การขาดธาตุแมงกานีสในข้าวโพด

แมงกานีส (Manganese; Mn)
พืชดูดใช้แมงกานีสในรูปของแมงกานีสไอออน (Mn2+) เพื่อกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ และเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ช่วยแยกโมเลกุลของน้ำในกระบวนการสังเคราะห์แสง และกระบวนการเมตาโบลิซึมของคาร์โบไฮเดรต ช่วยเสริมความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสและแคลเซียม

พืชต้องการแมงกานีสเล็กน้อย เนื่องจากพืชสามารถนำแมงกานีสกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยพบในพืช 20-150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบอาการขาดแมงกานีส แต่ถ้ามีอาการขาดแมงกานีสจะทำให้ผลผลิตลดลง ความเป็นประโยชน์ของแมงกานีสจะขึ้นกับความเป็นกรด-ด่างของดิน โดยความเป็นกรด-ด่าง 6.5 หรือต่ำกว่า ทำให้ความเป็นประโยชน์ของแมงกานีสเพิ่มขึ้น แต่ที่ความเป็นกรด-ด่างของดินที่ระดับ 7 หรือมากกว่า ความเป็นประโยชน์จะลดลง พืชจะแสดงอาการขาดแมงกานีส

ลักษณะอาการขาดธาตุแมงกานีส
จะเริ่มที่ใบเกิดใหม่มีลายสีเขียวสลับเหลืองหรือขาว โดยพื้นที่ระหว่างเส้นใบจะมีสีเหลือง ส่วนบริเวณที่ติดกับเส้นใบยังคงมีสีเขียว ปลายใบสีเขียว ทำให้ต้นเตี้ย แคระแกร็น ใบที่ยอดอาจบิดเบี้ยวหรือม้วนย่น หากขาดธาตุแมงกานีสอย่างรุนแรงใบจะแห้งตาย ลำต้นผอมยาว มักเกิดในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ดินทรายที่มีความเป็นด่างสูง

การแก้ไขอาการขาดแมงกานีส
สามารถทำได้โดย พ่นแมงกานีสซัลเฟตความเข้มข้น 0.2-0.3 เปอร์เซ็นต์

ที่มา : เอกสารวิชาการ คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับพืชไร่เศรษฐกิจ. กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2564