การระบาดของโรคใบไหม้แผลเล็ก

โรคใบไหม้แผลเล็ก (Southern corn leaf blight)
ระบาดมากในข้าวโพดที่ปลูกปลายฤดูฝน ปี 2564 พบระบาดรุนแรงมากในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีฝนตกชุก ทำให้มีความชื้นสูง

เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Bipolaris maydis (Nisik.) Shoemaker. (synonym Helminthosporium maydis Nisik) เข้าทำลายข้าวโพดในเขตอบอุ่นและร้อนชื้น สปอร์มีลักษณะยาวโค้ง ปลายเรียวมน สีเขียวมะกอก มีขนาดระหว่าง 10-7 X 30-115 ไมครอน มีผนังกั้น 3-13 เซลล์ การงอกออกทางปลายทั้งสองด้าน เมื่อนำใบข้าวโพดเป็นโรคมาบ่มที่ความชื้นในอุณหภูมิห้องจะสร้างสปอร์ในเวลา 24-48 ชั่วโมง ก้านชูสปอร์ยาวประมาณ 120-170 ไมครอน เจริญออกมาจากปากใบ

ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อจะพบการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (Perfect stage) เรียกว่า Pseudothecia รูปร่างกลม สีดำ มีส่วนปากค่อนข้างแหลมยื่นออกมาขนาด 0.4-0.6 มิลลิเมตร ภายในมีถุงบรรจุสปอร์ (ascus) รูปทรงกระบอก มีสปอร์ (ascospore) จำนวน 4-8 สปอร์ ลักษณะใส ไม่มีสี มี 5-9 เซลล์ รูปร่างคล้ายเส้นด้ายขนาด 6-7 X 130-340 ไมครอน พันกันเป็นเกลียวอยู่ภายในถุงบรรจุสปอร์ ซึ่งเป็นลักษณะของเชื้อ Cochliobolus heterostrophus (Drechs.) Drechs. เป็น perfect stage ของเชื้อรา Bipolaris maydis

ในประเทศไทยพบ mating type ของเชื้อ 2 แบบ คือ M1-1 และ M1-2 กระจายอยู่ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน และพบในแหล่งปลูกเดียวกัน (ศิวิไล, 2544) การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศนี้เป็นกลไกที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม จึงมีโอกาสเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ รุนแรงกว่าเดิมเข้าทำลายข้าวโพด

เชื้อรา Bipolaris maydis

การแพร่ระบาด  ติดไปกับเมล็ดที่เป็นโรค และโดยทางลม หรือฝนนำสปอร์ปลิวไป เมื่อเข้าทำลายพืชเป็นแผลบนใบสามารถสร้างสปอร์จำนวนมากแพร่กระจ่ายในแหล่งปลูก วงจรของโรคเริ่มจากเข้าทำลายจนสร้างสปอร์ใหม่ ภายในเวลา 60-72 ชั่วโมง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่ความชื้นสูง อุณหภูมิ 20-32 องศาเซลเซียส เชื้อราสามารถเข้าทำลายข้าวโพดได้หลายครั้ง ในแต่ละฤดูจากสปอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นแพร่กระจาย ไปกับลมและฝน แล้วเข้าทำลายข้าวโพดอีกหลายรอบ

ลักษณะอาการ เริ่มแรกเกิดจุดขนาดเล็ก สีเขียวอ่อนฉ่ำน้ำ ต่อมาจุดจะขยายออกตามความยาวของใบโดยจำกัดด้านกว้างของแผลขนานไปตามเส้นใบ ตรงกลางแผลจะมีสีเทาขอบแผลมีสีเทาน้ำตาล ขนาดแผลไม่แน่นอน แผลที่ขยายใหญ่เต็มที่มีขนาดกว้าง 6-12 มิลลิเมตร ยาว 6-27 มิลลิเมตร ในกรณีที่ใบข้าวโพดเป็นโรครุนแรงแผลจะขยายตัวรวมกัน ทำให้ใบแห้งตายในที่สุด อาการของโรคเมื่อเกิดในต้นระยะกล้าจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทุกใบ อาจจะแห้งตายภายใน 3-4 สัปดาห์หลังปลูก แต่ถ้าเกิดกับต้นแก่อาการจะเกิดบนใบล่างๆ ก่อน นอกจากจะเกิดบนใบแล้วยังเกิดกับต้น กาบใบ ฝักและเมล็ด

การป้องกันกำจัด
ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์ปราศจากโรค หมั่นตรวจไร่อยู่เสมอ ตั้งแต่ระยะกล้า เมื่อโรคเริ่มระบาดประกอบกับมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรคต่อเนื่องหลายวัน ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไตรโฟรีน (ซาพรอล) อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ทำลายเศษซากของข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว

สายพันธุ์แท้ ที่อ่อนแอ เกิดโรคสม่ำเสมอ อย่างรุนแรง ต่อมาแห้งตายทุกต้น
อาการหลังจากปลูกเชื้อโดยการหยอดยอดด้วยสปอร์แขวนลอยของเชื้อรา B. maydis