โรคใบด่างข้าวโพด

โรคใบด่างในข้าวโพด เกิดจากเชื้อไวรัส Maize dwarf mosaic virus วงศ์ Potyviridae เป็น subgroup ของเชื้อ sugarcane mosaic virus (SCMV-MDB)

การแพร่ระบาด อาศัยเพลี้ยอ่อนข้าวโพดเป็นพาหะ (Corn leaf aphid : Rhopalosiphum maidis Fitch) ปริมาณการแพร่ระบาดของเพลี้ยอ่อนข้าวโพดมีผลต่อการแพร่ระบาดของโรค นอกจากนี้ยังแพร่ระบาดโดยการสัมผัส การติดไปกับเครื่องมือทางการเกษตร และสามารถถ่ายทอดไปกับเมล็ดพันธุ์

อาการของโรค
เกิดจุดประสีเหลืองซีดบนใบ หรือฐานของใบอ่อน ต่อมาจุดประขยายออกเป็นขีดสั้นๆ ตามแนวเส้นใบ ถ้าข้าวโพดเกิดโรคตั้งแต่ระยะกล้า ใบจะด่าง เหลืองซีด ต้นแคระแกร็น ติดเมล็ดน้อย  อาการของโรคบางครั้งจะคล้ายกับโรคราน้ำค้าง แต่เมื่อตรวจสอบที่ใบในช่วงเช้า จะไม่พบผงสปอร์สีขาวเกิดขึ้นที่ใบเหมือนกับโรคราน้ำค้าง

ความเสียหายของโรคใบด่างต่อผลผลิต ขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพดที่เชื้อเข้าทำลาย เมื่อเข้าทำลายในระยะกล้า ทำให้ข้าวโพดมีความสูง ขนาดฝัก และน้ำหนักฝักลดลง การแก่ของข้าวโพดช้าลง  มีการติดเมล็ดน้อย ในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทำให้ผลผลิตลดลง 70-90 เปอร์เซ็นต์  การเป็นโรคเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผลผลิตลดลง 2.4 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 3 ในสภาพที่มีการปลูกเชื้อโรคใบด่างในระยะ V3 ทำให้ผลผลิตลดลง 38.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นโรคในระยะตั้งแต่ V12 ขึ้นไป (อายุ 38 วัน ขึ้นไป) ไม่กระทบต่อผลผลิต (Lapbanjob, 2014) ต้นที่เป็นโรคมีความแข็งแรงลดลง มีเปอร์เซ็นต์การหักล้มเพิ่มขึ้น

การระบาดของโรคใบด่างในไร่เกษตรกร เมื่อดูอย่างผิวเผินอาการจะคล้ายโรคราน้ำค้าง แต่โรคใบด่างกับโรคราน้ำค้างมีอาการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
อาการของโรคใบด่างในข้าวโพด
อาการของโรคใบด่างในข้าวโพด
อาการของโรคใบด่างในข้าวโพด
อาการของโรคใบด่างในข้าวโพด
เพลี้ยอ่อนข้าวโพด (Corn leaf aphid : Rhopalosiphum maidis Fitch) แมลงพาหะนำโรคไวรัสใบด่าง
การถ่ายทอดโรคใบด่างโดยเพลี้ยอ่อนข้าวโพด ในระยะก่อนออกดอก จะเกิดจุดประหรือรอยปื้นสีเหลืองซีดเฉพาะบริเวณที่เพลี้ยอ่อนทำลายเท่านั้น (local symptom)
การถ่ายทอดโรคใบด่างโดยเพลี้ยอ่อนข้าวโพด ในระยะก่อนออกดอก จะเกิดจุดประหรือปื้นสีเหลืองซีดเฉพาะบริเวณที่เพลี้ยอ่อนทำลายเท่านั้น (local symptom)
อาการของโรคใบด่างในข้าวฟ่าง
อาการของโรคใบด่างในอ้อย

การป้องกันกำจัด
กำจัดต้นข้าวโพดที่เป็นโรค รวมทั้งพืชอาศัยอื่นๆ เช่น อ้อย ข้าวฟ่าง ที่แสดงอาการของโรค กำจัดเพลี้ยอ่อน ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพันธุ์ต้านทาน เช่น นครสวรรค์ 5 นครสวรรค์ 3

อัพเดท : 25 มถุนายน 2567

แหล่งข้อมูล

  • ธีระ สูตะบุตร  2532.  โรคไวรัสและโรคคล้ายไวรัสที่สำคัญในประเทศไทย.  หจก. ฟันนี่ พับบลิชชิ่ง. กรุงเทพฯ.
  • พิศาล  ศิริธร. 2519. การเปรียบเทียบไวรัสใบด่างในข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย และผลของไวรัสต่อความต้านทานโรคราน้ำค้างของข้าวโพด. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัญฑิต. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 36 หน้า.
  • Genter, C.F., C.W. Roane and S.A. Tolin. 1973.  Effects of maize dwarf mosaic virus on  mechanically inoculated maize. Crop Science 13:531-535.
  • Lapbanjob, S., S. Thaitad and P. Grudloyma. 2014. Effect of Maize Dwarf Mosaic Inoculations at Various Growth Stages on Yield of Nakhon Sawan 3 (NS3). Book of extended summaries, 12th Asain Maize Conference and Expert Consultation on Maize for Food, Feed, Nutrition and Environmental Security. Bangkok, Thailand, October 30- November 1, 2014, CIMMYT, Mexico D.F. and APAARI, Bangkok.
  • Mikel, M.A., C.J. D’Arey, A.M. Rhoades, and R.E. Ford. 1981.  Yield loss in sweet corn correlated  with  time  of inoculation of maize dwarf mosaic virus. Plant Disease 65:902-904.
  • Scott G.E., L.L. Darrah, J.R. Wallin, D.R. West, J.K. Knoke, R. Louie, R.T. Gudauskas, A.J. Bockholt, V.D.  Damsteegt and J.K. Uyemoto.  1988.  Yield losses caused by maize dwarf mosaic virus in maize.  Crop Science 28:691-694.
  • Shukla, D.D., C.W. Ward and A.A. Brunt. 1994.  The Potyviridae. PP. 516. Wallingford, UK:CAB international.
  • Tai, J.M. and Falk, B.W. 1999. Insect vectors and their pathogens of maize in the tropics.  University of  Minnesota. Available Source : http://ipmworld.umn.edu/chapters/tsai.htm. Mar. 15, 2013.