บทเรียนทุเรียนปี 2566
ปี2566 ที่ผ่านมาทุเรียนยะลาให้บทเรียนแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรจังหวัดยะลาเยอะแยะมากมาย สิ่งที่ตลาดบอกเราคือคำว่าคุณภาพ ปีที่ผ่านมามีคลื่นอุปสรรคมากมายที่เข้ามาในทุเรียนยะลา เช่นเรื่องใบ GAP ไม่เพียงพอต่อระบบการปิดตู้ส่งออก เรื่องทุเรียนอ่อนมีออกสู่ตลาดทำลายระบบการส่งออก เเละเรื่องหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่ปนเปื้อนไปในระบบการส่งออกทุเรียน ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรต้องหันมาคำนึงถึงด้านคุณภาพทุเรียนเป็นหลักมากกว่าการขายเพื่อราคาที่สวยงามชั่วข้ามคืน เพราะเราได้เจอปัญหาเรื่องทุเรียนด้อยคุณภาพทำให้ราคาตกจากโลละ140 บาท เป็นโลละ 80 บาท ภายในเวลา 2 สัปดาห์มาแล้วในปี2566 ทั้งนี้เราต้องเอามาเป็นบทเรียนและพร้อมรับมือฤดูกาลปี2567 ซึ่ง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดยะลา ได้กำหนดแนวทางการรับมือและเริ่มดำเนินการต่างๆตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ2567 ดังนี้
เรื่องปัญหาใบ GAP ทุเรียนไม่เพียงพอต่อระบบการส่งออก : ศวพ.ยะลาได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรจังหวัดยะลาดำเนินการตระเวณจัดทำ GAP Mobile Day ซึ่งจะมีการตระเวณรับสมัครเกษตรกรที่คิดว่ามีความพร้อมด้านการจัดการแปลงตามระบบ GAP ทุเรียนแล้วในแต่ละอำเภอทุกๆอำเภอ ขอให้เกษตรกรพยายามสอบถามและอัพเดทข้อมูลกับทางเกษตรอำเภอของท่านว่าจะเป็นวันไหนในช่วงเดือนไหน
เรื่องปัญหา ทุเรียนอ่อนออกไปสู่ระบบการส่งออก : สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาและศวพ.ยะลา ได้ร่วมกันจัดตั้งทำการเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ในระดับชุมชนที่มีความต่างของระดับน้ำทะเล อุณหภูมิและช่วงแสงที่มีผลต่อการสุกแก่ของทุเรียนแตกต่างกันและจะเริ่มกำหนดวันตัดหลังวันดอกบานเป็นระดับชุมชนหรือพื้นที่ โดยเรียกวิธีนี้ว่า Manual Degree Day เพื่อเพิ่มความแม่นยำและการควบคุมการตัดทุเรียนอ่อนแก่ของพื้นที่ระดับชุมชน โดยจะมีการตรวจ%แป้งก่อนตัดในแปลงเกษตรกรเชิงพื้นที่โดยสำนักงานเกษตรอำเภอต่างๆและออกใบรับรองการตรวจให้แก่เกษตรกรก่อนตัด
เรื่องปัญหา หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน : เรายึดมั่นมาตรการการกรอง 4 ชั้นของกรมวิชาการเกษตรและได้เพิ่มมาตรการในชั้นที1-2 ในพื้นที่จังหวัดยะลา คือ ชั้นที่ 1 เดิมเกษตรกรต้องมีการพักผลผลิต1 วันหลังการตัดละส่งขายให้แก่แผงหรือล้งทุเรียนทางยะลาเราจะมีการควบคุมการตัดทุเรียนให้เน้นการตัดที่เป็นทุเรียนแก่จริงๆจะช่วยลดปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อนและหนอนเจาะในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เกษตรกรที่ทำดีมีการจัดการป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่ดีมีการปนเปื้อนของหนอนเจาะเมล็ดน้อยในผลผลิตโดยรวมจะมีการการันตีให้จากจังหวัดยะลาเป็นแปลงทุเรียน Yala Confirm เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่ซื้อผลผลิตของยะลาในระดับรายแปลง ชั้นที่ 2 ล้งที่มีการดำเนินการปิดตู้ในพื้นที่จังหวัดยะลาจากเดิมคือมีการพักผลผลิต 2 วันและคัดทุเรียนที่เป็นหนอนเจาะเมล็ดอีกครั้งก่อนการใส่กล่องปิดตู้ จังหวัดยะลาเราขอความร่วมมือจากล้งผู้ส่งออกให้เพิ่มมาตรการ2+3 คือมีการกักทุเรียนเพื่อคัดกรองหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่เข้มข้นขึ้น
ทั้งนี้ทุกมาตรการและขั้นตอนเริ่มมีการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรแล้ว ขอให้เกษตรกรยะลากรุณาให้ความร่วมมือและไว้ใจเรา
เรียบเรียงโดย นายชัชญ์นนท์ เต็มนา นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา