หนอนกระทู้หอม (Beet armyworm : Spodoptera exigua Hubner) โดยปกติ ไม่ได้เป็นแมลงศัตรูสำคัญของมันสำปะหลัง อาจพบเข้าทำลายได้บ้างแต่ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ที่ผ่านมาไม่มีรายงานการระบาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนแมลงศัตรูสำคัญที่มักก่อให้เกิดความเสียหายให้กับมันสำปะหลัง พบระบาดได้ทั่วไป และมักระบาดรุนแรงในสภาพอากาศร้อน แห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง ไรแดง แมลงหวี่ขาวยาสูบ เพลี้ยหอยเกล็ด
ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนสูง จึงอาจส่งผลกระทบต่อแมลงศัตรูพืช พฤติกรรมการทำลาย และการเข้าทำลายในพืชชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พืชอาหารหลักของหนอนกระทู้หอม
หนอนกระทู้หอม ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลเข้ม เมื่อกางปีกเต็มที่กว้าง 20-25 มิลลิเมตร มีจุดสีน้ำตาลอ่อนที่กลางปีกคู่หน้า 2 จุด อายุตัวเต็มวัย 7-10 วัน ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ ประมาณ 20-25 ฟอง ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อน ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนที่ฝักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกลุ่มกัน กัดกินผิวใบอยู่ 1-2 วัน จึงจะกระจายไปยังใบอื่นหรือต้นใกล้เคียง ลักษณะหนอนมีผิวเรียบมัน มีหลายสีขึ้นกับพืชอาหารและระยะลอกคราบ เช่น เขียวอ่อน เทาปนดำ น้ำตาลอ่อน และน้ำตาลดำ ขนาดโตเต็มที่ 2×20 มิลลิเมตร ระยะหนอน 15-18 วัน หนอนเข้าดักแด้ในดินใกล้ต้นพืช ระยะดักแด้ 5-7 วัน
ช่วงปีที่ผ่านมา ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 พบหนอนกระทูหอมเข้าทำลายมันสำปะหลัง ในระยะที่มันสำปะหลัง อายุ 1-2 เดือน ระบาดค่อนข้างรุนแรงในพื้นที่ อำเภอพนมทวน และอำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี การระบาดเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง พบกลุ่มไข่หนาแน่น เกือบทุกต้น ในปี 2568 เดือนมีนาคม เริ่มพบการระบาดในแปลงทดลอง อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ในมันสำปะหลังที่เริ่มงอก

การเข้าลายของหนอนกระทู้หอมขณะที่ต้นมันสำปะหลังยังเล็กจะมีความรุนแรงและมีการทำลายอย่างรวดเร็ว การป้องกันกำจัด ไม่ควรใช้สารอิมาเมกตินเบนโซเอท (กลุ่ม 6) ทุกสูตร ทั้ง 1.92% EC หรือ 5% WG หรือ SG หรือ 2% ME เนื่องจากหนอนกระทู้หอม หรือ หนอนหนังเหนียว มีความต้านทาน หรือดื้อต่อสารอิมาเมกตินเบนโซเอทสูงมาก การป้องกันกำจัดด้วยสารชนิดดังกล่าว จึงไม่สามารถกำจัดหนอนกระทู้หอมได้
หากพบการระบาด ให้เลือกใช้สารกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามคำแนะนำของสำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ดังนี้
– เบตาไซฟลูทริน (กลุ่ม 3A) 2.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– ฟลูเฟนนอกซูรอน (กลุ่ม 15) 5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– คลอร์ฟลูอาซูรอน (กลุ่ม 15) 5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– คลอร์ฟีนาเพอร์ (กลุ่ม 13) 10% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
– อินดอกซาคาร์บ (กลุ่ม 22A) 15% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
– นิวเคลียร์โพลีฮีโดรซีสไวรัสเอ็นพีวี หนอนกระทู้หอม (UNV) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
พ่นเมื่อพบหนอน พ่นซ้ำตามความจําเป็น การพ่นสารกําจัดแมลงด้วยเครื่องพ่นสารแบบสูบโยกสะพายหลัง (knapsack sprayer) มันสําปะหลังอายุ 1-3 เดือน ใช้น้ําไร่ละ 60-80 ลิตร
แหล่งข้อมูล
– กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
– ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
– ศรีจํานรรจ์ ศรีจันทรา. 2565. เอกสารวิชาการ คําแนะนําการใชสารปองกันกําจัดศัตรูพืช จากงานวิจัย ปี 2565. โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้สารป้องกันกําจัดศัตรูพืชเพื่อใช้เป็นคําแนะนําในการผลิตพืชบริโภค ในประเทศและส่งออก. กรมวิชาการเกษตร. 208 หน้า.