การระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูในอ้อย

เพลี้ยแป้งสีชมพู (Ping sugarcane mealybug, sugarcane mealy bug ; Saccharicocus sacchari Cockerell)

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย
โดยทั่วไปเพลี้ยแป้งสีชมพูไม่มีความสำคัญมากนัก แต่ในระยะที่ผ่านมา เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยเฉพาะในปี 2567 ที่มีสภาพอากาศร้อนจัด ฝนทิ้งช่วงยาวนาน จึงเกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู เข้าทำลายอ้อยอย่างรุนแรง

อ้อยที่มีเพลี้ยแป้งสีชมพูเข้าทำลาย ทำให้ชงักการเจริญเติบโต ผลผลิตและปริมาณน้ำตาลซูโครสในอ้อยลดลง เมื่อนำท่อนพันธุ์อ้อยที่มีแมลงชนิดนี้ไปปลูก ก็จะทำลายท่อนอ้อยในดิน ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอกหรืองอกขึ้นมาก็อาจทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย เกษตรกรต้องปลูกซ่อมอ้อยใหม่

เพลี้ยแป้งสีชมพู เข้าทำลายอ้อยได้ทุกระยะการเจริญเติบโต  เริ่มตั้งแต่ท่อนพันธุ์ที่อยู่ในดิน เมื่อนำพันธุ์ที่มีเพลี้ยแป้งไปปลูก หน่ออ้อยที่ยังไม่มีลำก็ถูกดูดกินน้ำเลี้ยงตามร่องกาบ ใบอ้อย หรือตามส่วนโคลนต้นอ้อย ส่วนใหญ่มักพบเพลี้ยแป้งดูดกินอยู่ตามลำอ้อยที่ยังมีกาบห่อหุ้มอยู่ และมักพบอยู่ต่ำกว่าข้ออ้อยลงมาอยู่ที่ตรงข้ามกับตาอ้อย แต่เมื่อระบาดมากก็พบอยู่ทั่วปล้องอ้อย

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
เพลี้ยแป้งสีชมพู มีลำตัวอ่อนนุ่ม  สีชมพูปนแดง มีวัตถุคล้ายแป้งปกคลุมอยู่ตามลำตัวบาง ๆ เมื่อโตเต็มที่ขนาดยาวประมาณ 4-5  มิลลิเมตร กว้าง 1.5 – 2 มิลลิเมตร ตัวเมียไม่มีปีก ตัวผู้มีปีกเล็กสั้น 1 คู่ บางครั้งตัวผู้ก็ไม่มีปีกแต่เป็นเพียงส่วนน้อย เมื่ออายุได้ 30 วัน ก็จะกลายเป็นตัวแก่ พร้อมที่จะวางไข่ ไข่จะยังคงฟักอยู่ในตัวแม่ จนกระทั่งใกล้ฟักเป็นตัวอ่อนจึงจะวางไข่ออกมาอยู่ตามลำต้นอ้อย ไข่ที่ออกมาจะฟักเป็นตัวอ่อน ภายใน 10 ชั่วโมง จึงจัดได้ว่า แมลงชนิดนี้มีการสืบพันธุ์อยู่ระหว่าง viviparous คือไข่จะฟักอยู่ภายในมดลูกของตัวแม่และสามารถออกไข่โดยไม่ต้องผสมพันธุ์
ตัวอ่อนวัยแรกสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ตามลำต้นอ้อย หรือเคลื่อนย้ายไปตามลำต้นที่อยู่ใกล้ ๆ  เมื่อตัวอ่อนโตขึ้นจะลดความว่องไวลง จะเคลื่อนย้ายเมื่อถูกรบกวนหรือเกิดสภาวะไม่เหมาะสมเกิดขึ้น เมื่ออ้อยย่างปล้องสูงขึ้นเรื่อย ๆ  จะพบอยู่ตามลำต้นที่สูงขึ้นไป เพราะสภาพที่เหมาะสมที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยคือ ใต้กาบใบอ้อย ตัวอ่อนลอกคราบทั้งหมด 4 ครั้ง ก็กลายเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งไม่เคลื่อนย้ายอีกต่อไป ตัวเมียตัวหนึ่งสามารถออกไข่ได้สูงถึง 1,000 ฟอง อายุตลอดชีพจักร ของแมลงชนิดนี้ประมาณ 40 – 50 วัน

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด
พบในแหล่งปลูกอ้อยทั่วประเทศไทยและแหล่งปลูกอ้อยเกือบทั่วโลก  สำหรับการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู แพร่ได้หลายทาง ได้แก่ การขนส่งอ้อยที่ถูกแมลงชนิดนี้เข้าทำลายไปสู่แหล่งอื่น ๆ การนำท่อนพันธุ์ที่ถูกทำลายไปปลูก
มดเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยแพร่กระจาย เพราะมดและเพลี้ยแป้งสีชมพูอยู่ด้วยกันแบบได้ประโยชน์ร่วมกันคือ มดอาศัยกินน้ำหวาน ที่เพลี้ยแป้งชนิดนี้ผลิตออกมาเป็นอาหาร มดพาตัวอ่อนไปหาแหล่งอาหารที่เหมาะสมและคอยต่อสู้ป้องกันศัตรูให้แก่เพลี้ยชนิดนี้ ดังนั้นมดจึงเป็นตัวที่ทำให้ประสิทธิภาพการเข้าช่วยทำลายของแมลงศัตรูธรรมชาติหย่อนประสิทธิภาพลงไป มดที่พบอาศัย อยู่ร่วมกับแมลงชนิดนี้ที่พบมีสองชนิดคือ มดดำขนาดค่อนข้างใหญ่ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร และมดแดงขนาดยาว 3 มิลลิเมตร นอกจากนี้มีรายงานว่า ลมก็เป็นตัวการทำให้เพลี้ยแป้งชนิดนี้แพร่กระจายไปได้ โดยลมจะพัดพาตัวอ่อนให้แพร่กระจายไป พบเข้าทำลายอ้อยเกือบตลอดอายุเจริญเติบโต

พืชอาหาร
อ้อยและ โสมง

ศัตรูธรรมชาติ
แมลงเบียนส่วนใหญ่เป็นพวกที่อยู่ในวงศ์ Encyrtidae  และตัวห้ำทำลายชนิดที่มีประสิทธิภาพดี เช่น ด้วงเต่าชนิดต่าง ๆ

การป้องกันกำจัด
– ควรใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากเพลี้ยแป้งสีชมพู ซึ่งเป็นการป้องกันการแพร่พันธุ์ในแหล่งปลูกอ้อยในฤดูต่อไป หากจำเป็นต้องใช้ ควรแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำประมาณ 72 ชั่วโมง เพื่อกำจัดแมลงชนิดนี้ ก่อนแช่ ควรลอกกาบใบของท่อนพันธุ์ออกก่อน
– ในแหล่งที่ระบาดมาก  ควรปลูกอ้อยพันธุ์ที่มีกาบใบหลุดจากลำต้นได้ง่ายและให้ผลผลิตดี
– เมื่อพบเพลี้ยแป้งอยู่ตามซอกกาบใบ ควรลอกกาบใบอ้อยที่เริ่มแห้ง และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแมลง มาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 15 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร