โรคราน้ำค้างข้าวโพด

โรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลาย มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Peronosclerospora sorghi เกิดโรคได้ตั้งแต่ข้าวโพดเริ่มงอก โดยพบจุดเล็กๆ สีเขียวฉ่ำน้ำบนใบอ่อน ต่อมาใบข้าวโพดมีสีเหลืองซีดโดยเฉพาะใบยอด หรือ ใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวแก่ ในเวลาเช้ามักพบส่วนของเชื้อรา ลักษณะเป็นผงสีขาวจำนวนมากบนใบ บางครั้งพบยอดข้าวโพดแตกเป็นพุ่ม ต้นแคระแกร็น เตี้ย ข้อถี่ ไม่มีฝัก หรือมีฝักที่ติดเมล็ดน้อยหรือไม่ติดเมล็ดเลย ก้านฝักมีความยาวมาก หรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ ข้าวโพดอายุ 1-3 สัปดาห์ จะอ่อนแอต่อโรคมาก

 

การป้องกันกำจัด

  • ปลูกพันธุ์ต้านทาน  เช่น  พันธุ์นครสวรรค์  3 นครสวรรค์ 4 และนครสวรรค์ 5
  • คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล  35% ดีเอส อัตรา 7-10 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม  หรือ เมทาแลกซิล-เอ็ม 35% อีเอส อัตรา 3.5 มิลลิลิตร/เมล็ด 1 กิโลกรัม หรือ ไดเมโทมอร์ฟ  50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัม ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม (สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร) หากใช้พันธุ์การค้าที่แนบสารคลุกเมล็ดมาด้วย ควรคลุกเมล็ดให้ทั่วก่อนปลูก
  • ถอนต้นเป็นโรคออกไปทำลายนอกแปลงปลูก
  • ปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาด

ปัจจัย/พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดโรคราน้ำค้าง

  • ข้าวโพดที่ปลูกปลายฤดูฝน
  • ข้าวโพดที่ปลูกฤดูแล้งหลังนา สภาพที่มีฝนตก อากาศเย็น
  • เป็นแหล่งที่เคยมีการระบาด ฤดูที่ผ่านมามีโรคราน้ำค้างระบาด ในฤดูปลูกปัจจุบัน มีข้าวโพดแปลงข้างเคียงเกิดโรคราน้ำค้าง  และต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคโดยเฉพาะช่วงหลังปลูกจนถึงข้าวโพดอายุ 3 สัปดาห์  เช่น  ฝนตกชุก ความชื้นสูง อากาศเย็น
  • กรณีที่มีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น เกษตรกรควรเลือกใช้พันธุ์ต้านทาน หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมีตามคำแนะนำข้างต้นร่วมกับการพ่นด้วยไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7 วัน 1-2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อข้าวโพดอายุ 5-7 วัน การพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชหลังจากข้าวโพดอายุ 20 วันขึ้นไป จะไม่สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้  การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในช่วงต้นฤดูฝน หรือในพื้นที่ที่การระบาดไม่รุนแรง เน้นการป้องกันโรคด้วยการคลุกเมล็ด ร่วมกับการจัดการอื่นๆ เช่น ถอนทำลายต้นเป็นโรคออกไปทำลาย ปลูกพืชหมุนเวียน