การขาดธาตุไนโตรเจนในข้าวโพด

ไนโตรเจน (Nitrogen; N)

มีบทบาทสำคัญต่อข้าวโพดตลอดอายุการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะแรกของการเจริญเติบโตจนถึงระยะสร้างเมล็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะออกดอก การให้ไนโตรเจนอย่างเหมาะสมแก่ข้าวโพดหวานในระยะแรกของการเจริญเติบโต ส่งเสริมให้เมล็ดข้าวโพดหวานมีความหวานเพิ่มขึ้น

ความเข้มข้นของไนโตรเจนในใบของข้าวโพดในระดับที่พอเพียง ควรอยู่ในช่วง 2.7-3.5 เปอร์เซ็นต์ (ยงยุทธ, 2548) ไนโตรเจนส่วนใหญ่สะสมอยู่ในต้นและใบเฉลี่ย 3.2 กิโลกรัม N ต่อตันผลผลิต

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการดูดใช้ไนโตรเจนไปสะสมอยู่ในส่วนของต้น ใบ กาบฝัก เมล็ด และซัง รวมเฉลี่ย 18 กิโลกรัม N ต่อตันผลผลิตเมล็ด (ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์) ไนโตรเจนส่วนใหญ่สะสมในเมล็ดเฉลี่ย 12.2 กิโลกรัม N ต่อตันผลผลิต ในขณะที่ซังข้าวโพดมีปริมาณไนโตรเจนต่ำมาก เฉลี่ย 1.1กิโลกรัม N ต่อตันผลผลิต ดังนั้นเมื่อนำเมล็ดและซังออกไปจากพื้นที่จะทำให้ไนโตรเจนสูญหายออกไปเฉลี่ย 13.3 กิโลกรัม N ต่อตันผลผลิต  ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณไนโตรเจนจากปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 28 กิโลกรัม

ส่วนข้าวโพดหวานมีปริมาณการดูดใช้ไนโตรเจนสะสมอยู่ในส่วนของต้นใบ กาบฝัก เมล็ด และซัง รวมเฉลี่ย 6.9 กิโลกรัม N ต่อตันผลผลิต ดังนั้นเมื่อนำต้น ใบ กาบฝัก เมล็ด และซัง ออกไปจากพื้นที่ทำให้ไนโตรเจนสูญหายออกไปจากพื้นที่เทียบเท่ากับปริมาณไนโตรเจนจากปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 15 กิโลกรัม

อาการขาดธาตุไนโตรเจน
ในระยะต้นอ่อนหากขาดไนโตรเจน ใบล่างของข้าวโพดจะเป็นสีเหลืองคล้ายกับอาการขาดน้ำ แต่ไม่เหี่ยว ส่งผลให้การเจริญเติบโตชะงัก หากขาดไนโตรเจนในระยะที่ข้าวโพดอยู่ในช่วงที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่จะแสดงอาการได้ชัดเจนมาก โดยใบแก่หรือใบล่างจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเป็นรูปตัววี (V ) เริ่มจากปลายใบเข้าสู่ส่วนแกนกลางของใบและลุกลามขึ้นสู่ใบบน

แปลงที่มีสภาพดินแฉะ น้ำขัง

หากการขาดไนโตรเจนมีความรุนแรงส่วนที่เป็นสีเหลืองจะแห้ง และร่วงหล่นจากลำต้น ในข้าวโพดหวานอาจพบสีม่วงที่โคนใบและกาบใบ เนื่องจากมีการสะสมของสารแอนโธไชยานินเกิดขึ้น ลำต้นผอม สูง และอาจโค้งงอ การติดเมล็ดบนฝักไม่สมบูรณ์

สาเหตุการขาดไนโตรเจน
มักจะเกิดกับสภาพแปลงปลูกที่ดินเสื่อมสภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ การสลายตัวของอินทรียวัตถุไม่สมบูรณ์ ดินชื้นแฉะหลังน้ำท่วมขัง การสูญเสียธาตุไนโตรเจนจากดินโดยถูกชะล้าง หรือโดยกระบวนการ denitrification และในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิดินต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส มักพบว่ามีโอกาสขาดไนโตรเจนได้ เนื่องจากรากชะงักการเจริญเติบโต ทำให้การดูดใช้ธาตุอาหารจากดินถูกจำกัด

การแก้ไขอาการขาดไนโตรเจน
ให้พ่นปุ๋ยทางใบด้วยปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ (2 กิโลกรัมต่อน้ำ 100 ลิตร) ทุก 10-15 วัน

ที่มา : เอกสารวิชาการ คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สำหรับพืชไร่เศรษฐกิจ. กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2564