วิสัยทัศน์/พันธกิจ

ธันวาคม 24, 2561 Off By admin

ประวัติความเป็นมา

    กรมวิชาการเกษตรได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น หน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๕ แต่ก่อนที่จะมาเป็นกรมวิชาการเกษตรในปัจจุบันหน่วยงานนี้มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน นับย้อนหลังไปเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๔๖ ได้มีการจัดตั้งกรมช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการซึ่งถือเป็นการกำเนิดกรมวิชาการเกษตร

  • พ.ศ. ๒๔๔๙ เปลี่ยนชื่อกรมช่างไหม เป็น กรมเพาะปลูก
  • พ.ศ. ๒๔๗๔ เปลี่ยนชื่อกรมเพาะปลูก เป็น กรมตรวจกสิกรรม
  • พ.ศ. ๒๔๗๖ เปลี่ยนชื่อกรมตรยจกสิกรรม เป็น กรมเกษตร
  • พ.ศ. ๒๔๗๘ เปลี่ยนชื่อกรมเกษตร เป็น กรมเกษตรและการประมง
  • พ.ศ. ๒๔๗๔ แยกกรมเกษตรและการประมงเป็น ๒ กรม คือ กรมเกษตร และ กรมการประมง
  • พ.ศ. ๒๔๙๕ เปลี่ยนชื่อกรมเกษตร เป็น กรมการกสิกรรม
  • พ.ศ. ๒๔๙๖ ยกฐานะกองการข้าวและการทดลอง ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกรมการกสิกรรม จัดตั้งเป็นกรมการข้าว แยกออกมาจาก กรมการกสิกรรม
  • พ.ศ. ๒๔๙๗ เปลี่ยนชื่อกรมการกสิกรรม เป็น กรมกสิกรรม
  • พ.ศ. ๒๕๑๕ รวมกรมการข้าว กับ กรมกสิกรรม สถาปนาเป็น กรมวิชาการเกษตร

วิสัยทัศน์
     กรมวิชาการเกษตรเป็นองค์กรที่เป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และเป็นศูนย์กลางรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านพืชในระดับสากล บนพื้นฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ค่านิยม
     ซื่อสัตย์  โปร่งใส  งานวิจัยมีคุณภาพ

วัฒนธรรม 
     รักองค์กร ทำงานอย่างมีเป้าหมาย และมุ่งผลสัมฤทธิ์

พันธกิจ
      ๑. สร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร สู่กลุ่มเป้าหมาย
      ๒. กำหนดและกำกับดูแลมาตรฐานระบบการผลิตและผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต พัฒนาระบบตรวจรับรองสินค้าการเกษตรด้านพืชให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 
      ๓. อนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืช แมลง และจุลินทรีย์
      ๔. กำกับ ดูแล และพัฒนากฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ

ภารกิจตามกฏหมายจัดตั้งกรม
    อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๘ ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงฯ พ.ศ. ๒๕๕๗ ให้กรมวิชาการเกษตร มีภารกิจเกี่ยวกับพืช โดยศึกษา วิจัยและพัฒนาพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และปัจจัยการผลิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ รับรองมาตรฐานสินค้าพืช รวมทั้งให้คําแนะนําเกี่ยวกับดิน น้ํา ปุ๋ย พืช วัสดุการเกษตร ผลผลิต และผลิตภัณฑ์พืช เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตพืชเพื่อพัฒนาผลผลิตพืช ให้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานสากล และเพื่อให้บริการการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน

อำนาจหน้าที่ 
      (๑) ดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการกักพืช กฎหมายว่าด้วยปุ๋ย กฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการควบคุมยาง กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
      (๒) ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และพัฒนาวิชาการเกษตรด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพืช
      (๓) ให้บริการด้านการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และให้คําแนะนําเกี่ยวกับเรื่องดิน น้ํา ปุ๋ย พืช วัสดุการเกษตร ผลผลิต และผลิตภัณฑ์พืช การบริการส่งออกสินค้าเกษตร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
      (๔) ให้บริการวิชาการ ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีการเกษตรแก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร เอกชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
      (๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

การแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร   มีดังนี้

     (๑)  สํานักงานเลขานุการกรม
     (๒)  กองการเจ้าหน้าที่
     (๓)  กองคลัง
     (๔)  กองแผนงานและวิชาการ
     (๕)  กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช
     (๖)  กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
     (๗) กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร
     (๘)  ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
     (๙)  สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม
    (๑๐) สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน
    (๑๑) สถาบันวิจัยพืชสวน
    (๑๒) สํานักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
    (๑๓) สํานักคุ้มครองพันธุ์พืช
    (๑๔) สํานักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
    (๑๕) สํานักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
    (๑๖)-(๒๓) สํานักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ ๑ – ๘

หน่วยงานจัดตั้งภายใน

    (๒๔)  สำนักนิติการ
    (๒๕)  กองประสานงานโครงการพระราชดำริ
    (๒๖)  กองการยาง
    (๒๓)  กองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช