โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท
ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน เป็นอีกภารกิจหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นให้บุคลากร และครอบครัว ตลอดจนผู้ร่วมงาน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งทางกายและทางใจ พึ่งพาตนเองอย่างเต็มความสามารถ ไม่ทำอะไรเกินตัว โดยการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจในการประกอบอาชีพต่าง ๆ รวมถึงเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงหน่วยงาน ใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และดูงาน นำไปปฏิบัติเพื่อเพิ่มรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน โดยการจัดทำแปลงต้นแบบให้กับบุคลากร และครอบครัว ตลอดจนผู้ร่วมงาน และเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง ใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ดูงาน ในรูปแบบการผลิต การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ที่หลากหลายและมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดในชุมชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
- เพื่อให้ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
- เพื่อพัฒนาการรวมกลุ่มเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ขายให้สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้
กลุ่มเป้าหมาย
บุคลากรศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท และครอบครัว เกษตรกร และผู้สนใจที่อยู่บริเวณใกล้เคียงหรือในท้องถิ่นการดำเนินการ
กิจกรรมการปลูกพืช
- ปลูกไม้ผลยืนต้นชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ขนุน ทับทิม ลำไย มะม่วงหาวมะนาวโห่ ส้มโอ และมะตูม เป็นต้น
- ปลูกพืชผักกินใบอายุสั้น ได้แก่ ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว และกุยช่าย เป็นต้น
- ปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพรไทย ได้แก่ กระเพรา โหระพา แมงลัก ผักชีลาว สะระแหน่ พริก มะเขือ มะเขือเทศ ข่า ตะไคร้ กระชาย ใบบัวบก ผักชีฝรั่ง แคแดง แคขาว บวบ แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู ผักไผ่ จิงจูฉ่าย มะตูมซาอุ ชะอม ชมจันทร์ เสาวรส และมะนาว เป็นต้น
- ไม้ดอกไม้ประดับเพื่อตัดดอกขาย ได้แก่ ดาวเรือง เตยหอม และสร้อยทอง เป็นต้น
- ไม้น้ำ ได้แก่ บัวสาย กระจับ และผักกระเฉด เป็นต้น
กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์
- เลี้ยงสัตว์น้ำในสระที่ขุดเพื่อเก็บน้ำไว้สำหรับปลูกพืช เลี้ยงปลา ได้แก่ ปลาดุกบิ๊กอุย ปลาบิ๊กโพ ปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาบึก ปลาหมอและปลาช่อน เป็นต้น เลี้ยงกบในกระชัง
- เลี้ยงสัตว์ปีก เลี้ยงไก่ไข่ และเป็ดไข่
กิจกรรมการเสริมสร้างความรู้
การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ได้รับความรู้ด้านการเกษตรและนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพโดยการได้ฝึกปฏิบัติจริงและเลือกสิ่งที่ชอบและสามารถนำไปปฏิบัติได้ ได้แก่
1. อบรมเรื่องการใช้สมุนไพรใกล้ตัวมาเป็นยารักษาโรค
2. อบรมเรื่องการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาและป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างปลอดภัย
3. อบรมเรื่องการปลูกพืชผัก ไม้ดอกประดับ การดูแลรักษา และการวางแผนการปลูกเพื่อบริโภคและจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้
4. อบรมการแปรรูปผลผลิตเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิต เช่น การแปรรูปเห็ดต่างๆ เป็นเห็ดหยอง น้ำพริกเห็ด เป็นต้น