ไรศัตรูอ้อย

ช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน  เกษตรกรชาวไร่อ้อย ระวังการระบาดของไรแมงมุมอ้อย (Sugarcane spider mite : Oligonychus simus Baker and Pritchard)

ไรแมงมุมอ้อย มักจะระบาดทำความเสียหายแก่อ้อยในระยะเริ่มปลูกจนถึงอายุประมาณ 4-5 เดือน โดยจะพบระบาดมากในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน การระบาดอาจเกิดขึ้นได้โดยลม การสัมผัสกันของใบอ้อยที่อยู่ติดกัน นก แมลง หรือมนุษย์พาไป

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของไรแมงมุม จะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ที่บริเวณใต้ใบ และมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สร้างเส้นใยเป็นเส้นบางๆ ขึ้นปกคลุมผิวใบบริเวณที่ไรดูดทำลายอยู่ ใบอ้อยที่ถูกทำลายในระยะแรกจะมีลักษณะเป็นจุดประสีขาวเล็กๆ กระจายอยู่ตามแนวเส้นกลางใบ ต่อมาแผลบริเวณดังกล่าวนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง หากการทำลายยังคงดำเนินต่อไปอย่างรุนแรง และต่อเนื่อง รอยแผลก็จะขยายใหญ่ขึ้น และใบอ้อยจะมีอาการแห้งตลอดทั่วทั้งใบ ซึ่งอาจมีผลทำให้ต้นอ้อยชะงักการเจริญเติบโตได้

 

วงจรชีวิตของไรแมงมุมอ้อย

ไรแมงมุมอ้อยเพศเมียสามารถเจริญเติบโต จากระยะไข่จนถึงระยะตัวเต็มวัยได้ภายใน 7 วัน โดยมีระยะไข่ 3 วัน ตัวอ่อนเมื่อฝักออกจากไข่จะเจริญเติบโตโดยมีการลอกคราบ 3 ครั้ง ตัวอ่อนระยะที่ 1, 2 และ 3 ใช้เวลาในการเจริญนาน 2, 1.1 และ 1 วัน ตามลำดับ ตัวเต็มวัยเพศเมียมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 14 วัน และสามารถวางไข่ได้ตลอดชั่วอายุขัย เฉลี่ยสูงถึง 55 ฟอง สำหรับไรตัวผู้สามารถเจริญเติบโตนับจากระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัยได้ภายในเวลา 8 วัน โดยมีระยะไข่ 3 วัน ตัวอ่อนเมื่อฝักออกจากไข่ จะเจริญเติบโตโดยมีการลอกคราบ 3 ครั้ง เช่นเดียวกัน ตัวอ่อนระยะที่ 1, 2 และ 3 ใช้เวลาในการเจริญนาน 1.7, 1.4 และ 1.6 วัน ตามลำดับ ตัวเต็มวัยตัวผู้ มีชีวิตอยู่ได้นาน 18 วัน ตัวเมียสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์จากไรเพศผู้ แต่ลูกที่เกิดจากตัวเมียที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์จะเจริญเป็นไรเพศผู้ทั้งหมด ส่วนตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์จะได้ลูกทั้งเพศผู้และเพศเมียในอัตราส่วน 5 :1

ไรแมงมุมอ้อย
ไรแมงมุมอ้อย

ศัตรูธรรมชาติ

ด้วงตัวห้ำ Stethorus pauperculus Weise  เป็นตัวห้ำทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย นอกจากนี้ยังพบไรตัวห้ำในวงศ์ Phytoseiidae ที่เป็นตัวห้ำของไรแมงมุมอ้อย

ด้วงตัวห้ำ Stethorus pauperculus
ตัวอ่อนของด้วงตัวห้ำ Stethorus pauperculus กำลังกินไรแมงมุมอ้อย

การป้องกันกำจัด

  1. ทำลายพืชอาศัยของไรแมงมุมอ้อยโดยเฉพาะพืชตระกูลหญ้าในบริเวณใกล้เคียงและภายในแปลงปลูก
  2. หมั่นตรวจแปลงอ้อยอยู่เสมอ โดยเฉพาะขณะที่อ้อยยังมีขนาดเล็กอยู่ โดยสังเกตอาการสีน้ำตาลแดงบนใบอ้อย หากพบอาการ และตรวจพบไรบนใบอ้อย ไม่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าไรในฤดูฝน แต่ถ้าเป็นฤดูแล้งหรือในระยะที่ฝนทิ้งช่วง และมีการระบาดของไรรุนแรงมาก ให้ใช้สารฆ่าไรชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้ ไพริดาเบน (pyridaben) 20% ดับบลิวพี อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เฟนบูทาติน ออกไซด์ (fenbutatin oxide) 55% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร สไปโรมีซิเฟน (spiromesifen) 24% เอสซี อัตรา 6 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร เตตราไดฟอน (tetradifon) 7.25% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร อามีทราซ (amitraz) 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
  3. ในกรณีที่เกิดการระบาดของไรชนิดนี้ และพบด้วงตัวห้ำเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาใช้สารที่ไม่เป็นอันตรายต่อด้วงตัวห้ำดังกล่าว
  4. ในแหล่งที่มีการระบาดของไรศัตรูอ้อยอยู่เป็นประจำ ก่อนปลูกอ้อยควรแช่ท่อนพันธุ์อ้อยที่จะนำไปปลูกด้วยสารฆ่าไร

แหล่งข้อมูล : ไรศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด กลุ่มงานวิจัยไรและแมงมุม กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร. 2543.