ข้อมูลพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชแนะนำ และสิ่งประดิษฐฺ์


ชื่อพืช ฝ้าย
พันธุ์ ตากฟ้า 86-5
วันที่รับรอง 14 มกราคม 2556
ประเภทการรับรอง พันธุ์พืชรับรอง
ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 86-5 หรือฝ้ายสายพันธุ์ TF25/GC-B-5-4-B-B ปี 2543 ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ได้นำฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 (TF2) ซึ่งมีลักษณะทรงต้นโปร่ง และมีคุณภาพเส้นใยที่ดี จัดเป็นฝ้ายเส้นใยยาว ต้านทานต่อโรคใบหงิกใช้เป็นพันธุ์แม่ไปผสมข้ามกับพันธุ์ Green Cotton (GC) เป็นพันธุ์พ่อ ซึ่งเป็นพันธุ์ฝ้ายที่มีเส้นใยสีเขียว แต่อ่อนแอต่อโรคใบหงิก แล้วผสมกลับไปยังตากฟ้า 2 จำนวน 4 ชั่ว ระหว่างปี 2544-2545 โดยผสมกลับแต่ละครั้ง เก็บเมล็ดรวมกันจากต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียว จากนั้นปลูกลูกผสมกลับดังกล่าว (BC4F1) ในปี 2546 เก็บเมล็ดรวมกันจากต้นที่มีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียว นำไปปลูกเป็นชั่วที่ 2 หลังการผสมกลับ (BC4F2)ในปี 2547 มีการปลูกเชื้อให้ต้นฝ้ายเป็นโรคใบหงิกใน BC4F2 เก็บเมล็ดแยกกันเป็นรายต้นเฉพาะต้นที่ต้านทานโรคใบหงิกและมีลักษณะคล้ายพันธุ์ตากฟ้า 2 แต่ให้เส้นใยสีเขียว เพื่อนำไปปลูกคัดเลือกแบบต้นต่อแถวในปี 2548 และคัดเลือกในปี 2549-2550 จนได้แถวหรือสายพันธุ์ที่มีความสม่ำเสมอดี 20 สายพันธุ์ จากนั้น ประเมินผลผลิตและลักษณะต่างๆตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรในปี 2551-2554
กลีบดอกสีครีม อับละอองเกสรสีครีม ไม่มีจุดที่โคนกลีบดอกด้านใน ใบรูปร่างมีขอบใบหยักเว้าลึก จนทำให้เห็นเป็นแฉกได้ชัดเจน และใบมีลักษณะยกขึ้น(palmate to digital) ขนบนใบน้อย สมอมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีต่อมสีหรือสารพิษก๊อสซิปอลที่สมอปานกลางริ้วประดับดอกกว้าง มีต่อมสีที่ริ้วประดับน้อย ทรงต้นกลม มีขนบนลำต้น ปุยหรือเส้นใยฝ้ายมีสีเขียว ต้นสูง 1.27ม. มีกิ่งกระโดง 2 กิ่ง/ต้น กิ่งผล 14 กิ่ง/ต้น จำนวนสมอต่อต้น 22 สมอ/ต้น น้ำหนักปุยฝ้ายรวมทั้งเมล็ดต่อสมอ 5.13 กรัม เส้นใยมีความยาว 1.25 นิ้ว ความเหนียวของกลุ่มเส้นใย 21.5 กรัม/เท็กซ์ ความละเอียดอ่อนของเส้นใย 2.6 ไมโครแนร์ ความสม่ำเสมอของเส้นใย 57%
1. มีเส้นใยเป็นสีเขียวตามธรรมชาติ (GREYED GREEN : 195B) และมีคุณภาพเส้นใยดีระดับเดียวกับพันธุ์ตากฟ้า 2
2. ต้านทานต่อโรคใบหงิกในสภาพการปลูกเชื้อได้ดี ในระดับเดียวกับพันธุ์ตากฟ้า 2
ปลูกได้ในแหล่งผลิตฝ้ายของประเทศไทยทั่วไป
1.ควรเก็บเกี่ยวทุก 5-10วัน เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพด้านสีของเส้นใย
2.ไม่ควรปลูกในพื้นที่เกิน 10 ไร่ เพราะอาจทำให้การดูแลรักษาและการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูไม่ทั่วถึง