ข้อมูลพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชแนะนำ และสิ่งประดิษฐฺ์


ชื่อพืช ข้าวโพดหวาน
พันธุ์ ลูกผสม ชัยนาท 86-1
วันที่รับรอง 14 มกราคม 2556
ประเภทการรับรอง พันธุ์พืชรับรอง
ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 86-1 หรือข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ CNSH 7550 เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้เบอร์ 75 กับสายพันธุ์แท้เบอร์ 50 สายพันธุ์แท้เบอร์ 75 หรือสายพันธุ์แท้ Hybrix4 (S) 9-1-B-B-B-B-B เป็นสายพันธุ์ที่มีเปลือกหุ้มเมล็ดบาง คัดเลือกได้จากพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมไฮบริกซ์ 4 ของบริษัทแปซิฟิคดำเนินการคัดเลือกตั้งแต่ปี 2548-2551 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท โดยวิธีการคัดเลือกแบบสืบประวัติ และผสมตัวเอง 1 ครั้งต่อรอบการคัดเลือก ส่วนสายพันธุ์แท้เบอร์ 50 หรือสายพันธุ์แท้SSH0001 (S) 11-1-B-B-B-1-B-B-B คัดเลือกจากพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ SSH0001ของบริษัทสวีทซีดส์ ที่มีรสชาติหวานคุณภาพเมล็ดนุ่มปลูกคัดเลือกแบบสืบประวัติ และผสมตัวเอง 1 ครั้ง/รอบการคัดเลือก ในฤดูแล้งและฤดูฝนระหว่างปี 2548-2551 และได้ทดสอบการให้ผลผลิตในแปลงเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น เปรียบเทียบพันธุ์มาตรฐาน เปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่น เปรียบเทียบพันธุ์ไร่เกษตรกร ตั้งแต่ปี 2551-2553 และศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ปี 2554
รากค้ำจุนสีเขียวอับละอองเกสรสีเหลืองเส้นไหมสีเขียวอ่อน ลำต้นสีเขียวเปลือกหุ้มฝักสีเขียว เมล็ดสดสีเหลือง ไม่มีการแตกหน่อ มีหูใบที่ฝัก (ear leaf)รสชาติหวานนุ่ม ฝักทรงกระบอกขนาดใหญ่ขนาดฝัก (กว้าง x ยาว)5 x 18 ซม. มี 16-18 แถว ต้นสูง 220 ซม.มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 3.69%ไขมัน 2.68% และเปอร์เซ็นต์เส้นใย 1.47%
1. ให้ผลผลิตสูง โดยพันธุ์ CNSH7550 ให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือก 2,888 กิโลกรัม/ไร่ และผลผลิตฝักสดปอกเปลือก 1,939 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่พันธุ์ไฮบริกซ์ 3 ให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือก 2,589 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตฝักสดปอกเปลือก1,898 กิโลกรัม/ไร่
2. อัตราแลกเนื้อหมายถึงสัดส่วนของน้ำหนักเมล็ดทั้งฝักต่อน้ำหนักฝักทั้งเปลือกโดยข้าวโพดหวานพันธุ์ CNSH7550 มีอัตราแลกเนื้อ 40% ขณะที่พันธุ์ไฮบริกซ์ 3 มีอัตราแลกเนื้อ 31%
3. ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม
4. พันธุ์ CNSH7550 มีรสชาติหวานให้ความหวาน 13.8 องศาบริกซ์ ไม่แตกต่างจากพันธุ์ไฮบริกซ์ 3 ที่ให้ความหวาน 14.3 องศาบริกซ์
ปลูกได้ทั่วไปทั้งเขตน้ำฝนและพื้นที่ชลประทาน ทั้งก่อนฤดูการทำนาและหลังฤดูการทำนา
หลีกเลี่ยงการปลูกในสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการระบาดของโรคราน้ำค้าง และโรคใบไหม้แผลใหญ่ ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคดังกล่าว ควรใช้สารเคมีป้องกันและกำจัด ตามคำแนะนำการใช้สารเคมีของกรมวิชาการเกษตร