อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นำร่อง “ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี” ดันเข้าตลาดคาร์บอนเครดิต สนองนโยบายรัฐมนตรีเกษตร-รัฐบาล ไทยหวังบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ยั่งยืน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซียแปชิฟิก (APEC) 2022 ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำการพัฒนาทางเศรษฐกิจผ่านนโยบาย Bio-Circular Green Economy (BCG) การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมาย Net Zero การพัฒนาระบบคาร์บอนเครดิต ภาคการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนางานวิจัยเพื่อหาแนวทางการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต
กรมวิชาการเกษตรขานรับ นโยบาย รัฐบาล และ รมว. เกษตร พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย การลดก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร และการประเมินคาร์บอนเครดิตในพืชเศรษฐกิจ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 รวมถึงบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี พ.ศ. 2608
ถ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีฯ ลงพื้นที่ติดตาม ความก้าวหน้าของการดำเนินการ “โครงการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปาล์มน้ำมัน” ณ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการตามนโยบายของกรมวิชาการเกษตร ในการส่งเสริมการจัดการ Carbon Credit ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร
ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี พื้นที่ดำเนินการ 666 ไร่มีการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพรวมของปาล์มน้ำมัน 2.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปีคิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ทั้งสิ้น 1,658.34 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เมื่อลดปุ๋ยเคมีลง 5% ได้ 3.72 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สรุปปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ทั้งสิ้น 1,658.87 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังมีการดำเนินโครงการศึกษาฯ ณ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ พื้นที่ดำเนินการ 175 ไร่มีการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพรวมของปาล์มน้ำมัน 2.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปีคิดเป็นปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ทั้งสิ้น 435.75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เมื่อลดปุ๋ยเคมีลง 5% ได้ 0.98 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สรุปปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ทั้งสิ้น 435.89ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ดังนั้น ปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้จากโครงการรวม 2 ศูนย์ฯ 2,094.76 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรเร่งหาวิธีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกเหนือจากการลดปริมาณปุ๋ยเคมี เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยจากให้ปุ๋ยพร้อมระบบน้ำ หรือใช้ไบโอชาร์ดูดซับคาร์บอนในดิน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิต
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วม รับฟังปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมมอบนโนบายในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรโดยให้นำ“ระนองโมเดล” เป็นต้นแบบในการประยุกต์ใช้ และการต่อยอดโครงการฯ 76โมเดลในพื้นที่ ให้เกษตรกรมีความรู้ในการผลิตพืชอย่างมีระบบ ป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง สามารถลดต้นทุนการผลิต ได้ผลผลิตคุณภาพ ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมี และศัตรูพืช
สามารถเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย กับโรงพยาบาล สถานีอนามัย จัดให้มีตลาดเกษตรสีเขียวในพื้นที่ เพื่อยกระดับในการสร้างมูลค่าของผลผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้บริโภคผัก ผลไม้ที่ปลอดภัย ทำให้เกิดรายได้จากการขายผลผลิตที่ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สุดท้ายให้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์หนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่ที่มีการระบาดพร้อมเตรียมข้อมูลเพื่อทำสงครามในการป้องกันการระบาดหนอนหัวดำมะพร้าว