การประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตโลกเดือดและศัตรูพืชอุบัติใหม่
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่อง เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตโลกเดือดและศัตรูพืชอุบัติใหม่ ณ ห้องประชุมกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร (ตึกแปดชั้น) กรมวิชาการเกษตร บางเขน โดย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุมสัมมนาฯ และนางปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดประชุม โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสมาคมฯ นักวิชาการ จากภาคส่วนต่างๆทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น FAO สวทช. อย.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมเกษตรปลอดภัย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมสัมมนาฯ เพื่อแสวงหาโอกาสจากเทคโนโลยี GEd ที่มีความปลอดภัยสูงสำหรับรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร อีกทั้งร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแลเทคโนโลยี GEd ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและผู้เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยี GEd
นอกจากนี้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนเพื่อรองรับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและศัตรูพืชอุบัติใหม่โดยใช้เทคโนโลยี GEd ในการแก้ไขหรือปรับแต่งยีนให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีความต้านทานศัตรูพืช ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และไม่ใช่การตัดต่อข้ามสายพันธุ์เหมือน GMOs ในการใช้เทคโนโลยี GEd มีความจำเป็นต้องมีการจัดการที่เหมาะสมและการสร้างการรับรู้ทุกภาคส่วน โดยมอบให้กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดังกล่าว และพิจารณาแนวทางกำกับดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นรูปธรรม ซึ่งนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบนโยบายดังกล่าว ในช่วงท้ายของการสัมมนา นางปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ ได้สรุปข้อเสนอและแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยี Gene Editing ที่ได้รับความคิดเห็นจากหน่วยงานและผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ โดยใช้ Mentimeter พบว่า ส่วนใหญ่มีคิดเห็นว่าควรนําเทคโนโลยี Gene editing มาส่งเสริมภาคการเกษตร ระดับมากที่สุด