พบการระบาดของโรคใบด่างในถั่วเขียว ในแหล่งปลูกที่สำคัญหลายพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ชัยนาท เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร จากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท และ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ เมื่อวันที่ 21-22 ตุลาคม 2563 เพื่อเก็บตัวอย่างถั่วเขียวที่มีอาการผิดปกติไปตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจในเบื้องต้นด้วยเทคนิค ELISA PCR และ RT-PCR พบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส 2 วงศ์ ได้แก่ Geminiviridae : Begomovirus และ Potyviridae : Potyvirus ขณะนี้อยู่ระหว่างการจำแนกชนิดของเชื้อสาเหตุด้วยเทคนิคชีวโมเลกุล เพื่อยืนยันลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อทั้งทางด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา ลักษณะอาการ การถ่ายทอดโรค สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผลกระทบ และมาตรการในการจัดการโรค
ถั่วเขียวที่เป็นโรคใบด่าง จะมีอาการด่างเหลือง ออกดอก ติดฝักน้อย ฝักเล็กลีบ โค้งงอ ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ให้ผลผลิต
วิธีการป้องกันกำจัด
- ไถกลบถั่วเขียวที่เป็นโรคในแปลงที่มีการระบาด หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต
- ถั่วเขียวที่อยู่ในระยะก่อนออกดอก หรือเริ่มออกดอก ติดฝัก ให้หมั่นสำรวจแปลง เมื่อพบแมลงหวี่ขาว หรือเพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นแมลงพาหะ พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ฟิโปรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมาเม็กติน เบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน
- ไม่เก็บเมล็ดจากแปลงที่มีการระบาดของโรคใบด่างไว้ทำพันธุ์ในฤดูถัดไป ใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้
- ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องจักรกลทางการเกษตรในการเก็บเกี่ยว
- ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรของโรค
ดาวโหลด แผนปฏิบัติงานฉุกเฉินกรณีตรวจพบโรคใบด่างถั่วเขียวในประเทศไทย
ข้อมูล: สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร