ข้อมูลพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชแนะนำ และสิ่งประดิษฐฺ์


ชื่อพืช อ้อย
พันธุ์ ขอนแก่น 80
วันที่รับรอง 09 มกราคม 2549
ประเภทการรับรอง พันธุ์รับรอง
ได้จากคู่ผสมของอ้อยโคลน 85 -2 – 352 กับพันธุ์ K 84-200 ทำการผสมข้ามพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ในปี 2536 นำเมล็ดอ้อยมาเพาะและคัดเลือกลูกอ้อยที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นในปี 2538 คัดเลือกครั้งที่ 1 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ในปี 2539 – 2540 เปรียบเทียบเบื้องต้นที่โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ในปี 2541 -2542 เปรียบเทียบมาตรฐานที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นและศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตร้อยเอ็ดในปี 2543 – 2544 เปรียบเทียบและทดสอบในไร่เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2545 – 2547 ที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และบุรีรัมย์ พบมีผลผลิตสูง และสามารถปรับตัวได้ดีกับเขตใช้น้ำฝนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2536-2548 รวมระยะเวลาการวิจัย 13 ปี
มีทรงกอตั้งตรง กาบใบหลวมปานกลาง ปล้องทรงกระบอก การจัดเรียงของปล้องแบบซิกแซก มีไขปานกลาง ลำสีม่วงแดงเมื่อต้องแสง แต่เมื่อไม่ต้องแสงจะมีสีเขียวเหลืองมีลายเส้นสีส้ม ตากลมนูนขึ้นมาเล็กน้อย มีขนใบ ใบปลายโค้งลง มีขนที่ขอบใบมาก ลิ้นใบเป็นแถบตรงกลางพองออกปลายเรียวแหลมทั้งสองข้าง ใบด้านนอกรูปสามเหลี่ยม มีขน ส่วนหูใบด้านในรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า คอใบรูปชายธงปลายโค้งสีน้ำตาล ลำยาวมีเส้นผ่าศูนย์กลางลำ 2.78 เซนติเมตร มีจำนวนลำต่อกอเฉลี่ย 4.2 ผลผลิตน้ำตาลในอ้อยปลูก 2.94 ตันซีซีเอสต่อไร่ ในอ้อยตอ 1 2.06 ตันซีซีเอสต่อไร่ ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.56 ตันซีซีเอสต่อไร่ มีซีซีเอสเฉลี่ย 14.6 ต้านทานต่อโรค แส้ดำในสภาพปลูกเชื้อ มีการทำลายของหนอนเจาะลำต้น 8.6 เปอร์เซ็นต์
ให้ผลผลิตสูงในอ้อยปลูกและอ้อยตอ 1 20.7 และ 13.5 ตันต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 10 และ 17 ตามลำดับ ต้านทานโรคแส้ดำ ที่เกิดจากเชื้อรา Ustilago scitaminae ออกดอกช้า ทำให้น้ำหนักและความหวานไม่ลดลง
ปลูกได้ทั่วไปในเขตปลูกอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีดินร่วนปนทราย