กรมวิชาการเกษตร ร่วมเป็นเจ้าภาพในการประชุมเชิงปฏิบัติการAsian Short Course on Agribiotechnology, Biosafety, and Communication (ASCA) ครั้งที่ 7เน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ในด้านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่
นายรพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นผู้แทนกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ
Asian Short Course on Agribiotechnology, Biosafety, and Communication (ASCA) ครั้งที่ 7
ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2567ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง องค์กรระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (The International Service for the Acquisition of Agri-biotech Application: ISAAA) กรมวิชาการเกษตร และสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วม เพื่อเน้นย้ำถึงบทบาทของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ในด้านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่
ดร.ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ กล่าวว่า ความก้าวหน้าที่รวดเร็วในเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ซึ่งถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของการเกษตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับมือกับศัตรูพืชที่อุบัติใหม่ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค การยอมรับความปลอดภัย และศักยภาพของเทคโนโลยีเหล่านี้จากองค์กรต่างๆ เช่น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ ประกาศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567 ที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 และกรมวิชาการเกษตรออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับประเทศไทยในการนำเอานวัตกรรมทางชีวภาพขั้นสูง มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และความสามารถในการฟื้นตัวของการเกษตร
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมการเกษตร ในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนวิทยาศาสตร์ระดับโลกอีกด้วย การปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐาน และแนวปฏิบัติระดับสากล จะเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย ในการร่วมมือ แบ่งปันความรู้ ด้านการเกษตรที่ยั่งยืน กับนานาประเทศ และการเริ่มต้นของประเทศไทยครั้งนี้ จะส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร และเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหารของโลก ผ่านนวัตกรรม และการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี