ข้อมูลพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชแนะนำ และสิ่งประดิษฐฺ์
ชื่อพืช
อ้อย
พันธุ์
อู่ทอง 9
วันที่รับรอง
09 มกราคม 2552
ประเภทการรับรอง
พันธุ์รับรอง
ประวัติ
อ้อยโคลน 99-2-168 เป็นอ้อยที่คัดได้จากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์แม่ 94-2-128 กับพันธุ์พ่อ 94-2-270 ผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ในปี พ.ศ.2542 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2549 ดำเนินการคัดเลือก เปรียบเทียบเบื้องต้น เปรียบเทียบมาตรฐาน ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีของอ้อย ศึกษาการทำลายของหนอนกออ้อยและปฏิกิริยาของอ้อยต่อโรคที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ และทดสอบในไร่เกษตรกร อ.หนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอขาณุวรลักษณ์ จังหวัดกำแพงเพชร สรุปทำการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542-2552 รวมระยะเวลา 10 ปี
ลักษณะประจำพันธุ์
กอตั้งตรง กาบแน่นเหนียวติดกับลำต้น จำนวนหน่อต่อกอหลังงอกอายุ 4 เดือนเฉลี่ย 6-12 หน่อ ปล้องทรงกระบอกยาว 10-20 เซ็นติเมตร ปล้องเรียงตัวค่อนข้างตรงมีไขมาก สีปล้องเมื่อต้องแสงมีสีม่วงเหลือบเหลืองเมื่อไม่ต้องแสงมีสีเหลือง ลักษณะทรงใบชัน – ปลายโค้ง ไม่มีขนที่กาบใบ และขอบใบ ลำสูงเฉลี่ย 226 เซ็นติเมตร จำนวนลำ 11,762 ต่อไร่ จำนวนปล้องเฉลี่ย 21 ปล้องต่อลำ อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน ความหวาน 14 ซีซีเอส ผลผลิตน้ำหนัก เฉลี่ย 17.50 ตันต่อไร่ ผลผลิตน้ำตาล 2.45 ตันซีซีเอสต่อไร่
ลักษณะเด่น
1. )ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 17.50 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K84-200 (11.19 ตันต่อไร่) ร้อยละ 56 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (14.25 ตันต่อไร่) ร้อยละ 23 2. )ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.45 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K84-200 (1.56 ตันซีซีเอสต่อไร่) ร้อยละ 57 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (2.04 ตันซีซีเอสต่อไร่) ร้อยละ 20 3. )ต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงดีกว่าพันธุ์อู่ทอง 3
พื้นที่แนะนำ
ควรปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง 9 ในพื้นที่เขตชลประทานจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดกำแพงเพชร
ข้อควรระวัง
ควรลอกกาบก่อนปลูกเพราะอ้อยพันธุ์นี้ กาบแน่น ยอดอ้อยจะงอกผ่านกาบใบยาก ซึ่งถ้าไม่ลอกกาบก่อนปลูกจะทำให้งอกช้า