ข้อมูลพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชแนะนำ และสิ่งประดิษฐฺ์


ชื่อพืช ปาล์มน้ำมัน
พันธุ์ ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 7
วันที่รับรอง 07 มกราคม 2553
ประเภทการรับรอง พันธุ์แนะนำ
ปาล์มน้ำมันคู่ผสมหมายเลข 198 (ลูกผสมเทเนอรา (D x P) Deli x Tanzania) ได้จากการผสมข้ามระหว่างแม่พันธุ์ D78/193 ในกลุ่ม Deli Dura กับ พ่อพันธุ์ T159/398 ในกลุ่ม Tanzania ซึ่งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์นี้ได้จากการพัฒนาสายพันธุ์พ่อแม่ปาล์มน้ำมัน ภายใต้โครงการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน รอบที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.2533-2544 โดยนำคู่ผสมทั้งหมดที่ผสมตามโครงการดำเนินการแยกเป็น 6 กลุ่ม นำคู่ผสมที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 ปลูกทดสอบ ร่วมกับคู่ผสมอื่นๆ จำนวน 23 คู่ผสม มีลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ (standard cross) ดำเนินการศึกษาและประเมินผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต องค์ประกอบทะลาย การเจริญเติบโต ระหว่างปี พ.ศ.2546-2552 ที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี สรุปทำการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544-2553 รวมระยะเวลา 9 ปี
ใบและทางใบสีเขียวมีความยาวปานกลาง ทะลายมีลักษณะรูปทรงทะลายปลายแหลม,หนามสั้น ผลรูปทรงผลกลม ปลายแหลม ผลมีขนาดใหญ่เปลือกหนา ความหนาของกะลา 8.92% (กะลาต่อผล) เนื้อในหนา 11.0% เมื่อดิบสีดำและเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อสุก (nigrescens) น้ำหนักผลต่อทะลาย 71.6 % น้ำหนักผลเฉลี่ย 9.69 กรัมต่อผล เปลือกนอกสดต่อผล 80.1 % กะลาต่อผล 8.92 % น้ำมันต่อทะลาย 24.2 % ความยาวทางใบอายุ 3, 4 และ 5 ปี 351, 421 และ 467 ซม. พื้นที่ใบที่ 1 อายุ 3, 4 และ 5 ปี 4.52, 5.46 และ 6.80 ตารางเมตร
1. ผลผลิตทะลายสดสูง ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ย 3,646 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ กรมวิชาการเกษตร 6.6 เปอร์เซ็นต์ 2. ผลผลิตน้ำมันดิบสูง ผลผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 881 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร 17.1 เปอร์เซ็นต์ และสูงกว่าพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 3 12.4 เปอร์เซ็นต์ 3. เนื้อในต่อผลสูง มีเนื้อในต่อผลเฉลี่ย 11 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ควรปลูกในพื้นที่เหมาะสมและเหมาะสมปานกลางสำหรับปาล์มน้ำมัน
เนื่องจากเป็นลูกผสมชั่วที่ 1 (F1) จึงไม่สามารถนำเมล็ดที่ได้ไปทำพันธุ์เพื่อปลูกต่อไปได้เนื่องจากจะเกิดการกระจายตัวที่ได้ลักษณะไม่ตรงตามพันธุ์