การป้องกันกำจัดโรคใบด่างเหลืองในถั่วเขียว

โรคใบด่างเหลืองในถั่วเขียว

เกิดจากเชื้อไวรัส Mungbean Yellow Mosaic Virus (MYMV) มีแมลงหวี่ขาว (Whitefly : Bemisia tabaci) เป็นพาหะในการถ่ายทอดโรค

โรคไวรัสใบด่างเหลืองระบาดทำความเสียหายกับถั่วเขียวได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ถั่วเขียวอายุประมาณ 2 สัปดาห์ นอกจากถั่วเขียว ยังทำให้เกิดโรคในถั่วเหลือง

ต้นที่เป็นโรค ใบจะเป็นจุดเหลืองขนาดเล็ก กระจายอยู่ทั่วไปบนใบทำให้ใบมีสีเหลืองปนเขียว ต่อมาอาการใบจุดสีเหลืองนี้จะกระจายแผ่ออกไปเป็นผืนใหญ่ และในที่สุดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจัด ต่อมาอาการลามขึ้นไปสู่ใบยอด ทำให้ยอดที่แตกใหม่มีอาการด่างเหลือง ต้นแคระแกร็น ไม่ออกดอกและไม่ติดฝัก แต่ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นระยะติดฝักแล้ว ฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจัด ขนาดเล็กและสั้นผิดปกติ ส่วนมากฝักจะงอขึ้นไม่ติดเมล็ดหรือเมล็ดจะลีบเล็กกว่าต้นปกติ

การป้องกันกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการปลูกถั่วเขียวในบริเวณที่มีการระบาดของโรค ถ้าจำเป็นให้ถอนต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย เว้นระยะ 2-3 เดือน จึงค่อยปลูกใหม่
  • กำจัดพืชอาศัยทั้งในและนอกแปลงปลูก เช่น พืชตระกูลถั่ว และวัชพืชต่างๆ
  • หมั่นตรวจแปลง ถ้าพบต้นที่แสดงอาการเป็นโรคให้ถอนทำลาย หรือเผาทิ้งทันที เพื่อกำจัดแหล่งสะสมของไวรัส
  • ไม่ควรปลูกถั่วเขียวในแปลงที่เป็นโรคทันทีหลังจากไถกลบแล้ว
  • พ่นสารกำจัดแมลงเมื่อพบการระบาดของแมลงหวี่ขาว เช่น อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารฆ่าแมลงใต้ใบเมื่อพบแมลงหวี่ขาวระบาด พ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

แหล่งข้อมูล:

โรคถั่วเขียวและการป้องกันกำจัด เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตร ระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นหลัก สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร

สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร