กรมวิชาการเกษตร ตั้งกองขึ้นมาใหม่ “กองพืชเศรษฐกิจใหม่และการบริหารก๊าซเรือนกระจกในพืช” เพื่อเป็นการส่งเสริมและโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืช ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
วันนี้ (19 สิงหาคม 2566) ที่ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยในงานเสวนา “ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรภายใต้ปรากฎการณ์เอลนีโญและโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืชของไทย” ภายใต้งานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” กรมวิชาการเกษตร
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้มีการตั้งกองขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า “กองพืชเศรษฐกิจใหม่และการบริหารก๊าซเรือนกระจกในพืช” เพื่อเป็นการส่งเสริมและโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืช ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้มีการทำเอ็มโอยูร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านตลาดคาร์บอนเครดิต และพัฒนานักวิชาการเกษตรให้มีศักยภาพในการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตได้ ล่าสุดได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนแล้ว 20 คน เพื่อสามารถ verified คาร์บอนเครดิตได้ต่อไป
“การที่จะทำให้ประเทศไทยมี National Baseline ทาง อบก. กับกรมวิชาการเกษตร จับมือกันแล้ว และตอนนี้เราได้ Baseline พืชเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว แต่เป็น Baseline เฉพาะพื้นที่ศูนย์วิจัยของกรมวิชาการเกษตรก่อน เพราะว่าเรามีการเก็บเรื่องของข้อมูลคาร์บอนเครดิตทั้งในต้นไม้ และในดิน การบริหารจัดการเกษตรที่ดี ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้อินทรีย์วัตถุที่มากขึ้นเพื่อที่จะลดการใช้เคมี และนำไปสู่ในเรื่องของการลดการปลดปล่อยคาร์บอนที่น้อยลง” นายระพีภัทร์ กล่าว
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการจัดทำคู่มือแนะนำเกษตรกรเบื้องต้น เป็นคู่มือการประเมินคาร์บอนเครดิต ในพื้นที่เกษตรกร ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ และคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อช่วยให้ส่งเสริมเกษตรกรสามารถ หารายได้จากคาร์บอนเครดิตอย่างจริงจังได้ในอนาคต
ขณะเดียวกัน กรมวิชาการเกษตร ขอแจ้งเตือนด้วยว่า ปัจจุบันเรื่องการรับรองคาร์บอนเครดิต ในประเทศไทยมี อบก. อันเดียวเท่านั้น จึงขอให้ระวังว่า จะเกิดการหลอกลวง หรือระวังจะเกิดแชร์ลูกโซ่ว่าจะซื้อคาร์บอนเครดิตได้จริง ถ้าซื้อได้จริง ๆ อบก.ต้องรับรองเท่านั้น