ฝ้ายพันธุ์ กวก. ตากฟ้า 7

ฝ้ายพันธุ์ “กวก. ตากฟ้า 7” เดิมมีรหัสสายพันธุ์ P12Nan37M5 พัฒนาพันธุ์โดย ดร.จินดา จันทร์อ่อน ตั้งแต่ปี 2537-2543 ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการนำ สายพันธุ์ฝ้าย AG18 (ศรีสำโรง 60) ที่ใช้เป็นพันธุ์แม่ไปผสมข้ามพันธุ์กับสายพันธุ์ Nan15GY และใช้เป็นพันธุ์พ่อ แล้วนำลูกผสม F1 ไปฉายรังสีแกมมา 200 เกรย์ (Gy) จากนั้นทำการคัดเลือก M1-M5 แบบ Natural selection จนได้สายพันธุ์ดีเด่น ตากฟ้า 7 ที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อเพลี้ยจักจั่น และต้านทานต่อโรคใบหงิกในสภาพการปลูกแบบปลอดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย ตลอดจนมีคุณภาพเส้นใยยาวปานกลาง

 ลักษณะเด่น

  1. ผลผลิตฝ้ายปุยทั้งเมล็ด เฉลี่ย 196 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ตากฟ้า 3 ร้อยละ 68
  2. ทนทานต่อเพลี้ยจักจั่นฝ้าย
  3. ต้านทานต่อโรคใบหงิกในสภาพการปลูกเชื้อได้ดี ในระดับเดียวกับพันธุ์ตากฟ้า 3
  4. สมอมีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ตากฟ้า 3 โดยมีน้ำหนักปุย 4.91 กรัมต่อสมอ เปอร์เซ็นต์หีบ ความยาว และความละเอียดอ่อนของเส้นใย ดีกว่าพันธุ์ตากฟ้า 3 โดยพันธุ์ ตากฟ้า 7 มีเปอร์เซ็นต์หีบ 36.4 % มีความยาวเส้นใย 1.02 นิ้ว ซึ่งจัดเป็นฝ้ายเส้นใยยาวปานกลาง และมีความละเอียดอ่อนของเส้นใยในระดับปานกลาง (4.4) ในขณะที่พันธุ์ตากฟ้า 3 เปอร์เซ็นต์ มีหีบที่ต่ำกว่าคือ 32.9 % มีความยาวเส้นใยเพียง 0.84 นิ้ว ซึ่งจัดเป็นฝ้ายเส้นใยสั้น และมีความหยาบของเส้นใยมากกว่า (5.3)

พื้นที่แนะนำ

ปลูกได้ในแหล่งผลิตฝ้ายของประเทศไทยทั่วไป สามารถปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก (น้อยกว่า 1 ไร่) ในสภาพปลอดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย

*** ผ่านการรับรองพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร เมื่อสิงหาคม 2562

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของฝ้ายพันธุ์ กวก. ตากฟ้า 7

ความสม่ำเสมอของต้นฝ้าย พันธุ์ กวก. ตากฟ้า 7

ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 ต้านทานต่อโรคใบหงิก

เปรียบเทียบกับพันธุ์เดลต้าไพน์สมูทลีฟ ที่อ่อนแอต่อโรคใบหงิก

รูปร่างใบ : รูปนิ้วมือลึกปานกลาง

ลักษณะสมอ: รูปไข่

สีกลีบดอก : ครีม สีอับละอองเกสร : ครีม

สีของปุยหรือเส้นใยฝ้าย: ขาว