หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall Armyworm)

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm : Spodoptera frugiperda JE Smith)
เป็นศัตรูสำคัญของข้าวโพด เดิมแพร่ระบาดในทวีปอเมริกา ต่อมาระบาดเข้าสู่พื้นที่ปลูกในแอฟริกาเมื่อปี 2559 และกลางปี 2561 มีรายงานการระบาดในอินเดีย ปลายปี 2561 เริ่มพบระบาดในประเทศไทย

วงจรชีวิตของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ใช้เวลา 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่ม ประมาณ 100-200 ฟอง มีขนปกคลุมไข่ ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน  หนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนที่โตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาว 3.2-4.0 เซนติเมตร จะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้  ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย มีชีวิต 10-21 วัน  สามารถบินเคลื่อนย้ายระหว่างแปลง และอพยพระยะไกลระหว่างประเทศ หรือภูมิภาคได้

ลักษณะการทำลาย ผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เริ่มวางไข่บนต้นข้าวโพด ตั้งแต่ข้าวโพดงอก อายุ 2-3 วัน เป็นต้นไป โดยพบกลุ่มไข่ทั้งด้านบนใบ ใต้ใบ และที่ลำต้น หลังจากฟักจากไข่ หนอนขนาดเล็กจะรวมกลุ่มกัดกินผิวใบ เริ่มเห็นรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบเมื่อข้าวโพดอายุ 6-7 วัน (10-11 วันหลังปลูก) ลักษณะเป็นจุดหรือเป็นแถบสีขาว หนอนตัวเล็กที่เพิ่งฟักสามารถกระจายไปยังต้นข้างเคียงโดยปลิวไปกับลม หนอนวัย 3-6 เป็นระยะที่ทำความเสียหายมาก กัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด  ทำให้ใบขาดเป็นรู เว้าแหว่ง ยอดกุด ระยะก่อนที่ดอกตัวผู้จะโผล่หนอนจะกัดกินเกสรตัวผู้ หลังจากใบยอดคลี่ทั้งหมด ดอกตัวผู้โผล่พ้นใบที่หุ้มอยู่ หนอนจะย้ายไปที่ฝัก กัดกินไหม และเจาะเปลือกหุ้มฝักเข้าไปกัดกินภายในฝัก ปกติหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จะทำลายใบ อยู่ในยอดข้าวโพด ในกรณีที่อากาศร้อนจัด ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน)  อุณหภูมิ 36-41 องศา หรือ ในช่วงที่มีอากาศร้อน แห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง สภาพดังกล่าวนี้ จะพบหนอน อยู่ใต้ผิวดิน กัดกินเนื้อเยื่อเจริญส่วนโคนต้น ทำให้เกิดอาการยอดเหี่ยว (dead heart) ต้นตาย ต้นข้าวโพดที่ยอดตายบางต้นมักจะมีการแตกหน่อข้าง หากดินมีสภาพเปียก แฉะ หรือ ถ้าช่วงที่มีอากาศเย็นที่ปลูกข้าวโพดฤดูแล้งหลังนา หนอนมักจะไม่ลงมาทำลายใต้ดินบริเวณโคนต้น มักไม่พบอาการยอดเหี่ยว หรือพบน้อยกว่า การคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงก่อนปลูก สามารถลดปัญหาการลงมาเจาะที่โคนต้นได้เมื่อเทียบกับการไม่คลุกเมล็ด

การปลูกข้าวโพดในฤดูฝน หากมีการกระจายของฝนดี ฝนตกต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ความรุนแรงในการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจะลดลง ฝนที่ตกหนักหรือตกต่อเนื่องจะชะกลุ่มไข่ หรือ หนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟัก หรือทำให้หนอนที่อยู่ในดินซึ่งกำลังจะเข้าดักแด้ รวมทั้งดักแด้ที่อยู่ในดินมีชีวิตรอดน้อยลง ทำให้สามารถเว้นระยะห่างในการพ่นสารและลดจำนวนครั้งในการพ่นสารลงได้  อย่างไรก็ตามควรมีการติดตามสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ

ช่วงที่ต้องมีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดคือระยะตั้งแต่ข้าวโพดงอกจนถึงอายุประมาณ 30-43 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงที่สุด และเป็นช่วงที่ข้าวโพดฟื้นตัวได้ หลังจากช่วงนี้ไปแล้วการระบาดลดลงตามธรรมชาติ (Oliveira et al., 1995) ประกอบกับศัตรูธรรมชาติเริ่มมีปริมาณมากขึ้น การป้องกันกำจัดในช่วงดังกล่าวจะลดปริมาณหนอนที่จะเข้าทำลายในระยะติดฝักซึ่งเป็นระยะที่ข้าวโพดต้นสูง การพ่นสารทำได้ยาก ไม่ปลอดภัย และไม่มีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนที่เจาะอยู่ในฝัก

ในข้าวโพด พบว่าผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มาวางไข่บนใบข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง โดยจะวางไข่มากในช่วง ระยะ 3 สัปดาห์แรกหลังจากข้าวโพดงอก  เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด จึงควรหมั่นสำรวจแปลงหลังจากข้าวโพดงอก สังเกตกลุ่มไข่ และรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบ  เมื่อพบต้นถูกทำลาย จนมีรอยกัดขาดเป็นรู  ป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เน้นพ่นสารลงในกรวยยอด

เริ่มพบกลุ่มไข่เมื่อข้าวโพดอายุ 2-3 วันหลังงอก
กลุ่มไข่พบทั้งใต้ใบ บนใบ และที่ลำต้น
หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเพิ่งฟักออกจากไข่
หนอนเริ่มฟักออกจากไข่ (ภาพขยาย)
การทำลายต้นข้าวโพดอายุ 7-8 วัน ของหนอนที่เพิ่งฟักจากไข่ ระยะนี้หนอนมีขนาดเล็กมาก มองเห็นได้ยาก ดังนั้นในการสำรวจแปลง ให้สังเกตรอยการกัดกินที่ผิวใบ


การรวมกลุ่มกัดกินใบของหนอนที่เพิ่งฟัก (ภาพขยายใต้กล้อง)

หนอนกัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด


ปกติ หนอนจะทำลายอยู่ในยอดข้าวโพด กรณีสภาพอากาศร้อนจัด แห้งแล้ง มักพบหนอนหลบลงมาใต้ผิวดิน เจาะกัดกินส่วนเจริญบริเวณโคนต้น ทำให้มีข้าวโพดแสดงอาการยอดเหี่ยว จำนวนมาก
ต้นที่ถูกหนอนกัดตรงโคนต้น แสดงอาการยอดเหี่ยว มักจะแตกหน่อข้าง
หลังออกดอกตัวผู้ ใบยอดคลี่ออกทั้งหมดแล้ว หนอนย้ายไปอยู่ซอกฝักและเจาะเข้าทำลายด้านข้างฝัก หรือเจาะเข้าด้านปลายฝัก ***การพ่นสารโดยใช้โดรน ไม่ควรพ่นล่าช้าไปกว่าระยะที่ฝักเริ่มโผล่พ้นกาบใบ หลังจากที่หนอนเจาะเข้าฝักแล้ว จะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด

ฝักที่มีหนอนเจาะ มักเกิดเชื้อราเข้าทำลาย เช่น Aspergillus flavus
ข้าวโพดหวานพันธุ์การค้าที่ลำต้นไม่แข็งแรง พบหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเจาะทำลายที่ลำต้นได้ด้วย ทำให้ต้นหักล้มง่าย
ข้าวโพดหวานพันธุ์การค้าที่ลำต้นไม่แข็งแรง มีการเจาะทำลายที่ลำต้น ทำให้ต้นหักล้มง่าย หรือเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคต้นเน่าเข้าทำลายซ้ำได้ง่าย
ข้าวโพดหวานพันธุ์การค้าที่ลำต้นไม่แข็งแรง พบการเจาะทำลายที่ลำต้น
การระบาดที่รุนแรง หนอนกัดกินใบ เหลือแต่เส้นใบ (อ.บึงสามพัน ปี 2563)
การระบาดที่รุนแรง หนอนกัดกินใบ เหลือแต่เส้นใบ (อ.บึงสามพัน ปี 2563)
หนอนที่โตเต็มที่วัย 6 เข้าดักแด้ที่ผิวดิน หรือ ใต้ดินรอบต้นข้าวโพด โดยสร้างโพรงรังดิน  (cocoon) ที่มีลักษณะรี กรณีดินแฉะ หนอนจะเข้าดักแด้ที่ผิวดิน โดยรังดินมีรูเปิดที่ผิวดิน หรือบางครั้งเข้าดักแด้ในฝัก
ดักแด้ของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในรังดิน
หากมีการระบาดรุนแรงโดยไม่ได้ป้องกันกำจัดอย่างเหมาะสม จะพบหนอนเข้าดักแด้ในดิน รอบโคนต้นข้าวโพดจำนวนมาก (อ.บึงสามพัน ปี 2563)
หากมีการระบาดรุนแรงโดยไม่ได้ป้องกันกำจัดอย่างเหมาะสม จะพบหนอนเข้าดักแด้ในดิน รอบโคนต้นข้าวโพด หรือวัชพืชรอบๆ แปลงจำนวนมาก (อ.บึงสามพัน ปี 2563)

ข้าวโพดที่ปลูกช่วงปลายฤดูฝน จะพบตัวเต็มวัยในยอดข้าวโพดจำนวนมาก รวมทั้งจำนวนกลุ่มไข่ค่อนข้างมาก
ลักษณะตัวเต็มวัยเพศเมียของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (ภาพขยาย)
ลักษณะตัวเต็มวัยเพศผู้ของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (ภาพขยาย)
ลักษณะสำคัญของตัวเต็มวัยผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด

การป้องกันกำจัด ตามคำแนะนำของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ดังนี้

1. ทำลายกลุ่มไข่เมื่อพบ  (1 กลุ่มไข่ ฟักออกเป็นหนอน 100-200 ตัว)
2. คลุกเมล็ดด้วยสารไซแอนทรานิลิโพรล 24% FS + ไทอะมีทอกแซม 24% FS  (กลุ่ม 28 + กลุ่ม 4) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้อัตรา 7 มิลลิลิตร ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ข้าวโพดหวาน 8 มิลลิลิตร ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม  แล้วค่อยพ่นสารทางใบต่อ เมื่อพบหนอนหรือการระบาดในระยะถัดมา
3. เมื่อพบหนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟักจากไข่ พ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อบีที สายพันธุ์ไอซาไว หรือ สายพันธุ์ เคอร์สตาร์กี้ อัตรา 80 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน
4. ในแปลงที่ไม่ใช้สารเคมี ใช้แมลงตัวห้ำ เช่น แมลงหางหนีบ หรือ มวนเพชฌฆาต หรือ มวนพิฆาต
5. พ่นสารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามคำแนะนำ
– สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 5)
– สไปนีโทแรม 25% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 5)
– อิมาเมกตินเบนโซเอท 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6)
อิมาเมกตินเบนโซเอท 5% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6)
คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 13)
อินดอกซาคาร์บ 15% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 22)
เมทอกซีฟีโนไซด์ + สารสไปนีโทแรม 30% + 6% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 18+5)
คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 28)
ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 28)

*** กรณีใช้สารคลุกเมล็ด หลังข้าวโพดอายุประมาณ 21 วัน เมื่อพบการทำลายลักษณะที่ใบมีรอยขาดเป็นรู ให้พ่นสารทางใบ  โดยเลือกสารที่ไม่อยู่ในกลุ่ม 28 ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับสารคลุกเมล็ด โดยเน้นพ่นสารให้ลงในกรวยยอด
*** กรณีไม่ใช้สารคลุกเมล็ด ให้ใช้วิธีการพ่นสารทางใบ  กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามคำแนะนำ พ่นครั้งแรกเมื่อข้าวโพดอายุ 6-7 วัน หลังงอก หรือ พิจารณาจากสภาพการระบาดในแต่ละฤดูซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกัน ต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน ตามวงรอบชีวิต เพื่อลดความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง
***การพ่นสารโดยใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน  ในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรควรติดตามการระบาดของหนอนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวางแผนการพ่นสาร  หากจำเป็นต้องพ่นสารในระยะต้นโต ควรพ่นในระยะก่อนที่ฝักข้าวโพดจะโผล่พ้นกาบใบ หากล่าช้าไปกว่านี้ เมื่อหนอนเจาะเข้าฝัก การพ่นสารจะไม่เกิดประสิทธิภาพ
*** การใช้สารตามคำแนะนำ ด้วยเทคนิควิธีการที่ถูกต้อง จะเกิดประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ลดปริมาณหนอนและลดความเสียหายต่อผลผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. แปลงที่มีการระบาดอย่างรุนแรง ไถแปลงเพื่อทำลายหนอน และดักแด้ ที่อยู่ในดิน กรณีแปลงที่มีต้นข้าวโพดงอกจากเมล็ดที่ร่วงลงดินขณะเก็บเกี่ยวในฤดูที่ผ่านมา ให้ทำลายต้นข้าวโพดทิ้งโดยวิธีการต่างๆ เช่น ตัด หรือไถกลบเพื่อทำลายหนอน  เว้นระยะอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะปลูกข้าวโพดรอบใหม่

การทำลายแปลงที่มีการระบาดรุนแรงโดยการไถ หนอน ดักแด้ และผีเสื้อ บางส่วนจะถูกทำลายโดยโดนฝังกลบ บางส่วนที่อยู่่ตามผิวดิน เป็นอาหารของสัตว์ชนิดอื่น เช่น นก (เครดิตภาพ : เกษตรกรเจ้าของไร่)
กรณีที่มีต้นข้าวโพดงอกจากเมล็ดที่ร่วงหล่นขณะเก็บเกี่ยวในฤดูที่แล้ว (ขวามือ) ให้ไถกลบเพื่อกำจัดหนอน เว้นระยะอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ค่อยปลูกข้าวโพดรอบใหม่
ในแปลงถั่วเขียวพบการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจำนวนไม่มาก ป้องกันกำจัดทำได้ง่ายกว่าในข้าวโพด เนื่องจากหนอนอยู่ตามใบ ไม่มีที่ให้หลบซ่อน

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
โครงการวิจัยและพัฒนาวิธีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด Research and Development on the Control of Fall Armyworm, Spodoptera frugiperda (J.E. Smith) (Lepidoptera: Noctuidae) ดาวน์โหลด

update : 4 ธันวาคม 2566

ข้อมูล : ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ และสำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืข กรมวิชาการเกษตร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *