แนวทางการป้องกันกำจัดศัตรูอ้อยในภาวะแล้ง

สภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล หรือการกระจายตัวของน้ำฝนผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตพืช ทั้งในด้านการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต รวมถึงมีการระบาดของศัตรูพืชที่รุนแรง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงในการลงทุนมากยิ่งขึ้น ศัตรูอ้อยที่เป็นปัญหาในสภาพแห้งแล้ง มีหลายชนิด โดยเฉพาะระยะอ้อยแตกกอ เช่น หนอนกอ และโรคแส้ดำ กรมวิชาการเกษตร แนะนำแนวทางในการป้องกันกำจัด ดังนี้

หนอนกออ้อย

หนอนกออ้อย ทำลายอ้อยทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะอ้อยแตกกอทั้งอ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอ ระบาดรุนแรงในสภาพที่อุณหภูมิสูง ความชื้นต่ำ ภาวะแห้งแล้งที่เกิดจากฝนทิ้งช่วง

หนอนกออ้อย ที่สำคัญที่พบเข้าทำลายอ้อย มี 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู

หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิว ดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย การเข้าทำลายของหนอนกอลายจุดเล็กจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 5-40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้หนอนยังเข้าทำลายอ้อยใน ระยะอ้อยย่างปล้อง โดยหนอนเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ซึ่งทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีขาว หนอนเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไปกัดกินส่วนโคนยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอด แห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ส่วนใบยอดอื่นๆ ที่หนอนเข้าทำลายจะมีลักษณะหงิก งอ และมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำแล้วหนอนจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ไม่ สามารถสร้างปล้องอ้อยให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะ แตกหน่อขึ้นมาทางด้านข้าง เกิดอาการ แตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีชมพู หนอนเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนของหน่ออ้อย ระดับผิวดิน เข้าไปทำลายส่วนที่กำลัง เจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอด แห้งตาย ถึงแม้หน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่เพื่อชดเชยหน่ออ้อยที่เสียไป แต่หน่ออ้อยที่แตกใหม่เพื่อชดเชยในระยะหลังจะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

แนวทางการแก้ไขการระบาดของหนอนกออ้อย

  1. ในแหล่งชลประทาน ควรให้น้ำเพื่อให้อ้อยแตกหน่อชดเชย
  2. ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา อัตรา 30,000 ตัว/ไร่/ครั้ง ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้ง ในช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกอ
  3. เมื่ออ้อยอายุ 1 เดือน หรือเมื่ออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยว 10% ควรพ่นสารฆ่าแมลง เดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน
  4. เมื่อพบการระบาดของหนอนกออ้อย และทำให้อ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ พ่นสารอินดอกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 60-80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นโดยใช้น้ำ 60 ลิตรต่อไร่

โรคแส้ดำ

สภาพอากาศร้อน ความชื้นต่ำ ทำให้โรคแส้ดำระบาดมาก หากมีฝนตกหนักหรือตกสม่ำเสมอจะช่วยทำให้การระบาดลดลง

อ้อยที่เป็นโรครุนแรงจะแคระแกรน แตกกอมาก ลักษณะเป็นพุ่มเหมือนกอหญ้า ใบเล็กแคบ อ้อยไม่ย่างปล้อง อาจแห้งตายทั้งกอในที่สุด กอที่บางหน่อในกอเจริญเป็นลำ ลำอ้อยจะผอมกว่าลำอ้อยปกติ อาการปรากฏรุนแรงในอ้อยตอมากกว่าอ้อยปลูก

แนวทางการแก้ไขการระบาดโรคแส้ดำ

การป้องกันกำจัดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ควรมีการปฏิบัติที่ผสมผสานหลายวิธีการร่วมกัน

  1. ไถแปลงอ้อยตอที่เป็นโรครุนแรงทิ้งไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อในแหล่งปลูก
  2. ปลูกพันธุ์ต้านทานโรค
  3. ปลูกอ้อยด้วยท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์ไม่เป็นโรค เนื่องจากโรคระบาดไปได้ทางท่อนพันธุ์
  4. แช่ท่อนพันธุ์ในสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไตรอาไดมีฟอน 25% ดับบลิวพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพิโคนาโซล 250 อีซี อัตรา 16 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 30 นาทีก่อนปลูก
  5. ตรวจไร่อย่างสม่ำเสมอหลังจากปลูก เมื่อพบกออ้อยเริ่มแสดงอาการแส้ดำ ควรตัดแส้ดำออกขณะเริ่มปรากฏอาการ ก่อนที่เยื่อหุ้มแส้ดำจะหลุดออก นำใส่ถุงไปทำลายนอกแปลงปลูก หรือขุดกอเป็นโรคออกเผาทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังกอข้างเคียง
  6. ปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน หลังจากรื้อแปลงอ้อยตอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคในแปลงปลูก