เปิดประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เอเปค (APEC High-Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology: HLPDAB) ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งผลักดันตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงร่วมกับเทคโนโลยีการเกษตรและการผลิตพืช ติดตามความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรของเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมถึงนโยบายด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผลสำเร็จการเสริมสร้างองค์ความรู้ของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในปี 2565 รับรองแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ HLPDAB
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เปิดเผยว่าการที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร (PPFS) ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (ATCWG) โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพจัดประชุม HLPDAB ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย เรื่อง การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตลอดจนนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) มั่นคง (Security) และความยั่งยืน (Sustainability) มาปฏิรูปการเกษตรและระบบอาหาร ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร
ทั้งนี้ การประชุมได้มีการรายงานสถานะล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร นโยบายของแต่ละเขตเศรษฐกิจ รายงานความคืบหน้าการประชุมเชิงปฏิบัติการ HLPDAB ปี 2565 แลกเปลี่ยนมุมมองแนวโน้มและความท้าทายเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing Technology) มุมมองด้านกฎระเบียบของพันธุวิศวกรรมและการปรับแต่งจีโนม หารือแผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงาน HLPDAB ให้สมาชิกเศรษฐกิจ HLPDAB เสนอแนะและอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ HLPDAB ปี 2565-2567 สถานะล่าสุดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการภายใต้กรอบเอเปค สนับสนุนการผลิต ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิตทางการเกษตร การเพิ่มความยั่งยืนด้าน Food Security ทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ พร้อมมุ่งมั่น สู่เป้าหมาย Sustainable Development Goal 2030 โดยจะมุ่งเน้นประเด็นหลักใน 5 เรื่อง คือ
1. ความปลอดภัยด้านอาหารและความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเพียงพอ
2. การบูรณาการระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด
3. การนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) ความมั่นคง (Security) และ ความยั่งยืน (Sustainability) ในการปรับใช้ด้านการเกษตร
4. การปรับตัวสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน
5. การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับพัฒนาประเทศไทย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรพร้อมเชื่อมต่อนโยบายรัฐบาล ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรขั้นสูง งานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจและสมุนไพร อาทิ การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อมให้มีสารสำคัญสูง การพัฒนายกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย ทุเรียน มันสำปะหลัง เห็ด ให้เป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์ของเขตเศรษฐกิจเอเปค ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีราคายุติธรรมและเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการใช้จุลินทรีย์ทางการเกษตรในภาคอุตสาหกรรมสีเขียว การแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงและลดการสูญเสีย อีกทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสำเร็จของ SDGs ที่สอดคล้องกับ BCG Economy Models รวมถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารในปี 2573
“ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีนโยบาย DOA together ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุล (Balance) การปรับปรุง (Improve) การยกระดับ (Upgrade) ความทันสมัย (Modernization) และความร่วมมือ (Cooperation) ที่ขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Economy Models อาทิ การวิจัยระบบการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมจะทำงานร่วมกับองค์การจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อยกระดับ กรมวิชาการเกษตรให้เป็นผู้มีอำนาจรับรองระบบการทำการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมด้านการนำขยะทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การพัฒนา Bioplastic หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ การพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพ ความทนทานโรค และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในพืชชนิดต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ด้านปรับปรุงพันธุ์ พันธุศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ เทคโนโลยีด้านเครื่องหมายโมเลกุล เทคโนโลยีการแก้ไขจีโนม การพัฒนาใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดต้นทุน เช่น ชุดทดสอบแบบง่ายต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งออก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ RNAi กำจัดศัตรูพืชและเอ็นไซม์จุลินทรีย์ที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่สำหรับใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม เราเชื่อมั่นในความพร้อมของกรมวิชาการเกษตรที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนจากประสบการณ์และองค์ความรู้กว่า 50 ปี”