ข้อมูลพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชแนะนำ และสิ่งประดิษฐฺ์


ชื่อพืช มันสำปะหลัง
พันธุ์ ระยอง 7
วันที่รับรอง 25 มกราคม 2548
ประเภทการรับรอง พันธุ์รับรอง
ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์ CMR30-71-25 กับพันธุ์ OMR29-20-118 ตั้งแต่ปี 2535 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ภายใต้ชื่อ CMR35-48-196 โดยผ่านการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ สถานีทดลองพืชไร่ และไร่เกษตรกรในแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศไทย รวม 13 จังหวัด แปลงทดลอง 51 แปลง ทำการคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2548 รวมระยะเวลาการวิจัย 14 ปี
ลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อนและใบสีเขียวอ่อนคล้ายกับพันธุ์ระยอง 90 ลำต้นตั้งตรง ไม่โค้งงอ ไม่มีการแตกกิ่ง มีจำนวนลำต้นที่แตกจากท่อนปลูกประมาณ 2-4 ลำต้นต่อหลุมซึ่งมากกว่าพันธุ์อื่นทั่วไป และเนื้อของหัวมันสำปะหลังมีสีขาว ให้ผลผลิตหัวสด 6.08 ตันต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัวสด 27.7 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตแป้ง 1.71 ตันต่อไร่ และผลผลิตมันเส้น 2.35 ตันต่อไร่
1.)ผลผลิตและปริมาณแป้งในหัวสดเมื่อปลูกทั้งต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนสูงกว่าพันธุ์รับรองทุกพันธุ์ โดยให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 6.08 ตันต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัวสด 27.7 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตแป้ง 1.71ตันต่อไร่ และผลผลิตมันเส้น 2.35 ตันต่อไร่ 2.)งอกเร็วมากประมาณ 6 วันหลังจากปลูก ในขณะที่พันธุ์ทั่วไปใช้เวลางอก 14 วัน หลังปลูก ดังนั้น สามารถปลูกปลายฤดูฝนได้ดีเนื่องจากให้ความงอกเร็วกว่าทุกพันธุ์จึงเป็นโอกาสให้การเจริญเติบโตได้เร็วในช่วงระยะแรกของการเจริญเติบโตคือ ในช่วงอายุ 1-2 เดือนหลังปลูก ซึ่งในขณะนั้นดินยังมีความชื้นอยู่ และสามารถฟื้นตัวหรือเจริญเติบโตได้เร็วเมื่อได้รับน้ำฝนอีกครั้งหลังจากผ่านช่วงฤดูแล้งอันยาวนานด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นพันธุ์ที่ใช้สำหรับปลูกทั้งปลายฤดูฝนและต้นฤดูฝนได้ดี 3.)จำนวนลำต้นที่แตกออกจากท่อนปลูก 2-4 ลำต้นต่อหลุม ทำให้คลุมวัชพืชได้ดีในช่วง 3 เดือนหลังจากปลูก นอกจากนี้ยังเป็นพันธุ์ที่มีทรงต้นดีไม่แตกกิ่ง เป็นผลทำให้ลำต้นไม่หักล้มสะดวกในการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว 4.)จำนวนหัวต่อต้นมากถึง 11 หัวต่อต้น มีขนาดของหัวใกล้เคียงกันโดยหัวออกรอบโคนลำต้นและเรียงกันเป็นชั้นและไม่มีก้านหัวคือหัวขาดยากเมื่อเก็บเกี่ยว ดังนั้น จึงเหมาะกับการใช้เครื่องขุดในการเก็บเกี่ยวผลผลิต 5.)เมื่อปลูกในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง จะให้ลำต้นแข็งแรง ไม่แตกกิ่ง และไม่เกิดปัญหาหักล้มเมื่อเทียบกับพันธุ์รับรองทุกพันธุ์
เหมาะสมในสภาพดินร่วนเหนียวและดินร่วนทรายที่มีความชื้นของดินดีตลอดช่วงของการเจริญเติบโต โดยเฉพาะดินที่มีระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดินแต่ไม่เหมาะกับสภาพดินที่แห้งแล้ง
1.)ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและสภาพดินแห้งแล้ง จะให้ลำต้นแคระแกร็นกว่าพันธุ์รับรองทุกพันธุ์ 2.)ควรปลูกในขณะดินมีความชื้นสูงจะทำให้เปอร์เซ็นต์การอยู่รอดสูงเหมือนกับการใช้ท่อนพันธุ์สภาพปกติ