตและเจริญมั่งคั่ง และทรงตรัสเรื่อง “อติเทวราชชาดก”
ให้พระอานนท์ฟัง เรื่องมีอยู่ว่าในอดีตกาลอันไกล ได้มีพระบรมโพธิสัตว์จุตติลงมาบังเกิดในมหานครชื่อว่ากุสาวดี ได้เป็นพระบรมจักรพรรดิ์ทรงพระนามว่า “อติเทวบรมจักรพรรดิ์” ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่ในกุสาวดีราชธานี สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการคือ 1 จักรแก้ว 2. ช้างแก้ว 3. ม้าแก้ว  4. แก้วมณี 5. นางแก้ว 6. ขุนคลังแก้ว 7. ขุนพลแก้ว ซึ่งเป็นอานิสงส์สืบเนื่องมาจากการถวายกฐินทานในอดีตชาติ เมืองกุสาวดีในอดีตก็คือเมืองกุสินาราในสมัยพุทธกาล
และพระเจ้าอติเทวราช บรมจักรพรรดิ์ในอดีตก็คือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระสมณโคดมนั่นเอง พระเจ้าอติเทวราชทรงเสวยราชสมบัติอยู่ในทวีปทั้ง 4 มีเมืองกุสาวดีเป็นราชธานี เมื่อเสด็จไปที่ใดก็ทรงพระราชทานทรัพย์ให้แก่ประชาชน ได้ทรงสั่งสอนให้ประชาชนรักษาศีลตามแบบอย่างพระองค์ หลังจากที่ได้เสด็จสวรรคตแล้ว ก็ได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่ถึง 8 หมื่น 4 พันชาติ แล้วได้เกิดเป็นพระบรมจักรพรรดิราช
อีก 8 หมื่น 4 พันชาติ ได้เป็นราชาเอกราชอยู่อีก 8 หมื่น 4 พันชาติ ได้เป็นอัครมหาเสนาบดีอีก 8 หมื่น
4 พันชาติ ได้เป็นปุโรหิตาจารย์อีก 8 หมื่น 4 พันชาติ และได้เป็นมหาเศรษฐีอีก 8 หมื่น 4 พันชาติ ซึ่งเป็นการเสวยสุขที่ยาวนานมาก จากชาดกที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ของกฐินทานที่บุคคลพึงได้รับ ซึ่งเป็นผลานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำทานใด ๆ เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรมีศรัทธาและปฏิบัติสืบไป

บรรณานุกรม
กรมวิชาการเกษตร. 2544. เกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับฝ้าย. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 20 น.

ฉัตต์ ปิยะอุย. 2549. จุลกฐินงานบุญประเพณีในพระพุทธศาสนา. หนังสือแจกในงานจุลกฐิน ณ วัดศีลขันธาราม
อำเภอโพธิ์ทอง. จังหวัดอ่างทอง.
บริษัทยงสุวัฒน์อกรีเทรด. 2549. ขั้นตอนการทำผ้าไตร “จุลกฐิน” ณ วัดตากฟ้า.

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์. เอกสารแนะนำการปลูกฝ้าย. กรมวิชาการเกษตร. กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์.

สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2549. ฝ้ายแกมไหม.
จดหมายข่าวโครงการฝ้ายแกมไหม ปีที่ 7 ฉ.7 น.2-3

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *