อาการผิดปกติของข้าวโพดที่เกิดจากสารกำจัดวัชพืช

การใช้สารกำจัดวัชพืชเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตพืชของเกษตรกร เนื่องจากสะดวก มีประสิทธิภาพ ทดแทนการใช้แรงงานคน เพื่อป้องกันกำจัดวัชพืชในไร่ของตน การใช้สารกำจัดวัชพืชในไร่ข้าวโพด เกษตรกรควรศึกษาข้อมูล ชนิด/ประเภทของสาร วิธีการใช้อย่างละเอียด  โดยใช้ให้ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม  และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้สาร เพื่อลดผลกระทบของสารกำจัดวัชพืชต่อพืชปลูกในด้านการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต

ทูโฟว์ดี (2,4-D)
อาการผิดปกติเกิดได้ทั้งจากการที่เกษตรกร พ่นสารเพื่อกำจัดวัชพืชในแปลงข้าวโพด หรือ มีการปลิวจากพื้นที่ข้างเคียง ในภาพเกิดจากการปลิวของสารทูโฟว์ดีจากการใช้ในแปลงอ้อยที่มีแปลงอยู่ติดกัน อาการที่พบ ส่วนโคนต้นข้าวโพดปริหัก ทำให้ใบแห้ง ต้นตาย บางต้นโคนใบบิด ใบม้วนพันกัน ไม่คลี่ (ซึ่งคล้ายการขาดธาตุแคลเซียม) ใบขาดย่น ใบย่นผิดรูป บางครั้งพบว่ามีการแตกหน่อ 3-4 ต้น (ภาพขวาล่าง)

การปลิวของทูโฟว์ดีจากการใช้ในแปลงข้างเคียง มาสู่แปลงข้าวโพด
เกษตรกรพ่นทูโฟว์ดี เพื่อกำจัดวัชพืชประเภทเถา ในแปลงข้าวโพด ที่ระยะ 40 วัน

อามีทริน (ametryn)
ข้าวโพดที่ได้รับสารอามีทิรน ใบจะไหม้ แห้ง ขอบเขตไม่แน่นอน มักจะเกิดจากการปลิวมาจากการใช้ในแปลงอ้อย

อทราซีน (atrazine)
การพ่นอทราซีนซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก (pre-emergence)  ในแปลงหลังจากที่ข้าวโพดงอกแล้ว ทำให้ข้าวโพดใบเหลือง จนถึงใบไหม้

พาราควอท (paraquart)
เกิดจุดเนื้อเยื่อตาย สีขาวซีด บนใบ บริเวณที่ละอองสารมาสัมผัส

นิโคซัลฟูรอน (nicosulfuron)
การพ่นนิโคซัลฟูรอน เมื่อข้าวโพดอายุ 20 วันหลังงอก จะเกิดอาการผิดปกติ โดยทำให้ใบเป็นสีขาวซีดเป็นแถบ ใบย่น ตรงบริเวณที่ได้รับสารโดยเฉพาะซอกใบที่ละอองสารไหลไปรวมกัน  เมื่อใบยืดตัวตามการเจริญเติบโต รอยสีขาวจะขยับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ตามการยืดตัวของใบ โดยเกิดกับข้าวโพดบางพันธุ์

ซัลเฟนทราโซล (sulfentrazone)
การพ่นซัลเฟนทราโซล กำจัดวัชพืชก่อนการปลูกข้าวโพด เช่น พ่นเพื่อกำจัดแห้วหมู  ซัลเฟนทราโซลจะตกค้างอยู่ในดิน เมื่อปลูกข้าวโพดและงอกขึ้นมา  จะมีอาการใบไหม้ แห้ง ยุบตาย จึงควรหลีกเลี่ยงการพ่นในพื้นที่ก่อนการปลูกข้าวโพด

มีโซไตรโอน/อทราซีน (mesotrione/atrazine)
ข้าวโพดที่ได้รับสารมีโซไตรโอน/อทราซีน  มีอาการใบเหลืองซีด ขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ

ข้าวโพดใบเหลือง เกิดจากพ่นมีโซไตรโอน/อทราซีน เมื่อข้าวโพดอายุ 14 วัน

บทความที่เกี่ยวข้อง
การ
ทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก (pre-emergence) ในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
โดย สิริชัย สาธุวิจารณ์, ศิวิไล ลาภบรรจบ, สุพัตรา ชาวกงจักร์, จรรยา มณีโชติ และนิมิต วงศ์สุวรรณ

เพื่อให้ได้วิธีการจัดการวัชพืชประเภทก่อนงอกที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ดำเนินการในปี 2556  วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 4 ซ้ำ มี 13 กรรมวิธี ได้แก่ การพ่นสารกำจัดวัชพืช ไพโรซาซัลโฟน (pyroxasulfone)  ฟลูมิโอซาซิน (flumioxazin)  อทราซีน (atrazine)  เอส-เมโทลาคลอร์ (s-metolachlor) เพนดิเมธาลิน (pendimethalin)  อลาคลอร์ (alachlor) อเซโทลาคลอร์  (acetochlor)  นิโคซัลฟูรอน (nicosulfuron)  ไอโซซาฟลูโทล (isoxaflutole)  ไดเมทธีนามิด (dimethenamid)  และ มีโซไตรโอน/อทราซีน (mesotrione/atrazine) อัตรา 20, 10, 300, 180, 165, 320, 32, 20, 20, 270 และ 150 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ ตามลำดับ กรรมวิธีกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานและกรรมวิธีไม่กำจัดวัชพืช โดยปฏิบัติและดูแลรักษาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

ผลการทดลองพบว่า สารกำจัดวัชพืช ไพโรซาซัลโฟน (pyroxasulfone), ฟลูมิโอซาซิน (flumioxazin) อทราซีน (atrazine) , เอส-เมโทลาคลอร์ (s-metolachlor) เพนดิเมธาลิน (pendimethalin) อลาคลอร์ (alachlor) อเซโทลาคลอร์  (acetochlor) นิโคซัลฟูรอน (nicosulfuron)  ไอโซซาฟลูโทล (isoxaflutole)  ไดเมทธีนามิด (dimethenamid)  และ มีโซไตรโอน/อทราซีน (mesotrione/atrazine) ไม่เป็นพิษต่อต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ระยะ 30 วัน หลังพ่นสารกำจัดวัชพืช และมีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชได้ดี โดยวัชพืชที่สามารถควบคุมได้ คือ หญ้าตีนนก (Digitaria sanguinalis (L.). Scop.) หญ้าตีนกา (Eleusine indica Gaertn.) หญ้าตีนติด (Brachiaria reptans (L.) Gard & Hubb.) หญ้าดอกขาว (Leptochloa chinensis (L.) Nees.) สาบม่วง (Praxelis clematidea R.M. King) กระเพราะผี (Hyptis suaveolens L.) ผักเสี้ยนดอกม่วง (Cleome rutidosperma DC.) ผักเบี้ยหิน (Trianthema portulacastrum L.) หญ้ายาง (Euphorbia heterophylla L.) และกกทราย (Cyperus iria L.)