เพลี้ยจักจั่นฝ้าย (Cotton jassid ; Amrasca biguttula Ishida) เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญต่อการปลูกฝ้ายของไทยมาก ระบาดทุกระยะการเจริญเติบโต ทำให้ต้นฝ้ายในระยะต้นอ่อนไม่เจริญเติบโต หรือตายไปทั้งต้น เพลี้ยจักจั่นฝ้ายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและปล่อยสารพิษเข้าไปในใบ ทำให้ใบเหลืองที่ขอบใบ ต่อมาใบเปลี่บนเป็นสีน้ำตาลแดง ใบงุ้มงอลง ใบแห้งและร่วงในที่สุด หากระบาดรุนแรงในระยะฝ้ายต้นโต ใบจะแห้งกรอบ ส่งผลต่อการสร้างอาหารไปเลี้ยงดอกและสมอ ทำให้ดอกและสมอร่วง ผลผลิตลดลง
การป้องกันกำจัด
– คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วย อิมิดาโคลพริด 70% WS หยอดเมล็ดในช่วงที่ฝนตก หรือดินมีความชื้น
– สำรวจการระบาดของเพลี้ยจักจั่นบนใบฝ้าย เมื่อพบตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัวต่อใบ ในระยะฝ้ายอายุไม่เกิน 1 เดือน และ 2 ตัวต่อใบ เมื่อฝ้ายอายุเกิน 1 เดือน ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงโอเมโทเอต 50% SL อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 1B) หรือ อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 10 มล./น้ํา 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 5% EC อัตรา 20 มล./น้ํา 20 ลิตร (กลุ่ม 4A)
การพ่นสารฆ่าแมลงแบบน้ํามาก (เกิน 80 ลิตร/ไร่) ใช้เครื่องยนต์พ่นสารสะพายหลังแบบใช้แรงลม (mistblower) ฝ้ายอายุไม่เกิน 30 วัน ใช้น้ําไร่ละ 20 ลิตร อายุไม่เกิน 60 วัน ใช้น้ําไร่ละ 40 ลิตร อายุเกิน 60 วัน ใช้น้ําไร่ละ 80 ลิตร