หนอนกระทู้หอมทำลายข้าวโพด

หนอนกระทู้หอม  (Beet armyworm : Spodoptera exigua Hubner) หรือ หนอนหลอดหอม เป็นศัตรูสำคัญในระยะที่ข้าวโพดอายุ 7-30 วัน  จะทำลายใบและต้นทำให้เกิดความเสียหายจนข้าวโพดตายในที่สุดในกรณีที่ระบาดรุนแรงเท่านั้น

หนอนกระทู้หอม ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลเข้ม เมื่อกางปีกเต็มที่กว้าง 20-25 มิลลิเมตร มีจุดสีน้ำตาลอ่อนที่กลางปีกคู่หน้า 2 จุด อายุตัวเต็มวัย 7-10 วัน ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มๆ ละ ประมาณ 20-25 ฟอง ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อน ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนที่ฝักออกจากไข่ใหม่ๆ จะอยู่รวมกลุ่มกัน กัดกินผิวใบอยู่ 1-2 วัน จึงจะกระจายไปยังใบอื่นหรือต้นใกล้เคียง ลักษณะหนอนมีผิวเรียบมัน มีหลายสีขึ้นกับพืชอาหารและระยะลอกคราบ เช่น เขียวอ่อน เทาปนดำ น้ำตาลอ่อน และน้ำตาลดำ ขนาดโตเต็มที่ 2×20 มิลลิเมตร ระยะหนอน 15-18 วัน หนอนเข้าดักแด้ในดินใกล้ต้นพืช ระยะดักแด้ 5-7 วัน

ในข้าวโพด เริ่มพบรอยทำลายของหนอนกระทู้หอม ตั้งแต่ข้าวโพดอายุ 3-4 วันหลังงอก  ในสภาพที่มีการระบาดรุนแรง หนอนกระทู้หอม กัดกินใบและต้นทำให้เกิดความเสียหายมาก ถ้าไม่มีการป้องกันกำจัด โดยเฉพาะในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก

ในแปลงข้าวโพด สามารถพบการระบาดของทั้งหนอนกระทู้หอม และหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ลักษณะการทำลายของหนอนทั้ง 2 ชนิด มีความคล้ายคลึงกัน คือ หนอนวัยแรกกัดกินที่ผิวใบเห็นเป็นรอยสีขาว ระยะต่อมารอยกัดที่ใบขาดเป็นรูตามอายุของหนอนที่โตขึ้น แต่หนอนกระทู้หอมทำลายระยะต้นข้าวโพดต้นเล็กโดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ระยะหลังจากนั้นมักไม่พบการทำลาย  ต้นที่มีการทำลายของหนอนกระทู้หอมมักพบใยที่ใบตรงที่มีตัวหนอนทำลาย  หากมีการป้องกันกำจัด สามารถควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้หอมได้ แต่ระยะหลังจากนั้นการทำลายจะเกิดจากหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดซึ่งมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ข้าวโพดงอกจนถึงระยะติดฝัก

ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้หอม

การทำลายของหนอนกระทู้หอม (ข้าวโพดอายุ 4 วันหลังงอก)
การทำลายของหนอนกระทู้หอม (ข้าวโพดอายุ 4 วันหลังงอก)

มักพบใยหุ้มตัวหนอนกระทู้หอม
มักพบใยหุ้มตัวหนอนกระทู้หอม

หนอนกระทู้หอมโดนเบียนโดยแมลงวันก้นขน
หนอนกระทู้หอม โดนเบียนโดยแมลงวันก้นขน แมลงวันก้นขนจะวางไข่แปะติดใว้บนส่วนหัว และบนตัวหนอนหลายฟอง เมื่อหนอนแมลงวันฟัก จะไซเข้าในตัวหนอนกระทู้ เจริญอยู่ภายใน ทำให้หนอนตายอย่างช้าๆ จากนั้นหนอนแมลงวันจะเจาะออกมาเพื่อเข้าดักแด้ด้านนอกตัวหนอนที่ตาย

การป้องกันกำจัด

แมลงศัตรูธรรมชาติที่สำคัญ มีแตนเบียนหนอน (Larval parasite) Apanteles sp. ช่วยควบคุมประชากรได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ แมลงวันก้นขนวงศ์แทคินิดี้ (Tachinidae) สำหรับโรคของหนอนกระทู้หอมพบเพียงชนิดเดียวคือไวรัส NPV (nuclear polyhedrosis virus) ทำให้หนอนกระทู้หอมเป็นโรคตายในสภาพธรรมชาติ การป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอมได้ผลดีที่สุดคือ เมื่อพบหนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟักจากไข่ ใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม อัตรา 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในเวลาเย็น

ส่วนสารฆ่าแมลงที่ให้ผลในการป้องกันกำจัดและมีพิษน้อยต่อศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ เบตาไซฟลูทริน (2.5% อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร คลอร์ฟลูอาซูรอน (5% อีซี) อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร คลอร์ฟีนาเพอร์ (10% เอสซี) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ (15% เอสซี) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่มีรายงานการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในประเทศไทย ในแปลงข้าวโพดที่มีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดโดยการพ่นสารฆ่าแมลงหรือเชื้อบีที ก็จะสามารถควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้หอมไปด้วยในคราวเดียวกัน การคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารไซแอนทรานิลิโพรล สามารถป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ แต่สารชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอม เกษตรกรจึงควรพิจารณาป้องกันกำจัดโดยวิธีการพ่นสารทางใบ