อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กรมวิชาการเกษตร
ปุ๋ย (ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518) หมายถึง สารอินทรีย์ อินทรียสังเคราะห์ อนินทรีย์ หรือจุลินทรีย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารพืชได้ไม่ว่าโดยวิธีใด หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี กายภาพ หรือชีวภาพในดินเพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืช
ปุ๋ย มีหลายชนิด ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน ประกอบด้วย ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ
1. ปุ๋ยเคมี หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์ หรืออินทรียสังเคราะห์ รวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสม ปุ๋ยเชิงประกอบ และปุ๋ยอินทรีย์เคมี แต่ไม่รวมถึง ปูนขาว ดินมาร์ล ปูนปลาสเตอร์ ยิปซัม โดโลไมต์ (พรบ. ปุ๋ย พ.ศ. 2518)
จะเห็นว่า ปุ๋ยเคมีเกิดจาการนำแร่ธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือสารอินทรีย์ มาสังเคราะห์ให้มีความเข้มข้นสูงขึ้น มีปริมาณหรือความเข้มข้นที่แน่นอน ใช้สะดวก ปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษ และไม่ทำลายดิน เพราะปุ๋ยเคมีเก่งในเรื่องของการเพิ่มธาตุอาหาร หรือความสมบูรณ์ของดิน แต่ไม่เก่งในเรื่องของการทำให้ดินร่วนซุย ถ้าต้องการให้ดินร่วนซุย ต้องใส่อินทรียวัตถุ หรือไถกลบฟาง ไม่ใช่ว่าเผาฟางมาตลอด พอดินแข็ง แล้วโทษปุ๋ยเคมี (ถ้าจะกล่าวโทษว่าปุ๋ยเคมี เป็นสารเคมี น้ำก็เป็นสารเคมี คือ ประกอบด้วย ไฮโดรเจน 2 โมเลกุล จับตัวกับออกซิเจน 1 โมเลกุล)
ในแง่ของการตลาด ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะเลือกอาหารที่ผลิตด้วยปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ แต่จริง ๆ แล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ สำหรับพืชไม่ว่าเราจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยเคมี เมื่อปุ๋ยละลายหรือย่อยแล้วจะแตกตัวเป็นประจุชนิดเดียวกัน เช่น ไนโตรเจน ไม่ว่าจะมาจากปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) หรือ ปุ๋ยหมัก เมื่อแตกตัวเป็นประจุจะได้ ไนเตรต ซึ่งมีประจุลบ หรือ แอมโมเนียม ซึ่งมีประจุบวก พืชจึงจะดูดกินเข้าไปได้
สารปรับปรุงดินช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน หรือช่วยให้ธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินเป็นประโยชน์มากขึ้น แต่สารปรับปรุงดินไม่ใช่ปุ๋ย คือ ไม่มีธาตุอาหารพืชอยู่ หรือมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ประเด็นที่อยากจะเน้นย้ำ คือ ถ้ามีเงินจำกัด ใส่ปุ๋ยจะเป็นประโยชน์มากกว่าใส่สารปรับปรุงดิน เปรียบเหมือนกับคนที่หิวข้าวและมีเงินจำกัด ควรจะเลือกกินอะไรดี ระหว่างผัดกระเพรา ไข่ดาว หรือเครื่องดื่มชูกำลัง
2. ปุ๋ยอินทรีย์ หมายถึง ปุ๋ยที่ได้หรือทำมาจากวัสดุอินทรีย์ ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีทำให้ชื้น สับ หมัก บด ร่อน สกัด หรือด้วยวิธีการอื่น และวัสดุอินทรีย์ถูกย่อยสลายสมบูรณ์ด้วยจุลินทรีย์ แต่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยชีวภาพ (พรบ. ปุ๋ย พ.ศ. 2518)
ปุ๋ยอินทรีย์ คือ สารประกอบที่ได้จากสิ่งที่มีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ผ่านกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชจึงชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น
ปุ๋ยอินทรีย์ มีปริมาณธาตุอาหารอยู่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี และธาตุอาหารพืชส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ไนโตรเจนอยู่ในสารประกอบจำพวกโปรตีน เมื่อใส่ลงไปในดินพืชจะไม่สามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้ทันที แต่ต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในดิน แล้วปลดปล่อยธาตุอาหารเหล่านั้นออกมาในรูปสารประกอบอินทรีย์ เช่นเดียวกันกับปุ๋ยเคมี จากนั้นพืชจึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้
ชนิดปุ๋ยอินทรีย์
1) ปุ๋ยหมัก หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการหมักซากพืช ซากสัตว์ รวมถึงมูลสัตว์ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรีย์สารจนผุพังกลายเป็นอาหารแก่พืช
2) ปุ๋ยคอก หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์และเศษซากพืชรองคอก
3) ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยพืชสด หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากต้นพืชในแปลงไร่นาที่ปลูกให้เจริญเติบโตจนถึงระยะที่เหมาะสมในการไถกลบลงดินขณะที่พืชยังยืนต้นอยู่ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุหรือธาตุอาหารให้แก่ดินจาการเน่าเปื่อย และย่อยสลายหลังการไถกลบ และเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหาร และเชื้อจุลินทรีย์ให้แก่ดินโดยตรง โดยเฉพาะการปลูกพืชตระกูลถั่วที่มีเชื้อไรโซเบียม และธาตุไนโตรเจนที่พืชตระกูลถั่วตรึงได้ โดยพืชที่ปลูกจะเรียกว่า “พืชปุ๋ยสด”
เมื่อเปรียบเทียบปริมาณปุ๋ยเอ็น พี เค จากปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 กับปุ๋ยหมัก ในปริมาณ 100 กิโลกรัม เท่ากัน ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จะมี ไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) โปตัสเซียม (เค) อยู่ชนิดละ 15 กิโลกรัม เท่ากัน ในขณะที่ปุ๋ยหมัก จะมีเอ็น พี เค อยู่เพียง 1.5 0.4 และ 1.0 กิโลกรัม ตามลำดับ เท่านั้น ใส่ปุ๋ยหมัก 1 ตัน มีเอ็น พี เค อยู่เพียง 15 4 และ 10 กิโลกรัม ซึ่งก็ยังน้อยกว่าตั้งเยอะ และที่สำคัญเราจะหาปุ๋ยหมักจำนวนมากให้พอเพียงกับพื้นที่เพาะปลูกของเราได้จากไหน และมีแรงงานขนปุ๋ยหมักลงใส่ให้กับพืช หรือไม่ ??
ปริมาณเอ็น-พี-เค ในปุ๋ยอินทรีย์
ชนิด | เอ็น (%) | พี (%) | เค (%) |
ปุ๋ยหมัก | 1.5 | 0.4 | 1 |
มูลไก่ | 2.42 | 6.29 | 2.11 |
มูลวัว | 1.1 | 0.4 | 1.6 |
ต้นข้าวโพด | 0.71 | 0.11 | 1.38 |
ฟางข้าว | 0.59 | 0.08 | 1.72 |
มูลค้างคาว | 1.54 | 14.28 | 0.6 |
ปอเทือง | 1.98 | 0.3 | 2.41 |
เปรียบเทียบปริมาณปุ๋ย เอ็น พี เค ที่ได้จากปุ๋ยสูตร 15-15-15 และปุ๋ยหมัก (กิโลกรัม)
เอ็น | พี | เค | |
|
15 | 15 | 15 |
|
1.5 | 0.4 | 1.0 |
|
15 | 4 | 10 |
จะดีกว่าไหมถ้าเราค่อย ๆ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน โดยการไถกลบฟาง ปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทืองแล้วไถกลบ หรือค่อยๆ ทะทยอยใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักบำรุงดิน ในขณะที่ดินยังมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ก็ใส่ปุ๋ยเคมีช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้พืชไปก่อน เมื่อดินดีขึ้นก็ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง หรือไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเลยก็ได้
ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ต่างก็เป็นอาหารพืช มีข้อดีและข้อด้อยต่างกัน ไม่มีตัวไหนทำลายดินครับ