เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

โดย วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร

เอกสารประกอบการบรรยายในการฝึกอบรมพนักงานบริษัทกรุงเทพอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เรื่องความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับข้าวโพด และเทคนิคการเพิ่มผลผลิต รุ่นที่ 2 วันที่ 6-8 กรกฏาคม 2553  ณ เขาใหญ่ลำตะคองรีสอร์ท และศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
หมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ  ที่เกิดหลังการเก็บเกี่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิตให้อยู่ในสภาพที่ดี และมีการสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพน้อยที่สุด โดยกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยวเหล่านี้ได้แก่ การตาก การกะเทาะ การทำความสะอาด การเก็บรักษา การคัดคุณภาพ การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง

ชนิดของการสูญเสียผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว
การสูญเสียผลผลิตสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การเก็บรักษา จนกระทั่งขายข้าวโพดให้แก่พ่อค้าในท้องถิ่น โดยการสูญเสียผลผลิตมีทั้งในรูปของปริมาณและคุณภาพ  การสูญเสียทางด้านปริมาณเป็นการสูญเสียทางกายภาพซึ่งมีผลทำให้น้ำหนักหรือปริมาตรของผลผลิตที่สามารถขายได้ลดน้อยลง การสูญเสียแบบนี้สามารถวัดและประเมินได้ง่าย ส่วนการสูญเสียทางด้านคุณภาพประเมินได้โดยการเปรียบเทียบกับมาตรฐานของสินค้านั้น ๆ  ซึ่งต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของข้าวโพดของประเทศไทย มีดังนี้ ข้าวโพดมีความชื้นสูง การปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน การทำลายของแมลงในโรงเก็บ การเข้าทำลายของเชื้อรา  สิ่งเจือปน และเมล็ดแตก 

นอกจากนี้แล้วการสูญเสียผลผลิตยังอยู่ในรูปของการสูญเสียคุณค่าทางอาหาร การสูญเสียความงอกหากต้องการเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์  การสูญเสียชื่อเสียงซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในด้านการค้าระหว่างประเทศ และที่สำคัญ คือ การสูญเสียรายได้

สาเหตุการสูญเสียผลผลิตข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว
การสูญเสียผลผลิตข้าวโพดสามารถเกิดได้ดังต่อไปนี้
– การร่วงหล่นและแตกหักของฝักและเมล็ดระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ
– การทำลายของแมลงนกหนู
การทำลายของเชื้อราและการปนเปื้อนของสารพิษ
การสูญเสียคุณค่าทางอาหาร
การสูญเสียน้ำหนักที่ขายได้

ปัจจัยที่มีผลต่อการสูญเสียผลผลิต
การสูญเสียผลผลิตเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ร่วมกันตั้งแต่ เมล็ดพืช อุณหภูมิ ความชื้น ก๊าซออกซิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เชื้อจุลินทรีย์ แมลง นก หนู และการจัดการ

คุณสมบัติของเมล็ดและกองเมล็ดพืช เมล็ดข้าวโพดแต่ละเมล็ดเปรียบเสมือนผลไม้หนึ่งผล ประกอบไปด้วย 4 ส่วนที่สำคัญ คือ เปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat หรือ pericarp) คัพภะ (germ หรือ embryo) endosperm และ tip cap หรือ pedicel ซึ่งมีองค์ประกอบทางเคมี ดังนี้ เปลือกหุ้มเมล็ดมีน้ำหนักประมาณ 5 % ของน้ำหนักเมล็ด ลักษณะคล้ายเส้นใย ประกอบขึ้นมาจากเฮมิเซลลูโลส และเซลลูโลส ในส่วนของ endosperm ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเมล็ด มีน้ำหนักประมาณ 83 % ของน้ำหนักเมล็ด มีแป้ง และไขมันเป็นองค์ประกอบ ในขณะที่คัพภะซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 11 % ของน้ำหนักเมล็ด บรรจุอยู่ด้วยไขมัน โปรตีน และเกลือแร่ (Burge and Duensing, 1989)
จะเห็นได้ว่าเมล็ดเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และเมื่อนำไปเป็นอาหารเมล็ดข้าวโพดหนึ่งกิโลกรัมจะมีพลังงาน 3,578 แคลอรี


เมื่อเมล็ดพืชถูกเก็บเกี่ยวจะถูกกะเทาะและเทกองรวมไว้ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงเมล็ดพืชจะหมายถึงเมล็ดที่อยู่รวมกันเป็นกอง ซึ่งเป็นสภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีคุณลักษณะทางกายภาพเฉพาะตัว คือ มีความปรุพรุน (Porosity) สามารถเลื่อนไหล (Flow) แยกชั้น (Layering) และดูดและคายความชื้นได้ (Sorption) ในขณะเดียวกันกองเมล็ดพืชยังมีลักษณะที่สำคัญทางชีวภาพ คือ การหายใจ (Respiration) ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะมีผลร่วมกันต่อการเสื่อมคุณภาพและการสูญเสียผลผลิต

การหายใจ การหายใจภายในกองเมล็ดพืชเกิดขึ้นจากทั้งเมล็ดและเชื้อจุลินทรีย์ ผลของการหายใจทำให้เมล็ดสูญเสียน้ำหนัก เพิ่มความชื้นในกองเมล็ด เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  และอุณหภูมิภายในกองเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากการศึกษา พบว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนมากเป็นผลจากการหายใจของเชื้อจุลินทรีย์มากกว่าการหายใจของเมล็ด

ระดับความหนาแน่นของการหายใจของเมล็ดและเชื้อจุลินทรีย์ หรืออุณหภูมิภายในกองที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นตัวชี้ถึงการเสื่อมเมล็ดในกอง

สภาพความสมบูรณ์ของเมล็ด เมล็ดที่สมบูรณ์ ไม่มีรอยแตกที่ผิวเมล็ดช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อราเข้าทำลายเมล็ดหรือเข้าทำลายได้ช้าลง จากการเปรียบเทียบระหว่างเมล็ดข้าวโพดที่มีเมล็ดแตกหรือมีรอยแตกบนผิวเมล็ด 2 และ 28 % พบว่า ตัวอย่างที่มีเมล็ดแตกมากกว่าจะถูกเชื้อราเข้าทำลายเร็วกว่า 3-5 เท่า

อุณหภูมิ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการสูญเสียคุณภาพผลผลิต เนื่องจากอุณหภูมิเป็นตัวควบคุมอัตราของปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในเมล็ด เช่น  ปฏิกิริยาทางเคมี การหายใจ และการระเหยของน้ำ นอกจากนี้แล้วอุณหภูมิยังเป็นตัวควบคุมการเจริญของเชื้อรา และกิจกรรมต่าง ๆ ของแมลงศัตรูในโรงเก็บอีกด้วย เช่น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 10 oC อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแมลงอยู่ระหว่าง 30-32 oC และเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 15 oC แมลงหลายชนิดจะชะลอการเจริญเติบโต และจะตายเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 5 oC ตามลำดับ ส่วนเชื้อราในโรงเก็บทุกชนิดเจริญได้ดีที่ 25-35 oC และจะหยุดเจริญเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 0 oC

ความชื้น ความชื้นในเมล็ดเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยมากอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ทางชีววิทยาจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความชื้น ซึ่งแต่ละกิจกรรมต้องการความชื้นที่แตกต่างกัน เช่น เมื่อเมล็ดมีความชื้นสูง 30-40 % เมล็ดจะงอก ความชื้นต่ำกว่า 13 % จะยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์และไร ความชื้นต่ำกว่า 10 % จะจำกัดการพัฒนาของแมลงในโรงเก็บทุกชนิด ดังนั้นการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาข้าวโพดที่ความชื้นในเมล็ดที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาคุณภาพของข้าวโพด

เมล็ดพืชที่มีแป้งมาก เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าว ข้าวโพด และข้าวฟ่าง ความชื้นในเมล็ดที่ต่ำกว่า 13.5 % ตลอดทั้งกองจะป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อราได้ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา ส่วนกองข้าวโพดที่มีความชื้นไม่สมํ่าเสมอ ส่วนไหนที่มีความชื้นมากกว่าที่กำหนดจะเกิดการเข้าทำลายของเชื้อรา

การแนะนำระดับความชื้นในเมล็ดสำหรับการเก็บรักษาขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเก็บรักษาดังเช่น คำแนะนำในตารางที่ 2 ใช้สำหรับเมล็ดที่มีคุณภาพดีและมีการระบายอากาศเพื่อควบคุมอุณภูมิและการเคลื่อนย้ายของความชื้นในกอง ส่วนเมล็ดที่มีคุณภาพไม่ดีหรือมีเกรดต่ำ เนื่องจากเมล็ดแตกมากหรือมีแมลงหรือเชื้อราเข้าทำลายมาก่อน ต้องลดความชื้นลงจากระดับที่แนะนำ 1 %

ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศยังเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากเมล็ดพืชสามารถแลกเปลี่ยนความชื้นกับอากาศได้ เมล็ดจะคายความชื้นเมื่อมีความชื้นสูงในเมล็ดกว่าอากาศ และจะดูดความชื้นเมื่อมีความชื้นต่ำกว่าอากาศ เมื่อเมล็ดพืชมีความชื้นในเมล็ดสมดุลกับความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เมล็ดจะดูดและคายความชื้นในอัตราเท่ากัน    เรียกว่าความชื้นสมดุลของเมล็ด ซึ่งค่าความชื้นสมดุลของเมล็ดแต่ละชนิดถูกกำหนดโดยความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิของอากาศ

การที่ทราบค่าความชื้นสมดุลของเมล็ด ทำให้สามารถกำหนดค่าความชื้นในเมล็ดที่ปลอดภัยต่อการเก็บรักษา โดยยึดหลักว่า ที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 % ไม่มีเชื้อราชนิดใดที่สามารถเจริญได้ เชื้อราบางชนิดที่ทนความแห้งแล้งได้ดีสามารถเจริญได้ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 65 % แต่เชื้อราส่วนมากต้องการความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 70 % ในการเจริญเติบโต

การเคลื่อนย้ายของความชื้นในกอง ในการเก็บรักษาเมล็ดแบบเทกอง จำเป็นต้องคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายของความชื้นภายในกอง ในระยะแรกของการเก็บรักษาความชื้นของเมล็ดอาจจะอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและสม่ำเสมอกันตลอดทั้งกอง แต่ต่อมาเมล็ดบางส่วนอาจจะมีความชื้นเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เมล็ดเน่าเสียได้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากกองข้าวโพดได้รับความชื้นจากอากาศภายนอกที่มีความชื้นสูงกว่า หรือจากพื้นปูนที่ความชื้นสามารถซึมผ่านขึ้นมาจากพื้นดินได้ หรือเนื่องจากบางส่วนของกองมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการทำลายของแมลง ทำให้อากาศบริเวณนั้นสามารถอุ้มความชื้นได้มากขึ้น และเมื่ออากาศร้อนไหลไปยังส่วนอื่นของกองที่เย็นกว่าก็จะคายความชื้นออกจนอาจจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ทำให้เกิดการสะสมของความชื้นจนเพียงพอต่อการเจริญของเชื้อรา ดังนั้นเพื่อป้องกันการสะสมของความชื้นภายในกองข้าวโพดจึงควรที่จะระบายอากาศภายในกอง โดยการเป่าอากาศแห้งผ่านกอง หรือกลับกองข้าวโพดอยู่เสมอ

เชื้อจุลินทรีย์ (เชื้อรา)

เชื้อราเป็นพืชชั้นต่ำที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ ไม่มีระบบส่งน้ำและอาหาร การดำรงชีพต้องอาศัยอาหารจากพืชและสัตว์อื่น ลักษณะโดยทั่วไปของราส่วนใหญ่จะเป็นเส้นใย (hypha) ซึ่งมีขนาดเล็ก ที่มองเห็นเป็นกลุ่มของเส้นใย (mycelium) ราขยายพันธุ์ทั้งแบบไม่ใช้เพศและแบบใช้เพศ สิ่งที่ใช้ในการแพร่พันธุ์เรียกว่าสปอร์ ซึ่งมีลักษณะต่างกันไปตามชนิดของรา

โดยทั่วไปเชื้อราต้องการออกซิเจนสำหรับการหายใจ ต้องการคาร์บอน และแร่ธาตุสำหรับการเจริญเติบโต โดยเชื้อราจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยสารอาหารภายนอกแล้วดูดซึมเข้าไป

มีเชื้อรามากกว่า 100 ชนิดที่เจริญบนเมล็ดพืช และแต่ละชนิดมีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตแตกต่างกัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามสถานที่เข้าทำลาย คือ เชื้อราในไร่ และเชื้อราในโรงเก็บ

เชื้อราในไร่ (Field Fungi) เจริญเติบโตและทำความเสียหายแก่เมล็ดพืชที่มีความชื้นสูงขณะอยู่ในแปลง และจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่อถูกเก็บเกี่ยว เชื้อราที่พบส่วนมากอยู่ในสกุล Cladosporium, Helminthosporium, Alternaria และ Fusarium ซึ่งจะทำให้เมล็ดมีสีดำหรือเปลี่ยนสี และความงอกลดลง

เชื้อราในโรงเก็บ (Storage Fungi) เข้าทำลายเมล็ดพืชขณะอยู่ในโรงเก็บ เชื้อราที่พบส่วนมากอยู่ในสกุล Aspergillus และ Penicillium ซึ่งมีผลทำให้เกิดความร้อนและกลิ่นเหม็นหืน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวะ-เคมี สูญเสียน้ำหนักแห้ง และที่สำคัญคือการสร้างสารพิษจากเชื้อราบางชนิด

สปอร์ของเชื้อราในโรงเก็บมีอยู่ทั่วไปทั้งในอากาศ เครื่องมือต่าง ๆ และบนเมล็ดพืช  เมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมสปอร์ของเชื้อราจะงอกและเจริญเติบโตจนทำให้เมล็ดเน่าเสีย โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเข้าทำลายของเชื้อราในโรงเก็บ คือ 1) ความชื้นในเมล็ด อุณหภูมิของเมล็ด 2) ปริมาณเมล็ดแตกและสิ่งเจือปน 3) ระดับความรุนแรงที่เมล็ดถูกเชื้อราเข้าทำลายก่อนนำมาเก็บ 4) จำนวนแมลงและไร และ 5) ระยะเวลาของการเก็บรักษา

สารพิษจากเชื้อรา (mycotoxin) เป็นกลุ่มของสารประกอบอินทรีย์ที่เชื้อราสร้างขึ้นขณะสังเคราะห์อาหาร สารเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ต่อเชื้อรา แต่เป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ที่ได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย  จากการศึกษายังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสารพิษจากเชื้อราอยู่มากเท่าไร แต่ที่สำรวจพบแล้วมีมากกว่า 250 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างกัน ที่พบมากในผลผลิตทางการเกษตร คือ aflatoxin, deoxynivalinol (DON), zearalenone (ZEN), fumonisin, ochratoxin และ T2

แมลงศัตรูในโรงเก็บ
มีแมลงหลายชนิดที่เข้าทำลายเมล็ดพืช แต่แมลงที่ถูกจัดว่าเป็นแมลงศัตรูในโรงเก็บควรมีลักษณะดังนี้
1) ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
2) สามารถเข้าทำลายเมล็ดพืชที่มีความชื้นต่ำได้
3) เคลื่อนย้ายในกองเมล็ดพืชได้
4) ทำความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ผลผลิต ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทั้งน้ำหนัก คุณค่าทางอาหาร ความงอก คุณภาพ และทำให้เกิดความร้อนในเมล็ดพืช

แมลงศัตรูในโรงเก็บ มีระยะการพัฒนาอยู่ 4 วัยในวงจรชีวิต คือ ไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย แมลงศัตรูในโรงเก็บจะวางไข่บนผิวของเมล็ด ซึ่งโดยปกติจะเลือกวางไข่บนเมล็ดที่มีรอยแตกอยู่แล้ว หรือวางไข่ไว้ในเมล็ดโดยตัวเมียจะเจาะเป็นรูเล็ก ๆ เข้าไปในเมล็ดสำหรับวางไข่ เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นหนอนจะกินส่วนในของเมล็ดเป็นอาหาร ความเสียหายของเมล็ดพืชเกือบทั้งหมดจะเกิดจากการทำลายของแมลงศัตรูในโรงเก็บในวัยนี้ หลังจากนั้นหนอนจะเข้าดักแด้ ซึ่งเป็นระยะพักตัวไม่มีการกินอาหาร ต่อมาดักแด้จะฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย และจะกัดกินเมล็ดจนเป็นรูเพื่อออกจากเมล็ด และตัวเต็มวัยของด้วงจะเข้าทำลายเมล็ดต่อไป ในระยะเวลา 5-6 เดือน มอดหัวป้อม (larger grain borer; Prostephanus truncatus) ทำความเสียหายให้แก่เมล็ดในยุ้งฉางได้ถึง 10-35 % และสูงถึง 60 % ในระยะเวลา 9 เดือน

ตัวเต็มวัยของผีเสื้อมีอายุสั้นและไม่กินอาหาร แต่ตัวหนอนของผีเสื้อนอกจากจะกินเมล็ดพืชแล้ว ยังสร้างใยและถ่ายมูลออกมาทำให้เกิดการปนเปื้อนอย่างมากในผลผลิตอีกด้วย

แมลงศัตรูในโรงเก็บของข้าวโพดที่สำคัญ มีดังนี้ ด้วงงวงข้าว ด้วงงวงข้าวโพด มอดข้าวเปลือก มอดแป้ง ผีเสื้อข้าวโพด ผีเสื้อข้าวสาร ด้วงปีกตัด

ด้วงงวงข้าว (Rice weevil; Sitophilus oryzae) เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญ ตัวเต็มวัยจะปรากฏอยู่บนหรือภายในเมล็ด เนื้อเมล็ดจะถูกตัวอ่อนกัดกินอยู่ภายใน ถ้ามีการทำลายสูงเมล็ดจะเหลือแต่เปลือกหรือผิวนอก เอาไปใช้ประโยชน์ต่อไปไม่ได้

ด้วงงวงข้าวตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 2-3 มิลิเมตร ส่วนหัวยื่นออกมาเป็นงวง โดยปกติแล้วการเข้าทำลายจะเริ่มตั้งแต่ในแปลงจนถึงโรงเก็บ สามารถบินออกไปทำลายเมล็ดพืชตั้งแต่อยู่ในไร่นา เพศเมียจะวางไข่ที่เมล็ดขณะพืชเริ่มแก่ โดยใช้ส่วนปากเจาะเข้าไปวางไข่ในเมล็ด 4-6 ฟอง และขับเมือกออกปิดปากรูไว้ เพศเมียวางไข่ได้ 300-400 ฟอง ไข่จะฟักภายใน 3-6 วัน ตัวหนอนสีขาว ลำตัวสั้นป้อม และอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด ซึ่งความเสียหายของข้าวโพดเกือบทั้งหมดจะเกิดในระยะนี้ ระยะหนอน 20-30 วัน แล้วจึงเข้าดักแด้เป็นเวลา 3-7 วัน หนอนจะเข้าดักแด้ในเมล็ด เมื่อเป็นตัวเต็มวัยก็จะเจาะเมล็ดออกมาด้านนอก ตัวเต็มวัยจะมีชีวิตอยู่ได้นาน 1-2 เดือน หรือมากกว่านี้

ด้วงงวงข้าวโพด (Maize weevil; Sitophilus zeamais) พบอยู่ทั่วไปในเขตร้อน เป็นแมลงศัตรูในโรงเก็บที่สำคัญของข้าวโพด โดยแมลงจะอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ดเหมือนด้วงงวงข้าว และทำลายร่วมกับด้วงงวงข้าว วงจรชีวิตและการทำลายผลผลิตของแมลงทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่ด้วงงวงข้าวโพดมีสีเข้มเป็นสีดำ และมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย คือยาว 3.0-3.5 มิลลิเมตร การเจริญเติบโตเหมือนด้วงงวงข้าว วงจรชีวิตใช้เวลา 30-45 วัน ตัวเต็มวัยอยู่ได้นาน 1-2 เดือน หรืออาจถึง 6 เดือนได้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และความชื้นในกองเมล็ด โดยมีอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการวางไข่ คือ 25 oซ และเมล็ดมีความชื้นมากกว่า 10 % ด้วงงวงข้าวสามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากอาหาร 6-32 วัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมาก ที่อุณหภูมิ 0 oซ ด้วงงวงข้าว จะตายภายใน 1 สัปดาห์ ในขณะที่ด้วงงวงข้าวโพดทนในที่อุณหภูมิต่ำได้ดีกว่า คือมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 37 วันที่ 0o

มอดข้าวเปลือก (Lesser grain borer; Rhyzopertha dominica) หรือมอดหัวป้อมทำลายผลิตผลหลายชนิด มีจุดกำเนิดอยู่ที่อเมริกาใต้ แต่ปัจจุบันพบแมลงชนิดนี้แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก ตัวเต็มวัยมีนาดเล็ก ยาว 2-3 มิลลิเมตร กินจุ และมีอายุยาว เมื่ออุณหภูมิเหมาะสมที่ 34 oซ ตัวเมียสามารถวางไข่ได้อย่างต่อเนื่องถึง 500 ฟอง ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ตัวเต็มวัยสามารถขยายพันธุ์ได้ในเมล็ดที่มีความชื้นต่ำกว่า 9 % ทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนจะทำลายเมล็ดข้าวโพด ตัวอ่อนจะอาศัยและกัดกินอยู่ภายในเมล็ด จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยจึงเจาะรูออกมานอกเมล็ด ทำให้เมล็ดเหลือแต่เปลือก ส่วนตัวเต็มวัยจะแทะเล็มเมล็ดทำให้เป็นรอย และยังขับถ่ายของเสียออกมาทำให้มีกลิ่นเหม็น ในแต่ละวันมอดข้าวเปลือกจะทำความเสียหายได้เท่ากับน้ำหนักตัวของมัน

มอดแป้ง (Rust-red flour beetle; Tribolium constaneum) เป็น secondary pest ไม่สามารถทำลายเมล็ดพืชให้ได้รับความเสียหายได้ด้วยตนเอง แต่มักจะเข้าทำลายซ้ำเติมภายหลังจากแมลงอื่นเข้าทำลายเมล็ดพืชจนได้รับความเสียหาย จนเป็นรูหรือมีรอยแตกแล้ว พบเข้าทำลายผลผลิตเกือบทุกชนิดทั่วโลก ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำความเสียหายแก่ผลผลิต มอดแป้งเพศเมียจะวางไข่ที่มีขนาดเล็ก ทรงกระบอกสีขาว กระจายอยู่บนผลผลิต. เมื่ออุณหภูมิเหมาะสมที่ 32.5 oซ ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ถึงวันละ 11 ฟอง ตัวหนอนมีสีเหลืองและมีสีน้ำตาลจาง ๆ ที่หัว อาศัยอยู่ในเมล็ดจนเข้าดักแด้ ตัวเต็มวัยมีขนาด 3-4 มิลลิเมตร และมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 ปี หรือมากกว่า แมลงชนิดนี้สามารถเจริญได้ในเมล็ดที่มีความชื้นต่ำกว่า 11 % ช่วงอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดสำหรับการเจริญ คือ 40 และ 22 o

ผีเสื้อข้าวโพด (Tropical warehouse moth; Ephestia cautella) เป็นผีเสื้อขนาดเล็กสีเทา ลำตัวยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร เมื่อกางปีกกว้าง 1.2-1.6 เซนติเมตร ที่ปีกคู่หน้ามีแถบซิกแซกสีดำพาดขวางปีก 2 แถบ เพศเมียวางไข่ได้มากถึง 250 ฟอง วางไข่ตามรอยแตกของเมล็ด หรือบนกระสอบบรรจุเมล็ด ไข่มีสีขาวชมพู จะฟักเป็นตัวหนอนใน 3-6 วัน ตัวหนอนมีสีขาวปนเทา ลำตัวยาว เคลื่อนไหวรวดเร็ว ระยะหนอน 22-24 วัน และเข้าดักแด้ในปลอกที่สร้างขึ้น 7-8 วัน จากนั้นจึงเป็นผีเสื้อ

ผีเสื้อข้าวโพดเป็นศัตรูที่สำคัญของเมล็ดข้าวโพดรองจากด้วงงวงข้าวโพด โดยจะชักใยอยู่ระหว่างเมล็ดและบนผิวเมล็ด ทำให้เมล็ดอยู่ติดกันเป็นกลุ่ม หนอนจะกัดกินและอาศัยอยู่ภายในใยนั้น เมื่อมีการทำลายมากเมล็ดจะมีสภาพสกปรกไม่น่าดู และเสื่อมคุณภาพในที่สุด

ผีเสื้อข้าวเปลือก (Angoumois grain moth; Sitotroga cerealella) เป็นผีเสื้อที่มีขนาดเล็กมาก มีสีน้ำตาลอ่อนเมื่อกางปีกออกกว้างประมาณ 12 มิลลิเมตร ปีกคู่หลังมีสีออกเทา ตามปีกจะมีขนยาว ๆ เป็นแผง มีความยาวมากว่าความกว้างของปีก เพศเมียวางไข่เป็นกลุ่มหรือเดี่ยว ครั้งละประมาณ 20 ฟองบนเมล็ด โดยทั่วไปเพศเมียตัวหนึ่งอาจวางไข่ได้มากกว่า 100 ฟอง หรืออาจถึง 500 ฟอง ไข่มีสีขาว รูปร่างยาวรี ไข่ฟักภายใน 6 วัน ตัวหนอนจะเจาะเมล็ดเข้าไปอาศัยอยู่ภายในใช้เวลา 26-35 วัน ก็จะเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 3-6 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย โดยเจาะผิวเมล็ดออกมาทำให้ผิวเป็นรู

การป้องกันกำจัดแมลงในโรงเก็บ
การรมสารเคมี
การรมสารเคมีกับกองเมล็ดพืชสามารถฆ่าแมลงได้ทุกวัยและทุกชนิด สารรมที่นิยมใช้มากได้แก่ methyl bromide โดยใช้ในอัตรา 1-2 ปอนด์ต่อ 1000 ลูกบาศก์ฟุต และรมทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมงจึงเปิดให้อากาศถ่ายเท สารรมนี้มีข้อเสียคือ ทำให้เมล็ดพืชส่วนมากเสื่อมความงอก จึงไม่นิยมใช้กับเมล็ดพันธุ์และมีอันตรายสูงถ้าปฏิบัติไม่ถูกวิธี สารรมอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ คือ aluminium phosphide ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ด จึงใช้ได้สะดวก และยังไม่มีผลต่อความงอกของเมล็ด จึงมักใช้รมแมลงที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ยังสามารถใช้รมในยุ้งหรือไซโลที่อากาศซึมผ่านได้บ้างด้วย อัตราที่ใช้ 2-5 เม็ด ต่อเมล็ดพืช 1 ตัน หรือ 0.5-1 เมล็ดต่อเนื้อที่ 1 ลูกบาศก์เมตร สารเคมีนี้ต้องรมไว้อย่างน้อย 3 วัน จึงจะเปิดให้อากาศถ่ายเท

ขณะนี้ได้มีการนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้รมผลผลิตเพิ่มอีกชนิดหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสารพิษตกค้าง และการสร้างความต้านทานของแมลงต่อสารรมซึ่งประเทศต่าง ๆ กำลังประสบปัญหาอยู่ คาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซที่ไม่มีอันตรายเมื่อเทียบกับสารรมโดยทั่วไป และสามารถฆ่าแมลงได้ทุกชนิด ทุกวัย ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อแมลง คือ 60 % ใช้เวลารมนาน 4 วัน หรือ 35 % ใช้เวลารม 10 วัน อัตราที่ใช้ 2 กิโลกรัมต่อเมล็ดพืช 1 ตัน

หนู หนูกินอาหารในแต่ละวันคิดเป็นน้ำหนัก 7 % ของน้ำหนักตัว  หากหนู 1 ตัวหนัก 250 กรัม จะกินอาหารวันละประมาณ 25 กรัม ในหนึ่งปีคิดเป็นน้ำหนัก 6.5 กิโลกรัม  มีการประมาณว่าพืชผลทางการเกษตรของประเทศไทยถูกหนูกัดทำลายปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

ข้าวโพดถูกหนูเข้าทำลายให้เกิดความเสียหายตั้งแต่ระยะเริ่มปลูก ติดฝัก จนถึงในโรงเก็บ ซึ่งนอกจากจะทำให้สูญเสียน้ำหนักของผลผลิตโดยตรงจากการกินเมล็ดพืชเป็นอาหารแล้ว ยังทำให้ผลผลิตสกปรก และอาจจะแพร่เชื้อโรคอีกด้วย ที่พบได้แก่ หนูบ้านท้องขาว หนูหริ่งนาหางสั้น หนูหริ่งนาหางยาว และหนูพุกเล็ก

หลังการหยอดเมล็ด หนูจะขุดเมล็ดกินก่อนงอกหรือเมื่อเริ่มงอกพ้นผิวดิน ทำให้ต้นข้าวโพดตาย เมื่อข้าวโพดมีเมล็ดเป็นน้ำนมหรืออายุ 70-80 วันจนถึงระยะก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 2 สัปดาห์ หนูจะปีนต้นไปกัดแทะเปลือกข้าวโพดและกินเมล็ดบนฝัก หรือกัดบริเวณโคนต้นให้ล้มแล้วกินเมล็ด ความเสียหายของข้าวโพดจะรุนแรงมากเมื่อฝนทิ้งช่วงนาน 2-3 สัปดาห์ หลังการหยอดเมล็ด โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยทำนามาก่อนหรือติดต่อกับพื้นที่นา พื้นที่ปลูกติดต่อชายป่าธรรมชาติหรือสวนผลไม้

การป้องกันและกำจัดหนู
1) ใช้วิธีกล เช่น การขุด การดักจับ ด้วยกรงดักหรือกับดัก

2) ในพื้นที่ที่มีหนูหริ่งระบาดมาก ให้ใช้สารซิงค์ฟอสไฟด์ 80 % ชนิดผงหนัก 1 กรัม ผสมกับเหยื่อ (ปลายข้าวปนเมล็ดข้าวโพดแห้งทุบพอแตก) หนัก 79 กรัม จะได้เหยื่อพิษซิงค์ฟอสไฟด์ เข้มข้น 1 % แล้วใช้ช้อนตักจุดละประมาณ 1 ช้อนชา (ปาดผิวเรียบ) แล้วใช้แกลบใหม่ 1 กำมือกลบเหยื่อพิษเพื่อป้องกันฝนและความชื้นวางกระจายให้ทั่วแปลงแต่ละจุดห่างกัน 5-10 เมตร

3) ในพื้นที่ที่มีหนูบ้านท้องขาวมาก ให้ใช้วิธีป้องกันกำจัดโดยใช้วิธีกล และใช้เหยื่อพิษ แต่ถ้าใช้ซิงค์ฟอสไฟด์ไม่ควรใช้ติดต่อกันมากกว่า 2 ครั้ง เพราะหนูอาจจะเกิดการเข็ดขยาดเหยื่อได้ ถ้าไม่ใช้สารกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์เร็ว สามารถใช้สารกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์ช้าที่เป็นก้อนขี้ผึ้งสำเร็จรูป เช่น โฟลคูมาเฟน (สะตอม 0.005 %) โบรมาดิโอโลน (เส็ด 0.005 %) หรือไดฟิทิอะโลน (บาคารี 0.0025 %) ชนิดใดชนิดหนึ่งวางบริเวณรอบแปลงข้าวโพด โดยเฉพาะที่ติดดงหญ้าแถบชายป่า ถ้าเป็นหนูพุกควรวางเหยื่อพิษจุดละ 3-5 ก้อน วางตามทางเดินและบริเวณรอบแหล่งที่พบความเสียหาย

การจัดการ การจัดการเป็นปัจจัยที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ฤดูปลูก ระบบการปลูกพืช และการตลาดล้วนมีผลต่อการสูญเสียผลผลิต

พันธุ์ การเลือกพันธุ์ที่มีลำต้นแข็งแรง ระบบรากดี จะช่วยลดความเสียหายจากการหักล้มได้ ในขณะที่พันธุ์ที่มีเปลือกหุ้มฝักปลายฝักมิดชิดจะป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าไปอยู่ที่โคนฝักจะช่วยลดการเน่าเสียหรือการงอกของเมล็ดในแปลงได้

ระบบการปลูกพืช   พันธุ์ข้าวโพดส่วนมากที่ใช้ปลูกอยู่ในประเทศไทยมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 110 – 120 วัน ทำให้สามารถปลูกได้ 1-2 ครั้งต่อปี หรือปลูกร่วมกับพืชอื่นในระบบการปลูกพืชแบบต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการการตกของฝนในแต่ละพื้นที่ โดยทั่วไปแล้วข้าวโพดรุ่นแรกจะปลูกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ยังมีความชื้นสูงในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งเป็นระยะที่มีฝนตกชุก ทำให้มีปัญหาเรื่องการเน่าเสียและการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน ส่วนข้าวโพดรุ่นสองจะปลูกในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ข้าวโพดรุ่นนี้จะมีคุณภาพดี เนื่องจากข้าวโพดมีความชื้นต่ำและลดความชื้นได้ง่าย

การเก็บเกี่ยว ปัจจุบันการเก็บเกี่ยวข้าวโพดมีการปรับเปลี่ยนไปมาก ในหลายพื้นที่ใช้รถเก็บเกี่ยวมากขึ้น เนื่องจากแรงงานหายากและมีราคาแพง และมีการจำหน่ายข้าวโพดเป็นฝัก ในพื้นที่ จ. สระบุรี และ ลพบุรี ไม่นิยมเก็บข้าวโพดเข้ายุ้งแต่จะกองข้าวโพดไว้ในไร่

การเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่อายุยังไม่สุกแก่เต็มที่ คือ มีอายุเพียง 90-100 วัน นอกจากเมล็ดจะมีความชื้นสูง และมีเปอร์เซ็นต์เมล็ดแตกจากกะเทาะสูงแล้ว การสะสมของแป้งและโปรตีนในเมล็ดอาจจะยังไม่เต็มที่ ทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารไปอีกด้วย

การตัดน้ำหนักความชื้น
การซื้อขายข้าวโพด จะมีการตัดราคาถ้าหากข้าวโพดมีเชื้อราเข้าทำลายมาก และตัดน้ำหนัก ถ้าข้าวโพดมีความชื้นเกิน 14.5 % โดยการตัดน้ำหนักนี้ทางสมาคมพ่อค้าข้าวโพดแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด ในการตัดน้ำหนักนอกจากจะคำนวณตามเปอร์เซ็นต์ความชื้นที่เกินไปจาก 14.5 % แล้วยังรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นในการลดความชื้นและความเสี่ยงต่อการเสื่อมคุณภาพจากการที่ข้าวโพดมีความชื้นสูง

ดังนั้นหากสามารถลดความชื้นของข้าวโพดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะทำให้มีรายได้จากการขายข้าวโพดมากขึ้น และในลักษณะเดียวกันหากเก็บข้าวโพดไว้นานเกินไปหรือตากข้าวโพดจนความชื้นต่ำกว่า 14.5 % จะทำให้สูญเสียน้ำหนักที่สามารถขายได้ไป

สูตรการคำนวณหาน้ำหนักของความชื้นที่หายไป
X = W1 x M1-M2/100-M2       (รู้น้ำหนักเริ่มต้นของผลผลิต)
X = W2x M1-M2/100-M1        (รู้น้ำหนักหลังหักความชื้นแล้ว)
X   =   น้ำหนักที่หายไป
W1   =   น้ำหนักเริ่มต้น
W2   =   น้ำหนักหลังลดความชื้น
M1   =   ความชื้นเริ่มต้น
M2   =   ความชื้นสุดท้าย

ในกรณีที่เกษตรกรเก็บฝักข้าวโพดไว้รอจำหน่ายจนถึงเดือนธันวาคมหรือมกราคม เมล็ดข้าวโพดจะมีความชื้นประมาณ 12-13 % ซึ่งเป็นความชื้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานการซื้อขาย คือ 14.5 % ทำให้เกษตรกรสูญเสียน้ำหนักที่ควรจะขายได้ อย่างเช่น หากเกษตรกรขายข้าวโพดที่ความชื้น 12 % ได้น้ำหนัก 24 ตัน เกษตรกรจะสูญเสียน้ำหนักที่ขายได้ไปเท่ากับ

สูตร     X   =   W2x M1-M2/100-M1
= 24,000 x (14.5-12)/(100-14.5)
= 701.75    กก.

ดังนั้นในกรณีที่ต้องการเก็บข้าวโพดไว้รอราคา ควรจะต้องพิจารณาถึงน้ำหนักข้าวโพดที่ลดลงกับราคาที่อาจจะเพิ่มขึ้นว่าจะคุ้มกันหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาข้าวโพดที่ขึ้นลงในแต่ละปีไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน

 การจัดการหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดของเกษตรกร
แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ การเก็บเกี่ยว การลดความชื้น และการเก็บรักษาผลผลิต

การเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปการเก็บเกี่ยวข้าวโพดยังใช้แรงงานคน โดยจะใช้ไม้ปลายแหลมกรีดปลอกเปลือก แล้วหักฝักข้าวโพดโยนกองรวมกันไว้บนพื้นดินหรือในเข่ง จากนั้นจึงเทรวมใส่กระสอบ แล้วขนเข้าไปเทกองรวมกันไว้ในยุ้งหรือบริเวณใกล้เคียงโดยไม่มีการจัดการใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าฝักข้าวโพดยังมีความชื้นสูงจะทำให้เกิดความร้อนในกองข้าวโพด เนื่องจากถูกเชื้อราเข้าทำลายและเกิดการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน

ปัจจุบันแรงงานเก็บเกี่ยวข้าวโพดขาดแคลนมากขึ้น ในเขตปลูกข้าวโพดที่เป็นพื้นที่ราบ เช่น เขตสระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ นิยมจ้างรถเก็บเกี่ยวแบบเครื่องเกี่ยวนวดชนิดขับเคลื่อนด้วยตนเอง (Combine Harvester) มาเก็บเกี่ยวข้าวโพด เครื่องชนิดนี้มีหัวเกี่ยวที่สามารถเกี่ยวข้าวโพดได้ที่ละ 4 แถว ฝักข้าวโพดที่ถูกปลิดจะถูกลำเลียงด้วย ชุดลำเลียงไปสู่ระบบนวดเพื่อนวดเมล็ดให้ออกจากฝัก จากนั้นเมล็ดจะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในถังเก็บ เมื่อเต็มถังจะถูกถ่ายไปยังรถบรรทุกที่รออยู่ข้างแปลง จากการทดสอบ พบว่า ชุดเก็บเกี่ยวข้าวโพดสามารถทำงานได้ดีมาก แต่เนื่องจากตัวถังมีขนาดใหญ่ (น้ำหนักประมาณ 10 ตัน) ในฤดูเก็บเกี่ยวที่ดินยังมีความชื้นอยู่ ทำให้ติดหล่ม ทำงานไม่สะดวก ต้องใช้รถแบบที่มีล้อตะขาบแทน ซึ่งดัดแปลงมาจากรถเกี่ยวข้าว และกำลังเป็นที่นิยมของชาวไร่ เนื่องจากไม่ทำให้ดินแน่น แต่คุณภาพยังไม่ดีเท่ากับเครื่องเกี่ยวนวดข้าวโพดโดยตรง นอกจากนี้การที่เมล็ดยังมีความชื้นสูง ถ้าหากไม่สามารถลดความชื้นให้ลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้ทัน (ตารางที่ 4) ก็จะทำให้เมล็ดเน่าเสียได้ง่าย

ระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวข้าวโพดด้วยเครื่องเกี่ยวนวด คือ เมื่อข้าวโพดมีความชื้นประมาณ 21-28 % การเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่มีความชื้นสูงกว่าจะสิ้นเปลืองพลังงานในการลดความชื้นมาก แต่ถ้าเก็บเกี่ยวช้าเกินไปจะมีความเสียหายในแปลงเนื่องจากต้นล้ม

นอกจากนี้ยังมีเครื่องเก็บเกี่ยวแบบปลิดฝักข้าวโพด (Corn Snapper) แบบปลิดและรูดเปลือกหุ้มฝักข้าวโพด (Corn Picker-Husker) ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถเก็บเกี่ยวได้ที่ละ 1-2 แถว

ปัจจุบันในหลาย ๆ ท้องที่นิยมซื้อขายข้าวโพดทั้งฝักมากขึ้น โดยฝักข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละวันเกษตรกรจะนำไปขายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นทันที และพ่อค้าท้องถิ่นจะกะเทาะฝักข้าวโพดก็ต่อเมื่อลานตากว่าง ซึ่งการเก็บข้าวโพดความชื้นสูงในรูปฝักจะมีระยะปลอดภัยนานกว่าการเก็บเป็นเมล็ด

อายุการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่มีความชื้นที่เหมาะสม คือ มีความชื้นต่ำกว่า 23 % จะช่วยรักษาคุณภาพของข้าวโพดขณะเก็บรักษาในยุ้งของเกษตรกร จากการเข้าทำลายเชื้อราและการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน แต่เนื่องจากความชื้นของเมล็ดขณะเก็บเกี่ยว จะขึ้นอยู่กับอายุ พันธุ์ และสภาพแวดล้อม (ดังแสดงในรูปที่ 1-3)   ในขณะเดียวกันมีพันธุ์ข้าวโพดที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะศึกษาเพื่อหาอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของแต่ละพันธุ์ได้  แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเพื่อหาตัวชี้วัดอายุเก็บเกี่ยวในข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวจำนวน 4-5 พันธุ์ พบว่า หลังจากที่ใบข้าวโพดแห้งหรือเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวหมดทั้งแปลงแล้ว ข้าวโพดจะมีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 25 % และหลังจากนั้นอีก 7 วัน ข้าวโพดจะมีความชื้นต่ำกว่า 23 %

การลดความชื้น วิธีการลดความชื้นแบ่งออกเป็น 2 วิธีการ คือ โดยวิธีการตากแดด และการใช้เครื่องลดความชื้น

การตากแดด เป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไป โดยเฉพาะการตากเมล็ดบนลานคอนกรีต เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่ำ ในวันที่มีแดดดีสามารถลดความชื้นได้ถึง 7 % แต่มักจะมีปัญหาจากฝนที่ตกอยู่เสมอในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวโพด

การใช้เครื่องลดความชื้น โดยหลักการแล้วเครื่องลดความชื้นเมล็ดพืชแบบต่าง ๆ มีหลักการทำงานที่คล้ายกัน คือการเป่าลมที่ถูกปรับสภาพให้มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ โดยการเพิ่มอุณหภูมิของอากาศให้ผ่านเข้าไปในกองเมล็ดพืช เพื่อให้เกิดการระเหยของน้ำออกจากเมล็ดพืช ดังนั้นองค์ประกอบของเครื่องอบจึงมีเพียง 3 ส่วน คือ โครงสร้างที่เป็นภาชนะสำหรับบรรจุเมล็ด เครื่องเป่าลม   และต้นกำเนิดความร้อน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ตามลักษณะการทำงาน คือ ชนิดเมล็ดพืชอยู่นิ่ง และชนิดเมล็ดพืชไหล

เครื่องลดความชื้นแบบเมล็ดพืชหยุดนิ่ง ส่วนใหญ่เป็นแบบกระบะหรือถังกลม มีตะแกรงสำหรับให้ลมร้อนผ่านทางด้านล่าง ใช้อบเมล็ดได้เป็นครั้ง ๆ  ซึ่งมีข้อดี คือ สร้างง่าย ราคาถูก เหมาะสมกับปริมาณผลผลิตไม่มากนัก แต่มีข้อเสีย คือ ใช้แรงงานมากในการบรรจุเมล็ดเข้าอบและถ่ายเมล็ดออก เมล็ดแห้งไม่สม่ำเสมอ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง

เครื่องแบบเมล็ดพืชไหล คือ เครื่องลดความชื้นที่ทำงานโดยให้เมล็ดพืชไหลผ่านลมร้อนอย่างต่อเนื่อง  โดยเมล็ดที่ผ่านการการลดความชื้นแล้ว (ยังไม่แห้ง) จะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในถังพักระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงนำมาผ่านเครื่องลดความชื้นใหม่ จนกว่าจะได้ความชื้นตามที่ต้องการ ซึ่งมีข้อดี คือ สามารถลดความชื้นเมล็ดพืชได้อย่างต่อเนื่อง ใช้แรงงานน้อย และสามารถลดความชื้นได้รวดเร็วกว่าแบบหยุดนิ่ง แต่มีข้อเสีย คือ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและพลังงานสูง ต้องใช้เมล็ดพืชที่ทำความสะอาดแล้ว และต้องมีความรู้ในการควบคุมและจัดการเพื่อให้มีประสิทธิภาพ

เทคนิคการลดความชื้นของข้าวโพดโดยใช้เครื่องลดความชื้น

  1. การใช้เครื่องลดความชื้นเมล็ดพืชแบบไหลต่อเนื่องจำเป็นที่จะต้องรู้ข้อจำกัด ต่าง ๆ ของเมล็ดพืชที่จะทำการลดความชื้น และของเครื่องลดความชื้นนั้น
  2. หมั่นตรวจสอบการทำงานของเครื่องอย่างสม่ำเสมอ
  3. ในขณะที่เครื่องทำงานจำเป็นต้องมีเมล็ดบรรจุอยู่เต็ม เพื่อป้องกันไม่ให้ลมร้อนหนีออกทางช่องว่างของตะแกรง
  4. บำรุงรักษาชุดขับเคลื่อนต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ก่อนใช้งาน ทุกครั้ง
  5. หมั่นทำความสะอาดท่อลมและชุดถ่ายเมล็ดทุกครั้งหลังการใช้งาน เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่นละออง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ขึ้นได้
  6. ไม่ควรนำเมล็ดที่ยังร้อนอยู่ไปเก็บรักษาทันที เพราะเมล็ดที่ยังร้อนยังคายความชื้นออกมา

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การใช้เครื่องอบจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในการอบแต่ละครั้ง แต่เนื่องจากมีช่วงการใช้งานในการอบเมล็ดข้าวโพดเพียง 3-4 เดือนต่อปี ทำให้การใช้เครื่องอบไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

การเก็บรักษา ในระดับเกษตรกรนั้น ประมาณ 60 % ของเกษตรกรมียุ้งไว้สำหรับเก็บฝักข้าวโพด และฝักข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวมาจะถูกนำเข้ายุ้งโดยไม่มีการจัดการใด ๆ ทั้งสิ้น ระยะการเก็บรักษาโดยเฉลี่ยนานประมาณ 1 เดือน แบบของยุ้งเก็บข้าวโพดจะมีหลายแบบ เช่นทำคอกบริเวณใต้ถุนบ้าน หรือยุ้งแยกต่างหากจากบ้าน พื้นเสมอดินหรือยกพื้น พื้นยุ้งอาจทำด้วยไม้ไผ่ ไม้กระดาน หรือพื้นคอนกรีต และบางยุ้งไม่มีพื้นกองกับดินโดยตรง

ข้าวโพดเมื่อเก็บมาใหม่ ๆ ความชื้นในเมล็ดยังสูง อัตราการหายใจสูง ทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้น โดยข้าวโพดที่เก็บไว้ในยุ้ง อุณหภูมิภายในยุ้งจะสูงกว่าภายนอก 2-5oC และมีความชื้นสัมพัทธ์มากถึง 90-95 % เป็นผลให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมสำหรับเชื้อราในการสร้างสารพิษอะฟลาทอกซิน อัตราการลดความชื้นโดยธรรมชาติของกองข้าวโพดภายในยุ้งนั้นประมาณ 1-2 % ต่อสัปดาห์ และต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 1 เดือน ความชื้นจึงจะลดลงถึงระดับ 14 %

การปรับปรุงยุ้งเก็บข้าวโพดให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี สามารถระบายความร้อนและความชื้นออกจากกองข้าวโพดได้อย่างเพียงพอ จะทำให้บริเวณผิวของฝักข้าวโพดแห้งขึ้น ซึ่งช่วยลดการเกิดสารอะฟลาทอกซินได้ ส่วนการทำท่อระบายอากาศภายในยุ้ง พบว่าในทางปฏิบัติแล้วมีความยุ่งยากมาก

ในส่วนของแมลงศัตรูในโรงเก็บจะเริ่มพบการเข้าทำลายหลังจากเก็บรักษาไว้นานประมาณ 1 เดือน และปริมาณการเข้าทำลายจะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาการเก็บรักษา

สารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการป้องกัน
อันตรายของสารอะฟลาทอกซิน

อะฟลาทอกซินเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา Aspergillus flavus ซึ่งเจริญเติบโตบนผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วลิสง สารอะฟลาทอกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดสารหนึ่ง จากการประเมินของนักวิชาการหลายท่าน พบว่า ในด้านอาหารสัตว์สารอะฟลาทอกซินได้ทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทยในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่านับหลายพันล้านบาท ในด้านการเลี้ยงสัตว์สารอะฟลาทอกซินทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ปีก สุกร และสัตว์น้ำ (กุ้ง) มีการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการใช้อาหารลดลง อัตราการตายสูง มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ทำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคไม่ได้ผลตลอดจนการใช้ยาป้องกันโรคในระดับสูงขึ้น พ่อแม่พันธุ์ผสมพันธุ์ไม่ติดหรือมีการคัดทิ้งสูงมากในฟาร์ม และมีผลทำให้คุณภาพของเนื้อสัตว์ไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากเกิดสารพิษตกค้างในเนื้อสัตว์ นอกจากนี้สารอะฟลาทอกซินยังสามารถถ่ายทอดไปยังผลผลิต เช่น ไข่ นม ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ

การศึกษาเกี่ยวกับพิษของอะฟลาทอกซินต่อคนนั้นต้องศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณอะฟลาทอกซินที่ตรวจพบในอาหารที่คนกิน กับอาการของโรคหลังจากที่กินอาหารนั้น และปริมาณสารอะฟลาทอกซินที่ตรวจพบในเลือดหรือปัสสาวะ หรือจากอวัยวะต่าง ๆ ของคนไข้ เช่น ตับ อาการที่พบบ่อย คือ ตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งที่ตับ และกลุ่มอาการไรย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งพบมีอาการทางสมอง และมีไขมันแทรกภายในเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ เด็กมีอาการตัวร้อน ปวดท้อง อาเจียน บางรายอาจชักไม่รู้สึกตัวและส่วนมากจะตายภายใน 24-48 ชั่วโมง โรคนี้พบเป็นกันมากในเด็กทางภาคอิสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดอุดรธานีจนได้ชื่อว่า โรคสมองในเด็กจังหวัดอุดรธานี

การป้องกันอะฟลาทอกซินในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
อะฟลาทอกซินเกิดขึ้นในขั้นตอนไหน
จากการศึกษาขั้นตอนต่าง ๆ ของการผลิตข้าวโพดในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่แล้วการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินจะเกิดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยว โดยส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นกับข้าวโพดที่เก็บไว้ในยุ้งของเกษตรกร และปริมาณจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อข้าวโพดอยู่ในมือของพ่อค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะช่วงที่ข้าวโพดอยู่ในโกดังเพื่อรอลดความชื้น

แต่ในกรณีที่มีการระบาดของแมลง หนู หรือนก  จนทำให้ฝักข้าวโพดเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมากตั้งแต่อยู่ในแปลง ควรจะต้องพิจารณาว่าข้าวโพดแปลงนั้นมีการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินมาตั้งแต่ในแปลงแล้ว วิธีการที่จะแนะนำต่อจากนี้อาจจะไม่เหมาะสม

ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเกิดสารอะฟลาทอกซิน
การที่เชื้อรา A. flavus ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดสารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดจะสามารถเข้าทำลาย  เจริญเติบโต  และสร้างสารพิษในข้าวโพดได้นั้น   จะต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตมาประกอบกัน ปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วย อุณหภูมิ ความชื้นในเมล็ด ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ  ก๊าซออกซิเจน  สภาพความเป็นกรดด่างของเมล็ด  ระยะเวลาสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อราและสร้างสารพิษ และสภาพความสมบูรณ์ของเมล็ด ถ้าหากว่าปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่กล่าวมาเบื้องต้นมีสภาพไม่เหมาะสม เชื้อราก็จะเจริญเติบโตได้ช้าลงหรือไม่สามารถเจริญเติบโตและสร้างสารพิษได้เลย

จากปัจจัยที่กล่าวมาเบื้องต้น ความชื้นในเมล็ดเป็นปัจจัยที่สำคัญมากอย่างหนึ่งและสามารถจัดการได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ  ในการควบคุมการเจริญของเชื้อรา เพียงแต่ลดความชื้นในเมล็ดให้มีระดับต่ำจนเชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ก็จะสามารถป้องกันการเกิดสารอะฟลาทอกซินได้แล้ว ดังนั้นวิธีการที่ป้องกันอะฟลาทอกซินที่ง่าย ได้ผลดี และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด คือ ให้เกษตรปล่อยข้าวโพดไว้ในแปลงจนแห้งสนิทดีแล้วจึงทำการเก็บเกี่ยว หรือตากข้าวโพดให้แห้งทันทีหลังการเก็บเกี่ยว แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะพบว่า การเก็บเกี่ยวข้าวโพดส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก เนื่องจากเกษตรกรต้องเร่งทำการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเพื่อจะได้ใช้พื้นที่ปลูกพืชรุ่นที่สองต่อไป ทำให้ข้าวโพดที่ถูกเก็บเกี่ยวมายังมีความชื้นที่สูงมาก คือมีความชื้นตั้งแต่ 25-35 % หรือสูงถึง 40 %    ในขณะเดียวกันพ่อค้าคนกลางก็ยังรับซื้อข้าวโพดที่มีความชื้นสูง เพราะต้องการให้มีข้าวโพดผ่านมือในปริมาณมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะลดความชื้นของเมล็ดข้าวโพดที่ซื้อเข้ามา ให้ลงอยู่ในระดับที่ต้องการ คือ 18 % ได้ทันเวลาทั้งหมด เนื่องจากการลดความชื้นส่วนใหญ่จะใช้ลานตากข้าวโพด ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้เมื่อฝนตกติดต่อกันตลอดทั้งวันหรือเมื่อมีลมมรสุมพัดผ่าน

แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดอะฟลาทอกซินในข้าวโพด
เนื่องจากสารอะฟลาทอกซินสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตข้าวโพด ตราบใดที่เมล็ดยังมีความชื้นสูงพอสำหรับการเจริญของเชื้อรา แต่เชื้อราก็ยังต้องการความชื้นและเวลาที่แตกต่างกันในการเข้าทำลายข้าวโพดที่เก็บในสภาพต่างกัน เช่น ในสภาพฝักหรือเมล็ด       ดังนั้นวิธีการป้องกันสารอะฟลาทอกซินจึงต้องแตกต่างกันไปในแต่ละขั้นตอนของการผลิต เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินหรือเกิดน้อยที่สุดในขั้นตอนนั้น ๆ

แนวทางปฏิบัติในไร่

  1. เลือกฤดูปลูกที่เหมาะสม

1.1 เลื่อนฤดูปลูกข้าวโพดให้ล่ากว่าปกติ เพื่อที่จะได้มีเวลาปล่อยให้ข้าวโพดได้แห้งในแปลงและเก็บเกี่ยวในช่วงที่ไม่มีฝนตกแล้ว โดยทำการปลูกข้าวโพดในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกรกฎาคม หรือปลูกข้าวโพดเป็นพืชที่สองหลังพืชอายุสั้นอื่น ๆ  เช่น ถั่วเขียวหรือถั่วเหลืองพันธุ์อายุสั้น แล้วเก็บเกี่ยวข้าวโพดหลังจากฝักแห้งสนิท วิธีการนี้อาจจะทำให้ได้ผลผลิตของข้าวโพดต่ำกว่าการปลูกในช่วงต้นฤดูฝน แต่การเลื่อนฤดูปลูกนอกจากจะช่วยลดการเกิดสาร อะฟลาทอกซินในข้าวโพดได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากฝนทิ้งช่วงในระยะที่ข้าวโพดออกดอกและติดฝักอีกด้วย

1.2 การปลูกข้าวโพดในนาในช่วงฤดูแล้ง น่าจะเป็นอีกฤดูหนึ่งที่จะสามารถผลิตข้าวโพดให้ปลอดสารอะฟลาทอกซินได้ดี เพราะเกษตรกรไม่ต้องเร่งทำการเก็บเกี่ยว สามารถปล่อยข้าวโพดให้แห้งในแปลงได้ และเมื่อพ่อค้าคนกลางรับซื้อข้าวโพดไปแล้ว ก็มีแดดเพียงพอต่อการลดความชื้นให้ลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้ทันเวลา

  1. การเก็บเกี่ยว

2.1 การเก็บเกี่ยวด้วยมือหรือเครื่องปลิดฝัก

2.1.1 ระยะการเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ดีที่สุด คือ เก็บเกี่ยวเมื่อฝักข้าวโพดแก่จัด โดยปล่อยข้าวโพดไว้ในแปลงต่อไปอีก 1-2 สัปดาห์หลังจากที่ใบข้าวโพดแห้ง (เปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวหมดทั้งแปลงแล้ว) ที่ระยะดังกล่าวเมล็ดจะมีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 23 % ซึ่งจะปลอดการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา

2.1.2 ในกรณีที่เกษตรกรต้องการจะใช้พื้นที่ เพื่อปลูกพืชที่สองตามหลังข้าวโพด การเก็บเกี่ยวที่เร็วที่สุดที่จะทำได้ คือ เริ่มเก็บเกี่ยวหลังจากที่ต้นและใบข้าวโพดเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวหมดทั้งแปลงแล้ว ซึ่งที่ระยะดังกล่าวข้าวโพดจะมีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 25 % จะทำให้สามารถเก็บรักษาฝักข้าวโพดไว้ได้นานถึง 60 วัน โดยมีการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในปริมาณค่อนข้างต่ำ

ในส่วนของเกษตรกรมีลานหรือแคร่สำหรับตากหรือผึ่งข้าวโพด ก็ยังควรที่จะเก็บข้าวโพดที่มีความชื้นต่ำกว่า 25 % เพราะความชื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวจะมีผลต่อการเกิดสารอะฟลาทอกซินมาก และในขณะที่ทำการเก็บเกี่ยวควรแยกฝักเสียและฝักที่เป็นราออก

2.2 การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด

ใบข้าวโพดทีเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวหมดทั้งแปลง

การเก็บเกี่ยวแบบนี้เครื่องเก็บเกี่ยวจะปลิดฝักและกะเทาะเมล็ดไปพร้อม ดังนั้นหลังการเก็บเกี่ยวจะต้องลดความชื้นของเมล็ดให้ลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย คือ ต่ำกว่า 17.5 % ภายในระยะเวลา 2 วัน หลังจากนั้นสามารถที่จะทำการลดความชื้นได้อย่างช้า ๆ จนถึงระดับ 14 % ซึ่งเป็นระดับความชื้นที่ปลอดภัยในการเก็บรักษาเมล็ด

  1. การเก็บรักษาฝักข้าวโพด

วิธีการเก็บรักษาจะเป็นผลที่ต่อเนื่องมาจากการเก็บเกี่ยว คือ

3.1 การเก็บฝักข้าวโพดที่มีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 25 % จะช่วยให้สามารถเก็บฝักข้าวโพดได้นานถึง 60 วัน โดยมีการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในปริมาณค่อนข้างต่ำ ที่พอจะยอมรับได้

3.2 การเก็บฝักข้าวโพดที่มีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 23 % จะมีการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในปริมาณต่ำ ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา

3.3 หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ยังมีความชื้นสูงกว่า 25 % ควรจะจำหน่ายทันทีที่เก็บเกี่ยวเสร็จ หรือไม่ควรเก็บไว้เกิน 15 วัน นับจากวันที่เริ่มทำการเก็บเกี่ยว เพราะในระยะ 15 วันแรกนี้เป็นระยะที่เชื้อรากำลังเจริญเติบโต จึงยังไม่ทันสร้างสารอะฟลาทอกซินได้มากนัก หากเก็บไว้นานเกิน 15 วัน ปริมาณการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเก็บฝักข้าวโพดควรเก็บไว้ในยุ้งที่สามารถถ่ายเทอากาศได้ดี โดยการยกพื้น ตีฝาด้วยไม้ระแนง และไม่กองข้าวโพดให้หนาเกินไป จะช่วยลดการเกิดสารอะฟลาทอกซินได้บ้าง และไม่ควรกองฝักข้าวโพดไว้บนดิน

  1. การเก็บรักษาเมล็ดข้าวโพด

ในขั้นตอนนี้อาจจะกล่าวได้ว่า เมล็ดจะอยู่ในการจัดการของพ่อค้าคนกลางแล้ว และจากการสำรวจก็พบว่า การปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินจะเกิดขึ้นในช่วงนี้มากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจาก การกะเทาะฝักข้าวโพดนอกจากจะทำให้เมล็ดข้าวโพดบางส่วนแตก ซึ่งทำให้เชื้อราสามารถเข้าทำลายเมล็ดได้รวดเร็วกว่าเมล็ดที่มีสภาพสมบูรณ์  การกะเทาะยังเหมือนกับเป็นการช่วยคลุกสปอร์ของเชื้อราให้แพร่กระจายไปกับทุกเมล็ดได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย ดังนั้นหลังการกะเทาะจึงจำเป็นที่จะต้องลดความชื้นของเมล็ดให้เร็วที่สุด โดยมีวิธีปฏิบัติให้เลือกดังต่อไปนี้

4.1 หากเมล็ดยังมีความชื้นสูง ควรลดความชื้นให้ลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย คือ ต่ำกว่า 17.5 % ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังการกะเทาะ หากปล่อยไว้นานกว่านี้จะเริ่มพบเชื้อรา A. flavus ซึ่งมีสีเขียวบนกองข้าวโพด ในระยะ 4-5 วันหลังการกะเทาะการเกิดสารอะฟลาทอกซินอาจจะยังไม่สูงมากนัก แต่หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

4.2 เมล็ดข้าวโพดที่มีความชื้นต่ำกว่า 17.5 % สามารถเก็บไว้ได้ชั่วคราว

4.3 ความชื้นในเมล็ดข้าวโพดที่ระดับ 14 % เป็นระดับที่ปลอดภัยในการเก็บรักษา แต่ต้องมีการระบายอากาศอยู่เสมอ

4.4 หากไม่สามารถลดความชื้นในเมล็ดที่อยู่ในช่วง 20-30 % ให้ลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้ สามารถชะลอการเน่าเสียและการเกิดสารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดที่มีความชื้นสูงเป็นการชั่วคราวได้ โดยการรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อัตรา 0.5 กิโลกรัม/เมล็ด 1 ตัน หรือดูดอากาศภายในกองออกก่อนด้วยเครื่องดูดอากาศ แล้วจึงรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อัตรา 0.3 กิโลกรัม/เมล็ด 1 ตัน จะสามารถรักษาคุณภาพของข้าวโพดได้ 10 วันเป็นอย่างต่ำ

 การกำจัดพิษสารอะฟลาทอกซิน (Detoxification)
การกำจัดสารอะฟลาทอกซินที่ปนเปื้อนอยู่ในข้าวโพด เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้สามารถนำข้าวโพดที่ปนเปื้อนมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดความเสียหายทางเศรษฐกิจลงได้ การกำจัดสารพิษสามารถทำหลายวิธี ทั้งโดยวิธีการทางกายภาพ โดยการคัดแยกเมล็ดข้าวโพดที่ปนเปื้อนออก การใช้สารละลายสกัดสารอะฟลาทอกซินออกมาจากข้าวโพด หรือใช้วิธีการทางเคมีเพื่อทำให้สาร อะฟลาทอกซินไม่เป็นพิษต่อร่างกาย

วิธีการทางฟิสิกส์และกายภาพ

การใช้ความร้อน โดยการต้ม การนึ่ง การคั่ว และการอบ ทำให้อะฟลาทอกซินลดลงได้บ้าง แต่ไม่หมด

การใช้แสงรังสี แสงที่จะทำลายได้คือ แสงอุลตราไวโอเลต ซึ่งมีในแสงแดด ดังนั้นการนำเอาข้าวโพดออกมาตากแดดนอกจากจะลดความชื้นลงแล้ว ยังทำลายอะฟลาทอกซินลงได้

การใช้สารดูดซับ สารดูดซับที่ดีและสามารถดูดจับอะฟลาทอกซินได้ดีนั้นเป็นพวก alumina, zeolites, silica, phyllosilicates และ modified phyllosilicates เป็นสารดูดซับที่ดีมาก โดยเฉพาะจาก hydrate sodium calcium aluminosilicate

นอกจากนี้ยังมีสารดูดซับที่เป็นสารอินทรีย์ที่สกัดมาจากคาร์โบไฮเดรท เช่น aligosaccharide, nonstarch polisaccharide เช่น mannan ซึ่งสกัดได้จากพืชหัว ตลอดจนสาร ไคติน และไคโตแซน ซึ่งสกัดได้จากเปลือกกุ้งและปู

การผสมกับข้าวโพดที่มีคุณภาพดี การผสมข้าวโพดที่ปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซินกับข้าวโพดที่มีคุณภาพดีเพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ในฟาร์ม จะช่วยลดความเข้มข้นของสารพิษที่สัตว์จะได้รับลงได้

วิธีทางเคมี เช่น การใช้สารละลายสกัดสารอะฟลาทอกซินออกจากอาหาร การใช้สารเคมีทำให้สารอะฟลาทอกซินไม่เป็นพิษ การออกซิเดชั่น และการทำให้สารอะฟลาทอกซินเสียโครงสร้าง

ออกซิเดชั่น (Oxidation) เช่น clorox (NaOCl), Cl2, H2O2, N2O, I2, KmnO4 และ m-chloroperoxybenzonic พบว่าลดพิษอะฟลาทอกซินลงได้

ไฮดอกซิเลชัน (hydroxylation) โดยการเติมหมู่ไฮดรอกซีลงไปที่พันธะคู่ของ วงแหวนไบพิวแรน โดยการเติมสารเร่งปฏิกิริยาพวกกรดซัลฟูริก จะช่วยทำลายสารอะฟลาทอกซินได้

ไฮโดรไลซีส (hydrolysis) ในปฏิกิริยาที่เป็นด่างโดยใช้ sodium hydroxide, ammonia, methylamine, sodium bicarbonate และ calcium hydroxide ปัจจุบันนำมาใช้ใน   อุตสาหกรรมน้ำมันพืช สำหรับในอาหารสัตว์ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้

แอมโมเนียชัน (ammoniation) เป็นวิธีการที่แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในประเทศอเมริกา โดยการใช้สารละลายหรือก๊าซแอมโมเนียในสภาพบรรยากาศปกติ หรือในสภาพที่มีอุณหภูมิหรือแรงดันสูง เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำลาย สารอะฟลาทอกซินที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร การใช้สารแอมโมเนียสามารถลดการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินจาก 100 ppb เหลือเพียง 10 ppb ในกองข้าวโพดขนาดเล็ก แต่ประสิทธิภาพจะลดลงในกองข้าวโพดขนาดใหญ่ (40 ตัน) (Brekke et al., 1978) โดยไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของการใช้ข้าวโพดเป็นอาหาร แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องกลิ่นและการเปลี่ยนสีของเมล็ดยังเป็นปัญหาต่อการยอมรับ

สารเคมียับยั้งเชื้อรา (antimold) เช่น acetic, propionic acid, sodium metabisulfide, butyric acid, malonic acid, benzoic acid, sorbic acid, lactic acid และ citric acid

วิธีการและขั้นตอนการรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกองข้าวโพดความชื้นสูง

วิธีการรมก๊าซ ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไป

  1. การกองข้าวโพด เป็นแบบกองพูน ให้ชายกองห่างจากฝาโกดังอย่างน้อย 1 เมตร ผิวกองควรเรียบสม่ำเสมอ เพื่อลดช่องว่างระหว่างผิวกองกับผืนพลาสติก ซึ่งจะเป็นการประหยัดก๊าซ ส่วนขนาดของกองนั้นไม่จำกัดปริมาณ ขึ้นอยู่กับขนาดของผืนพลาสติกที่จะใช้คลุมกอง
  2. การคลุมกอง ใช้ผืนพลาสติกชนิดเดียวกับที่ใช้รมยาฆ่าแมลง หรือผืนพีวีซี ที่มีความหนาตั้งแต่ 0.10 มิลลิเมตร คลุมให้ทั่วกอง แล้วใช้ม้วนกระสอบเปล่า (10 กระสอบ/ม้วน) วางทับชายข้าวโพดจนรอบกอง เพื่อป้องกันการถ่ายเทของอากาศ
  1. การรมก๊าซ ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อัตรา 0.5 กก./เมล็ด 1 ตัน และทำการรมก๊าซเพียงครั้งเดียวหลังจากคลุมกองเท่านั้น โดยใช้สายยางต่อจากถังก๊าซเข้าไปในกอง ให้ปลายอีกด้านหนึ่งเสียบเข้าไปในกองข้าวโพดลึกประมาณ 15-20 ซม. แล้วปล่อยก๊าซตามปริมาณที่ต้องการ จากนั้นเอาสายยางออกแล้วปิดทับชายพลาสติกให้เรียบร้อย

ในกรณีที่จะใช้วิธีการดูดอากาศออกก่อน ให้ใช้เครื่องดูดฝุ่นหรือเครื่องดูดอากาศ (Blower) ดูดอากาศภายในกองออกก่อน จนผืนพลาสติกที่คลุมกองข้าวโพดตึงและแนบติดแน่นกับผิวกองข้าวโพดนานประมาณ 10-15 นาที จากนั้นดึงท่อดูดอากาศออก แล้วรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อัตรา 0.3 กก./เมล็ด 1 ตัน

การตรวจสอบปริมาณก๊าซที่ปล่อยเข้ากอง ทำได้โดยวางถังบรรจุก๊าซบนเครื่องชั่งขณะปล่อยก๊าซ น้ำหนักของถังก๊าซที่ลดลงจะเท่ากับปริมาณก๊าซที่ปล่อยเข้ากอง ส่วนการปล่อยก๊าซจะปล่อยจากจุดเดียวหรือหลายจุดก็ได้ เพราะก๊าซจะฟุ้งกระจายไปรอบ ๆ กอง

การรมก๊าซควรจะต้องเริ่มรมกองข้าวโพดภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังการกะเทาะ จะช่วยรักษาคุณภาพของข้าวโพดที่มีความชื้นอยู่ระหว่าง 20-30 % ได้ 10 วันเป็นอย่างต่ำ เมื่อมีแดดก็นำข้าวโพดออกมาตาก เพราะการรมก๊าซไม่สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อราได้

ข้อควรระวัง
– ขณะที่ทำการปล่อยก๊าซ ไม่ควรวางปลายสายยางไว้ที่ผิวของกองข้าวโพดติดกับผืนพลาสติก เพราะความเย็นและแรงของก๊าซที่ปล่อยออกมาจะทำให้ผืนพลาสติกขาดได้ง่าย แต่ให้เสียบเข้าไปในกองตามคำแนะนำเบื้องต้น

– วิธีการรมก๊าซไม่สามารถใช้ได้กับกองข้าวโพด ที่มีความชื้นมากกว่า 30 % เพราะจะเกิดการเข้าทำลายของเชื้อยีสต์ในกองข้าวโพด

บรรณานุกรม
ดาเรศร์ กิตติโยภาส และประเสริฐ วิเศษสุวรรณ. 2542. วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพด. เอกสารประกอบการอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและพ่อค้าข้าวโพด-ถั่วลิสง เรื่องการรณรงค์ป้องกันสารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถั่วลิสงระดับท้องถิ่น. 31    สิงหาคม – 3 กันยายน 2542. ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น. น. 82-114.

โครงการศูนย์วิจัยการปรับปรุงคุณภาพข้าวโพด. 2535. (ข) II ข้อมูลวิชาการด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว. เอกสารวิชาการเรื่องการป้องกันสารพิษแอฟลาทอกซินในข้าวโพดของประเทศไทย. กรมวิชาการเกษตร องค์การร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น น. 31-43

บุษรา จันทร์แก้วมณี. แมลงศัตรูผลิตผลเกษตร. เอกสารประกอบการบรรยายการอบรมหลักสูตรแมลง-สัตว์ศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด ครั้งที่ 10. กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพมหานคร. 51 น.

เสริมศักดิ์ หงส์นาค. 2543. หนูศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด.    ใน  เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา เรื่องหนูศัตรูพืชและมนุษย์. กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมนี, สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย. 23-24 พฤษภาคม 2543 โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด จ. ขอนแก่น.

วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ. 2542. วิธีป้องกันอะฟลาทอกซินในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วลิสง. เอกสารประกอบการอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและพ่อค้าข้าวโพด-ถั่วลิสง เรื่อง การรณรงค์ป้องกันสารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถั่วลิสงระดับท้องถิ่น. 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2542. ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น. น. 75-82.

วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ. 2543. ผลของฤดูปลูกและอายุการเก็บเกี่ยวที่มีต่อผลผลิตและความชื้นในเมล็ดข้าวโพด. รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2543. ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์.

Aldrich, S.R., Scoot, W.O. and Leng, E.K.. 1975. Modern Corn Production. Illinois. USA. 378 p.

Brekke, O. L., A. C. Stringfellow, A. J. Peplinski. 1978. Aflatoxin inactivation in corn by ammonia gas: Laboratory trials. J. Agric. Food Chem. , 26, 1383-1389.

Burge, R.M. & Duensing, W.J. 1989. Processing and dietary fiber ingredient applications of com bran. Cereal Foods World, 34: 535-538.

Sinha, R.N., and Muir,W.E. 1971. Grain Storage – Part of a System. Canada.

USDA. 1968. Guideline for mold control in high moisture corn. Farmer’s Bull. 2238, 16 p.

Bunge. Typycal Composition of Yellow Dent Corn.  http://www.bungenorthamerica.com/ news/pubs/03_bunge_milling_process_diagram.pdf

Sukup. Principles of grain drying corn. http://www.sukup.com_basics.htm