เพลี้ยไฟ ระบาดช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบ ดอก และฝักงา ทำให้เกิดรอยด้านหรือรอยแผลสีน้ำตาล ที่ใต้ใบและส่วนที่เพลี้ยไฟดูดกิน ทำให้ดอกร่วงก่อนการติดฝัก และฝักลีบไม่สมบูรณ์
การจำแนกชนิดของเพลี้ยไฟ ที่พบระบาดในงาจากไร่เกษตรกร อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ช่วงเดือนมกราคม 2563 โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร พบว่า มีเพลี้ยไฟ 2 ชนิด ที่ทำลายงา ได้แก่ เพลี้ยไฟฝ้าย และเพลี้ยไฟดอกถั่ว
เพลี้ยไฟฝ้าย (Cotton thrips : Thrips palmi Karny) เป็นเพลี้ยไฟขนาดเล็ก-กลาง สีเหลืองจาง เพลี้ยไฟชนิดนี้ ทำลายพืชเกือบทุกชนิด และพบทุกพื้นที่ปลูกทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาต่อการส่งออก โดยเฉพาะในกล้วยไม้ เพลี้ยไฟฝ้ายยังเป็นแมลงพาหะนำโรคมาสู่พืชตระกูลแตง
เพลี้ยไฟดอกถั่ว (Flower bean thrips : Megalurothrips usitatus Bagnall) เป็นเพลี้ยไฟขนาดกลาง สีน้ำตาลเข้ม ปีกใสมีลายสลับสีดำ เส้นปีกปรากฏบริเวณส่วนสีดำ เข้าทำลายส่วนดอกของพืชตระกูลถั่วหลายชนิด เรียกชื่อทั่วไปว่า เพลี้ยไฟดอกถั่ว พืชที่เพลี้ยไฟดอกถั่วเข้าทำลาย ได้แก่ ถั่วิสง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ส้มโอ เป็นต้น
การป้องกันกำจัด
พ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เมื่อพบเพลี้ยไฟระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย มากกว่า 5 ตัวต่อยอด
- คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
- อิมาเม็กตินเบนโซเอท 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
- ฟิโปรนิล 5% เอสซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
- เบนดิโอคาร์บ 20% ดับบลิวพี อัตรา 20-40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร