หนอนผีเสื้อหัวกะโหลกในงา

หนอนผีเสื้อหัวกะโหลก (Acherontia styx ; Death’s head hawk month) เกษตรกรมักเรียกว่า “หนอนแก้ว” เป็นแมลงศัตรูที่มีพืชอาหารกว้าง พบการทำลายในถั่ว งา มะเขือ ยาสูบ มันเทศ ม่านบาหลี และแตง เป็นต้น

วงจรชีวิตของหนอนผีเสื้อหัวกะโหลก ใช้เวลา 49-56 วัน ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 125-156 ฟอง ระยะไข่ 6-7 วัน ระยะหนอน 19-21 วัน หนอนที่โตเต็มที่มีขนาดลำตัวใหญ่ยาว 10 เซนติเมตร ดักแด้ยาว 5.5 เซนติเมตร กว้าง 1.5 เซนติเมตร ระยะดักแด้ 17-23 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย เพศเมียมีชีวิต 12-14 วัน เพศผู้มีชีวิต 9-10 วัน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อที่มีสีสันน่ากลัว โดยเฉพาะที่สันหลังอกมีรูปหัวกะโหลกเป็นภาพลวงตาเพื่อข่มขู่ศัตรูในการป้องกันตัวเอง ขนาดของผีเสื้อ เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ โดยเพศเมีย มีลำตัวยาว 5.3 เซนติเมตร ปีกคู่หน้ายาว 5.6 เซนติเมตร งวงยาว 1.7 เซนติเมตร กว้าง 0.2 เซนติเมตร และระยะระหว่างปลายปีกสองข้าง 9-12 เซนติเมตร

ลักษณะการทำลาย
หนอนผีเสื้อหัวกะโหลกเป็นแมลงศัตรูที่สําคัญของงา ทำความเสียหายกับงาอย่างมากและรวดเร็ว เนื่องจากหนอนมีขนาดใหญ่ สามารถกัดกินใบงาจนเหลือแต่ก้านและลำต้น เมื่อกินใบจนหมดต้นก็จะย้ายไปกินต้นอื่น หนอนออกหากินในเวลากลางคืน จะเข้าทำลายตั้งแต่งาเริ่มแตกใบจริงจนกระทั่งติดดอกออกฝัก หนอนชนิดนี้มักชอบหลบอยู่ใต้ใบ ตัวหนอนมีลักษณะสีเขียวคล้ายต้นงา ทําให้สังเกตได้ยาก

การป้องกันกำจัด
1. เก็บหนอนออกไปทำลาย
2. พ่นด้วยเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทรูริงเจนซิส (บีที) อัตรา 60 กรัม หรือ มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
3. การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้ อิมาเมกตินเบนโซเอท 5%WG (IRAC กลุ่ม 6) หรือ อิมาเมกตินเบนโซเอท  1.92 EC (IRAC กลุ่ม 6) หรือ ฟิโปรนิล 5% SC (IRAC กลุ่ม 2)  หรือ เดลทาเมทริน 3% EC (IRAC กลุ่ม 3) หรือ แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5% EC (IRAC กลุ่ม 3)

 

หนอนกัดกินใบจนเหลือแต่ก้านและลำต้น

หากระบาดไม่มาก เก็บหนอนออกไปทำลาย