ข้อมูลพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชแนะนำ และสิ่งประดิษฐฺ์


ชื่อพืช อ้อย
พันธุ์ สุพรรณบุรี 80
วันที่รับรอง 31 มกราคม 2550
ประเภทการรับรอง พันธุ์รับรอง
เป็นลูกผสมของพันธุ์แม่ 85-2-352 กับพันธุ์พ่อ K 84-200 ผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้ ลูกอ้อย 11,344 ต้น ในปี พ.ศ.2537 ปี พ.ศ.2538 ทำการคัดเลือกครั้งที่ 1 ได้ลูกอ้อย 475 โคลน ปี พ.ศ.2539 คัดเลือกครั้งที่ 2 อ้อยปลูกได้อ้อย 286 โคลน ปี พ.ศ.2540 คัดเลือกครั้งที่ 2 อ้อยตอ 1 ได้อ้อย 74 โคลน มีพันธุ์ K 84-200 และอู่ทอง 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ปี พ.ศ.2542 -2543 เปรียบเทียบเบื้องต้นพันธุ์อ้อยมีอ้อยทดลอง 45 โคลน มีพันธุ์ K 84-200 และอู่ทอง 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ พันธุ์สุพรรณบุรี 80 ปี พ.ศ.2543-2546 เปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์อ้อยที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตปราจีนบุรี 7 แปลงทดลอง มีอ้อยทดลอง 19 โคลน มีพันธุ์ K 84-200 และอู่ทอง 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ปี พ.ศ.2544-2547 ทดสอบในไร่เกษตรกร พันธุ์อ้อยที่ไร่เกษตรกร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบ่อพลอย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี 19 แปลงทดลอง มีอ้อยทดลอง 8 โคลน มีพันธุ์ K 84-200 และอู่ทอง 3 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ทำการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537-2549 รวมระยะเวลาการวิจัย 13 ปี
ทรงกอตั้งตรง สีลำไม่ถูกแดดสีเขียวอมเหลือง ถูกแดดสีม่วงอมเหลือง ขนาดลำปานกลาง ข้อโปนเล็กน้อย รูปร่างปล้องโค้ง มีไขที่ลำ มีใบขนาดใหญ่ ยาวปานกลางและโค้ง สีกาบใบสีเขียวปนม่วงเล็กน้อย ไม่มีขนที่กาบใบ หูใบรูปหอกยาว 1 ข้าง หอกสั้น 1 ข้าง คอใบมีสีน้ำตาลแดงอ่อน รูปสามเหลี่ยมฐานกว้าง 1 ข้าง สามเหลี่ยมชายธง 1 ข้าง ออกดอกเล็กน้อย
ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 17.79 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 (14.82 ตันต่อไร่) ร้อยละ 20 และ สูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (16.91 ตันต่อไร่) ร้อยละ 5 ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.66 ตัน ซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 (2.28 ตันซีซีเอสต่อไร่) ร้อยละ 17 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (2.52 ตันซีซีเอสต่อไร่) ร้อยละ 6 ในดินร่วนปนทราย เขตชลประทาน ต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำระดับปานกลาง
ควรปลูกในดินร่วนปนทราย เขตชลประทาน จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี
เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 11-12 เดือนเพื่อให้มีความหวานเพิ่มขึ้น